น้องเน่า...ของหนู

Last updated: 25 ต.ค. 2567  | 

น้องเน่า...ของหนู

ทำยังไงดีคะ ลูกติด “น้องเน่า” ไม่ยอมให้ใครจับเลยค่ะ
“ไม่แปลกหรอกค่ะคุณแม่”

ถ้าลูกติดน้องเน่าซึ่งก็หมายถึงผ้าห่มที่ลูกนอนซุกตัวอยู่ทุกวัน หรือตุ๊กตาตัวโปรดที่ลูกจะลากถููลู่ถูกังไปกับพื้นบ้าน ทั้งกอด ทั้งหอม หรือหมอนนุ่มนิ่มที่ลูกนอนจนติด ถ้าไม่มีน้องเน่าติดตัว รับรองว่าน้องจะร้องไห้งอแงไปทั้งวัน

พฤติกรรมที่คุณลูกแสดงออกจะอยู่ในช่วงวัย 5-6 เดือน แล้วจะห่างจากน้องเน่าไปเองก็ประมาณ 2-3 ขวบ และเลิกไปแบบจริงจังก็สัก 5-6 ขวบ ซึ่งนักจิตวิทยา หรือคุณหมอด้านแม่และเด็กเองก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรื่องติดน้องเน่าที่เรียกเป็นทางการในแง่จิตวิทยาว่า “Transitional Object” มีความสำคัญกับพัฒนาการการเติบโตของลูกมากค่ะ โดยเฉพาะในวัยที่ลูกๆ อาจจะต้องนอนคนเดียว ไม่ได้นอนกอดพ่อแม่แล้ว น้องเน่าจะกลายเป็นตัวแทนของคุณพ่อ คุณแม่ หรือไม่ก็เป็นพี่ เป็นน้องหรือเพื่อนก็ได้ ลูกๆ ก็จะอุ่นใจ เหมือนได้อยู่ใกล้พ่อแม่ตัวเอง ฝั่งคุณพ่อ คุณแม่เองก็จะเบาใจในชั่วเวลาหนึ่งเพื่อแยกออกไปทำงานบ้านอื่นๆ บ้าง

นอกจากนั้น น้องเน่ายังช่วยคลายความเหงา เป็นเพื่อนเล่น เป็นเกราะป้องกัน ให้ความรู้สึกปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยบำบัดความเครียด ให้ลูกหลับสบายเพราะได้นอนกอดตัวแทนของคุณพ่อ คุณแม่อีกด้วยนะคะ

แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ต้องการจะแยกน้องเน่าออกจากลูกก็สามารถทำได้ แต่ให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า

เรามี 5 วิธีละมุนใจที่จะช่วยให้ลูกของเราค่อยๆ ห่างจากน้องเน่ามาฝากค่ะ

ยอมรับและเข้าใจ

อันนี้ประสบการณ์ตรงเลยค่ะ ลูกชายของน้องสาวแอดมินในวัย 2 ขวบ มาเยี่ยมคุณตา คุณยายต้องเอาผ้าห่มติดมาด้วยทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่น้องสาวของแอดฯ อยากแยกน้องเน่าออกจากลูก ไม่ได้เอามาด้วย หลานแอดฯ ร้องหาจะเอาให้ได้ มีของใหม่ก็ไม่เอา น้องสาวเลยต้องรีบพากลับบ้านแทบไม่ทัน จึงอยากแนะนำว่าต้องทำใจยอมรับ และจับแยกแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักดิบนะคะ

ค่อยเป็นค่อยไป


เมื่อถึงวัยที่ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้แล้ว ในช่วงวัยที่ลูกจะต้องเข้าโรงเรียนอนุบาล อาจจะต้องค่อยๆ บอกลูกว่า เอาน้องเน่าไปโรงเรียนไม่ได้นะคะ อาจจะให้เหตุผลสนับสนุนว่า เราต้องอยู่กับเพื่อนๆ ต้องเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง หรือถ้าลูกไม่ยอม ก็ต่อรองว่าให้เอาไปได้ แต่น้องเน่าจะอยู่ได้แค่ในรถเท่านั้น เดี๋ยวแม่มารับกลับบ้าน น้องเน่าก็จะมารับลูกด้วย

ห้ามทิ้งน้องนะคะ

แม้วันหนึ่ง คุณลูกจะห่างจากน้องเน่าได้บ้าง แต่คุณพ่อ คุณแม่อย่ากระชากอารมณ์ลูกด้วยการนำน้องไปทิ้งในขยะ รับรองวันนั้นคุณแม่จะไม่ได้นอนแน่ๆ เพราะน้องเน่าคือเซฟโซนที่ช่วยให้ลูกเราไม่เหงา เหมือนเขามีพ่อแม่ มีเพื่อน พี่น้องที่อยู่ข้างๆ แล้วเมื่อนานๆ ไปลูกอาจจะได้ของเล่นชิ้นใหม่ ตุ๊กตาตัวเด็ด เขาก็จะลืมน้องเน่าไปเอง

อาบน้ำให้น้อง


เมื่อคุณแม่จับสังเกต เห็นว่าลูกห่างจากน้องเน่าได้บ้างแล้ว ให้คุยกับลูกดูว่า คุณแม่จะขอพาน้องเน่าไปอาบน้ำนะคะ น้องมอมแมมมากแล้ว ลูกกอดน้องเน่าจะไม่หอมน้า...ค่อยๆ ปะเหลาะไป พอกลิ่นเดิมของน้องเน่าหายไป ลูกก็จะลืมๆ น้องเน่าไปในที่สุดค่ะ

เล่นกับลูก


การหากิจกรรมทำร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกอาจจะช่วยทำให้น้องลืมน้องเน่าไปได้ เช่น การดูหนัง ร้องเพลง เล่นกีตาร์ หรือไม่พ่อก็เล่นตลกให้ลูกดู จ๊ะเอ๋กับลูก หรือวาดระบายสีกับลูก เป็นต้น เหล่านี้ก็จะทำให้ลูกลืมน้องเน่าไปได้ ทำอย่างนี้ได้ในทุกๆ วัน ลูกจะอยากเล่นกับคุณพ่อคุณแม่มากกว่าเดิมเลยล่ะค่ะ

กอดลูกแน่นๆ


การโอบกอดลูกน้อยด้วยความรักจากไออุ่นของพ่อแม่ คือ ความสุขที่ลูกต้องการมากที่สุดค่ะ แค่แยกจากกันเพียงแค่ชั่วเวลาไปเรียนจนกลับบ้าน ก็ทำให้ลูกคิดถึงคุณพ่อ คุณแม่มากมาย หาเวลาอยู่ด้วยกันในช่วงค่ำคืน ด้วยการนอนกอดลูก ก็สุขเกินพอแล้วค่ะ

หากคุณแม่ลองทำดูแล้วได้ผลอย่างไร ลองเขียนมาเล่าให้แอดมิน MOMSTER ฟังบ้างนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้