Last updated: 3 ต.ค. 2567 |
สอนลูกให้ "ขอโทษ" จากหัวใจ
พ่อแม่คือต้นแบบสำหรับลูกๆ...
ลูกจะทำตามพ่อแม่ตั้งแต่แรกพบสบตากันในวันแรกที่เห็น และพร้อมเรียนรู้ ซึมซับพฤติกรรมต่างๆ จากพ่อแม่
เคยสังเกตไหมคะ ลูกเห็นเรายิ้ม ลูกก็ยิ้มตอบ เราหัวเราะเล่นกับลูก เขาก็หัวเราะตอบ ลูกเปรียบเสมือนผ้าขาวที่บริสุทธิ์ หากเราเติมแต่งสีสันไปแบบไหน ลูกก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสีที่เราเติมให้เขา
เมื่อเราคือครูคนแรกก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก แต่ถ้าหากลูกเห็นในพฤติกรรมที่ไม่ดีของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ควรเอ่ยขอโทษให้ลูกเห็น แสดงความเสียใจที่ทำผิด พร้อมอธิบายให้ลูกฟังว่าสาเหตุที่ต้องขอโทษเพราะอะไร และเช่นเดียวกัน เมื่อลูกทำผิดหรือทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การกล่าวคำ “ขอโทษ” จะเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้แก่คนที่ลูกไปกระทบกระทั่งด้วยรู้สึกเบาใจลงได้บ้าง
แต่หากคำขอโทษไม่ได้ออกมาจากการยอมรับว่าตัวเอง “ผิด” และรู้สึก “รับผิดชอบ” ต่อการกระทำของตนเองแล้วนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับคำพูดที่เลื่อนลอย และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมในอนาคตของลูก ก็แค่พูดคำว่า “ขอโทษ” ส่ง ๆ ทุกอย่างก็จบ
ดังนั้น อย่าบีบบังคับให้ลูกพูดคำว่าขอโทษ โดยที่ไม่ได้สอนให้ลูกเรียนรู้ถึงสิ่งที่ลูกกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร เพราะเมื่อลูกเข้าใจก็จะเรียนรู้และปรับปรุง และเมื่อเรา ‘บีบบังคับ’ ให้ลูกพูดขอโทษด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ สมองส่วนเหตุผลของเขาจะไม่ได้คิดไตร่ตรองเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า แต่จะเป็นการพูดขอโทษแล้วลืมไปด้วยความรวดเร็ว
เราสรุปวิธีสอนลูกให้ “ขอโทษ” จากหัวใจมาให้แล้วค่ะ
1.เป็นตัวอย่างที่ดี
คุณพ่อ คุณแม่เป็นต้นแบบแรกในชีวิตของลูกนะคะ การมีปากเสียงกระทบกระทั่งกันต่อหน้าลูกในวัยที่ลูกรับรู้ย่อมเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกได้ในอนาคต เราจึงควรเริ่มจากการกล่าวขอโทษระหว่างพ่อกับแม่ให้ลูกเห็น และอธิบายให้ลูกฟังในปัญหาที่กระทบกระทั่งกันนั้นมีสาเหตุจากอะไร
2.พ่อแม่ก็ขอโทษลูกได้เช่นกัน
คุณพ่อ คุณแม่อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดี ทำผิดหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี เราก็ควรขอโทษกับการกระทำของตนเองได้เช่นกัน ทำให้คำขอโทษเป็นเรื่องที่ปกติที่พึงกระทำ ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด และกล่าวขอโทษเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โต แต่ในกรณีที่ลูกอายุยังน้อยและทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป พ่อแม่ก็สามารถขอโทษแทนลูกให้เป็นตัวอย่างได้เลย โตขึ้นมาหน่อยก็อาจขอโทษพร้อมกันกับลูกก็ได้
3.ลูกขอโทษคนอื่นด้วยความจริงใจ
เมื่อลูกได้ซึมซับคำอธิบายของคุณพ่อ คุณแม่ที่สอนเรื่องการขอโทษ และความรู้สึกผิดได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะลูกช่วงวัย 5-6 ขวบ ลูกจะแยกแยะได้ถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นได้ง่าย เขาจะเริ่มรู้ว่าการกระทำและคำพูดของเขามีผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร เราจะได้เห็นลูกของเราขอโทษคนอื่นจากหัวใจอย่างแน่นอนค่ะ
4.สอนลูกให้รู้จักการให้ การแบ่งปัน และส่งกำลังใจให้กันและกัน
เด็กวัยประมาณ 3-4 ขวบ สามารถสื่อสาร เข้าใจทุกเรื่องราวได้บ้างแล้ว คุณพ่อ คุณแม่อาจจะเริ่มใส่ข้อมูลว่า “การให้” คือ การให้ไปในรูปแบบถาวร โดยเราจะไม่ได้รับของสิ่งนั้นคืนกลับมา “การยืม” คือ การให้ไปชั่วคราว โดยเราจะได้รับของสิ่งนั้นคืนกลับมา ตามเงื่อนเวลาที่ตกลงกัน แต่เรื่อง “การแบ่งปัน” อาจจะดูซับซ้อนไป เว้นเสียแต่ว่า บ้านไหนมีพี่น้องเยอะ เด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้เร็วว่าการแบ่งปันคืออะไร เด็กจะมีแนวโน้มในการพัฒนาเรื่อง “การแบ่งปัน” คือ การให้ เสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้แก่คนที่ด้อยโอกาส เป็นต้น ซึ่งเด็กจะพัฒนาได้ดีต้องขึ้นอยู่กับการมีตัวอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่และการสอนที่เหมาะสมด้วย เมื่อเด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้อย่างมีเหตุและผลได้ด้วยตัวเอง คำขอบคุณหรือคำขอโทษก็จะไม่ยากเกินไปสำหรับลูกๆ ของคุณอีกต่อไปค่ะ
5.สอนลูกให้รู้จักรัก โดยไม่แบ่งแยกด้วยความจริงใจ
ลูกๆ จะมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ทุกเพศ ทุกสายพันธุ์ ทั้งแมว หมา เกิดได้จากสัมผัสตรงจากพ่อแม่ ลูกๆ จะเห็นสิ่งที่พ่อแม่ทำในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญใส่บาตร การทำทานให้อาหารแมวหมาจรจัด การกล่าวคำขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของจากเพื่อนบ้าน การขอโทษเมื่อแม่รู้สึกว่าไม่ควรทำ เช่น ตีลูกไม่มีเหตุผล ไม่อธิบาย ฯลฯ เมื่อลูกถูกอบรมสั่งสอนจากคุณพ่อ คุณแม่ ลูกก็จะสามารถแยกแยะถึงการรู้จักรักที่มาจากก้นบึ้งของหัวใจอย่างแน่นอนค่ะ
6.สอนลูกเรื่องมารยาท การนอบน้อม และกาลเทศะ
คุณพ่อ คุณแม่อย่ามองข้ามเรื่องการสอนเรื่องมารยาท การนอบน้อมถ่อมตน รวมถึงกาลเทศะให้แก่ลูกไว้ด้วยนะคะ โดยเฉพาะการกล่าวคำขอโทษ คำขอบคุณ พร้อมกับยกมือไหว้เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ วัยชรา ไม่ว่าจะเป็น พี่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ฯลฯ
6 ข้อนี้ แอดฯ แนะนำเลยว่า การที่ลูกจะกล่าวคำขอโทษออกมาจากหัวใจของเขาได้ ขึ้นอยู่กับตัวอย่างที่อยู่ข้างๆ ตัวเขา นั่นก็คือคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ทำผิดหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรขอโทษกับการกระทำของตนเองได้เช่นกัน เริ่มต้นกันแต่วันนี้นะคะ
27 ก.ย. 2567
4 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
13 ต.ค. 2567