สุขที่เป้าหมายหรือสุขใจตลอดทาง

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงจะกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องการเรียนของลูกไม่มากก็น้อยใช่ไหม  ถึงแม้ใครๆ หลายคนจะบอกว่า เด็กไม่จำเป็นต้องเร่งเรียน  แต่หากลูกวัยอนุบาลของเรายังไม่สามารถนับ 1-100 ได้แต่เพื่อนของเขาทำได้ หรือลูกเราจำสีได้แค่ 3 สี ขณะที่ลูกของคนข้างบ้านจำสีได้เกือบทุกสี อย่างน้อยก็คงมีความกังวลกันบ้างแหละ และหากโรงเรียนไหนส่งลูกเรียนโรงเรียนแนววิชาการก็คงยิ่งเครียด  เพราะเด็กจะต้องอ่านออกเขียนได้ แต่หากลูกเราช้า  อ่านไม่ได้ คงจะเป็นปัญหาหนักอกหนักใจกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน

“บทความนี้อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองถอยออกมาจากความคิดในปัจจุบันและมองทุกอย่างอย่างกว้างๆ แล้วตอบคำถามตัวเองว่า… การที่เราอยากให้ลูกเรียนเก่ง มีความรู้ดี เพื่ออะไร แน่นอนว่าคงจะต้องมีเป้าหมายอยู่ที่ลูกจะได้มีอาชีพการงานที่ดี  มีรายได้ที่ดี   ซึ่งอาชีพและรายได้จะนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง สถานภาพทางสังคม คุณภาพชีวิต ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ครบ  สิ่งที่ตามมาหลังในท้ายที่สุดน่าจะเป็นความสุข”

แต่ถ้าลูกเรียนไม่เก่ง เรียนไม่จบ ไม่ชอบเรียน เขาอาจจะต้องทำอาชีพที่สังคมไม่ยกย่อง อาชีพกลางๆ ที่อาจจะลำบาก (ในความคิดของคุณพ่อคุณแม่) ตัวอย่างเช่น พ่อแม่เคยขายก๋วยเตี๋ยว และรู้ว่าต้องลำบากมาเตรียมน้ำซุป ขายของหน้าร้อนตัวมัน แม้จะมีเงินเก็บมากมาย ส่งลูกเรียนดีๆ ได้  แต่ก็เหนื่อย  และก็ไม่อยากให้ลูกลำบาก จึงเคี่ยวเข็ญให้ลูกให้เก่ง  จะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนพ่อแม่ ซึ่งตรงนี้คือคุณพ่อคุณแม่ตีความว่าความลำบากคือ ไม่มีความสุข

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านลืมตระหนักคือ ไม่มีอาชีพไหนในโลกที่ไม่ลำบาก  แม้แต่เจ้าพ่อเฟสบุ๊กก็ยังต้องลำบากในการคิดหากลยุทธ์มาพัฒนาระบบตลอดเวลา ซึ่งความลำบากในการใช้หัวคิดนี่อาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมเหมือนความลำบากทางกาย แต่เชื่อเถอะว่ามันทำให้ทุกข์ได้ไม่ต่างกัน  

ดังนั้นจึงไม่มีใครในโลกที่ไม่มีความทุกข์   ไม่มีชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคมใดที่มั่นคงแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์    ทุกอาชีพมีความลำบากในแบบของตัวเอง  บ้างลำบากกาย บ้างลำบากใจ  จะลำบากมากลำบากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวและปรับใจของแต่ละบุคคลต่างหาก ซึ่งตรงนี้เองที่สำคัญ  

การเลี้ยงลูกที่มุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จของลูก ในเชิงทางสังคมที่เห็นภาพชัดเจน โดยไม่ใส่ใจกับการพัฒนาคุณภาพทางจิต แม้ลูกจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ แต่ระหว่างที่เขาเดินนั้น เต็มไปด้วยความกดดัน   มีความทุกข์จากการเดินไปถึงเป้าหมายที่พ่อแม่คาดหวัง  คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกจะเป็นยังไง และเป้าหมายที่ไปถึงนั้น บางครั้งก็ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเขาตามที่เขาต้องการ  แต่กลับทำให้เขาทุกข์มากขึ้น เมื่อเห็นคนอื่นมีมากกว่า เก่งกว่า สุขกว่า 



สุดท้ายลูกของเราก็ต้องอยู่ในโลกที่ฉาบฉวย มีความสุขแบบฉาบฉวยจากสิ่งตอบสนองภายนอก    และแสวงหาความสุขแบบฉาบฉวยไปด้วย และที่สำคัญคือการวางเป้าหมายแบบนี้หากลูกไปไม่ถึง  นั่นคือทั้งชีวิตของลูกก็แทบจะถูกทำลายไปด้วย และหากเป้าหมายที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้ไม่สัมพันธ์กับความชอบของลูก นั่นก็คือการทำร้ายลูกทางอ้อมนั่นเอง

กลับกันหากเราเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ว่า การเลี้ยงลูกทุกวันคือการพัฒนาให้เขามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  มีจิตใจที่ดี  และมีความรู้พอจะประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยไม่เดือดร้อนใคร โดยทุกๆ วันให้เราชื่นชมในพัฒนาการและกระทำของเขาที่พยายามมากขึ้น อดทนมากขึ้น ระวังมากขึ้น ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น  ช่วยเหลืองานบ้านมากขึ้น ตื่นเช้าขึ้น กินผักได้หลายชนิดขึ้น สดใสมากขึ้น ร่าเริงมากขึ้น หรือแค่ลากเส้นให้ตรงได้มากขึ้น ฯลฯ  

เพียงแค่นี้ลูกก็จะมีความสุขในทุกๆวัน เราก็จะมีความสุขเช่นกัน  และความสุขที่เพิ่มและคุณธรรมที่พัฒนาขึ้น ก็จะนำสิ่งอื่นๆ ตามมา แม้ว่าในอนาคตลูกจะเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยว ชาวสวน หรือแม้แต่คนกวาดถนน  เขาก็จะเป็นคนที่ทำงานได้ดี  มีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จากภายในและอยู่อย่างเข้าใจโลก  

ที่สำคัญเขาจะมีแต่ความทรงจำที่สวยงามและมีความสุขกับครอบครัว ทำให้ช่วงชีวิตที่มีอยู่ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตของเขามีค่าและมีรอยยิ้ม  ไม่ใช่เมื่อมองมาในวัยเด็กก็มีความทรงจำที่มีแต่ภาพลบ ความกดดัน  ความเครียดจากการเรียนและความคาดหวังของครอบครัว 

“หากเป็นไปได้ เรามาทำทุกๆ วันของลูกให้มีภาพความทรงจำที่ดี และเป็นการเดินทางของชีวิตที่มีความสุขกันดีกว่านะ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้