Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เคยรู้สึกบางไหมค่ะว่าทำไมในสังคมทุกวันนี้ มีแต่ผู้คนที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมแปลกๆ บ้างคนก็เที่ยวถ่ายคลิปจับผิดคนอื่นไปทั่ว ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีกว่าคนอื่นสักเท่าไร หรือบางคนก็ใจร้อนหุนหันพลันแล่น เที่ยวบีบแตรไล่ใครต่อใครบนท้องถนน จนทำให้สังคมวันนี้กลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่สักเท่าไร คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มกังวลใจว่า ลูกของเราจะต้องเติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมอย่างไร เราต้องเลี้ยงลูกให้แข็งแกร่งสักเพียงไหนถึงจะอยู่รอดในสังคมทุกวันนี้ได้….?
จะว่าไปแล้วการเลี้ยงลูกน้อยให้มีความแข็งแกร่งพอที่จะอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กราดเกรี้ยวแก่งแย่งแข่งขันนั้น มีหัวใจสำคัญอยู่ประการเดียวค่ะนั่นคือการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับลูก เพราะตราบเท่าที่เจ้าตัวน้อยมีอารมณ์มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งเร้าภายนอก และรับมือกับอารมณ์แง่ลบต่างๆ ได้ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกปรับตัว มีความเข้าใจคนรอบข้าง และอยู่อย่างมีความสุขได้
ความมั่นคงทางอารมณ์…เริ่มได้ตั้งแต่วัยทารก
เพราะความมั่นคงทางอารมณ์เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา ดังนั้นการจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังแบเบาะ ด้วยวิธีการที่เรียบง่ายที่สุดนั้นคือการให้ความรัก และความห่วงใยกับเจ้าตัวน้อยนั่นเอง แม้ฟังดูอาจจะทำได้ง่ายๆ “ฉันรัก และห่วงลูกอยู่แล้ว” คุณแม่หลายท่านอาจคิดในใจ แต่หากแค่รัก และห่วงใยโดยไม่แสดงออก ก็คงจะไม่เห็นผลสักเท่าไร ทั้งนี้คุณต้องแสดงให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอว่าคุณรักและห่วงใยลูกโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อลูกร้องไห้คุณแม่ตอบสนองทันทีหรือเปล่า? เมื่อลูกหิว คุณนำลูกเข้าเต้าป้อนนมเลยหรือไม่? หากคุณตอบสนองลูกวัยทารกทันทีอย่างสม่ำเสมอ เจ้าตัวน้อยจะเรียนรู้ว่าเขามีตัวตน และเป็นที่รัก เรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นและไว้ใจคุณพ่อคุณแม่ กลายเป็นความผูกพันทางอารมณ์(Secure Attachment) ที่จะนำไปสู่การพัฒนา basic trust คือ ความรู้สึกไว้วางใจผู้อื่น ความรู้สึกไว้วางใจ และเชื่อมั่นในตนเอง ความสามารถในการรับและพึ่งพาผู้อื่นอย่างเหมาะสม อันเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางจิตใจและบุคลิกภาพในระยะต่อไป
เมื่อลูกรู้สึกผูกพันทางอารมณ์ (Secure Attachment) ก็จะส่งผลให้สมองตอบสนองต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ พัฒนาการทางการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ ให้พัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกในช่วงเวลานี้ จะกลายเป็นพื้นฐานความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ของลูกต่อผู้อื่นต่อไปในอนาคต ทักษะชีวิตที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ โหยหา ไม่ว่าจะเป็น ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก และการตอบสนองต่อคนรอบข้างอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นมาจากเดือนแรกๆ ในชีวิต
ยุทธการสร้างความผูกพัน
ยุทธวิธีที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกผูกพันกับคุณพ่อคุณแม่ จนนำไปสู่พัฒนาการทางอารมณ์ที่เหมาะสมนั้นก็ไม่ได้เป็นวิธีการที่ยุ่งยากแต่อย่างใดค่ะ ขอเพียงมีความสม่ำเสมอและตั้งใจจริง คุณก็จะสร้างความผูกพันกับเจ้าตัวน้อยได้อย่างแน่นเฟ้นเลยทีเดียว
ไม่ต้องเป็นพ่อแม่สมบูรณ์แบบ เพียงแค่คุณพยายามอย่างเต็มที่ และยอมรับว่าบางครั้งคุณก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเจ้าตัวน้อยต้องการอะไร โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ก็จะช่วยลดความเครียดในการพยายามเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบลงได้ สิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันกับลูก ไม่มาจากความเป็นพ่อแม่สมบูรณ์แบบที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด แต่มาจากการที่คุณตอบสนองเจ้าตัวน้อยทันทีอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาคุณภาพในการเล่นกับลูกน้อย และสังเกตเห็นสัญญาณต่างๆ ที่ลูกแสดงออกมาต่างหาก
ให้คุณพ่อมีบทบาท แม้ว่าหน้าที่การดูแลลูกส่วนใหญ่จะตกเป็นของคุณแม่ แต่อย่าลืมว่าคุณพ่อก็จำเป็นต้องสร้างความผูกพันกับเจ้าตัวน้อยเช่นกัน ฉะนั้น คุณแม่อย่าลืมเปิดโอกาสให้คุณพ่อได้ใช้เวลากับเจ้าตัวน้อยบ้าง เช่น ให้คุณพ่อเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เล่านิทาน ร้องเพลงกล่อม จับลูกเรอหลังจากคุณแม่ให้นมเสร็จ ฯลฯ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงเป็นผลดีต่อเจ้าตัวน้อยแต่ยังทำให้คุณพ่อรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กอีกด้วย
เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจอาการต่างๆ ของลูก ในช่วงปีแรกๆ เจ้าตัวน้อยไม่อาจสื่อสารสิ่งที่เข้าต้องการได้อย่างใจ หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่นอกจากการให้นม อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมแล้ว จึงต้องพยายามเรียนรู้ลักษณะท่าทาง สีหน้าอาการของเจ้าตัวน้อยด้วย ซึ่งอาจจะยากในช่วงเดือนแรกๆ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อคุณเข้าใจความต้องการของเจ้าตัวน้อย ก็จะทำให้คุณตอบสนองเขาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกรู้ว่าเขาไม่ได้ถูกละเลย อย่างไรก็ตาม บางครั้งไม่ว่าคุณจะทำอย่างไร เจ้าตัวน้อยก็อาจร้องโยเยโดยไม่มีเหตุผล หากเป็นเช่นนี้ ให้พยายามสื่อสารและปลอบโยนลูก(แม้จะไม่เข้าใจว่าลูกต้องการอะไรก็ตาม) เพราะความรัก ความอดทนและความห่วงใยที่คุณให้ลูก จะอย่างไรเสียก็เป็นประโยชน์ต่อเจ้าตัวน้อย แม้หนูน้อยจะโยเยไม่หยุดก็ตาม
หัวเราะพูดคุยสัมผัส สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อลูกรักไม่น้อยไปกว่าการได้กินอิ่มนอนหลับเลยทีเดียวค่ะ เพราะหากการได้กินนมแม่ทำให้ท้องอิ่ม การได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่พูดคุยหยอกล้อ และเล่นกับลูกใกล้ๆ ก็เปรียบเสมือนเป็นวิตามินให้กับหัวใจของเจ้าตัวเล็กนั่นเอง
4 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
3 ต.ค. 2567
13 ต.ค. 2567