เมื่อ Single Mom อยากเป็น Best Mom Ever

Last updated: 13 ต.ค. 2567  | 

เมื่อวันหนึ่งที่พ่อแม่ต้องแยกทางจากกันไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สังคมปกติโลกจะยกให้ “แม่” เป็นผู้เลี้ยงดูลูกเป็นหลัก เพราะด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่เขม็งแน่นตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์นานถึง 9 เดือน แค่อุแว้แรกที่ลูกออกมาดูโลก ก็ทำให้แม่สัญญากับตัวเองแล้วว่า นับจากวินาทีนี้แม่จะขอเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดจนกว่าแม่จะหมดลมหายใจ

ใช่แล้วค่ะ โลกเปลี่ยนไป สังคมก็เปลี่ยนไป บ้านไหนไม่มีพ่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าแม่จะดูแลลูกๆ ไม่ได้ มีบทพิสูจน์จากครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือที่เรียกว่า “Single Mom” ทั้งจากศิลปิน ดารา นักร้องให้เห็นอยู่บ่อยๆ ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบเสียด้วยสิคะ

แต่เอ๊ะ!! พวกเขามีวิธีเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีไหนกันอะ ลูกถึงเชื่อใจ ไว้ใจ และรักคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างสนิทใจ
Momster นำเคล็ดลับ การเป็น Single Mom ให้เป็น “Best Mom Ever” มาฝากกันค่ะ

“เตรียมเงินให้พร้อม”

เมื่อวันที่คุณแม่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับลูกเพียงลำพัง คุณแม่ต้องเริ่มวางแผนทางการเงินเพื่อลูก โดยเริ่มจากการตรวจสุขภาพทางการเงินว่า คุณแม่มีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง มีหนี้ต่อเดือนมากน้อยเพียงใด มีเงินออมฉุกเฉินเพียงพอหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถวางแผนการเงินได้ดีและมีระเบียบมากยิ่งขึ้น
จากนั้นก็เริ่มวางแผนจัดระเบียบการออมไว้เป็น 3 ก้อน ได้แก่
ก้อนที่ 1 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหารการกิน ค่าน้ำ-ไฟ
ก้อนที่ 2 แบ่งเป็นเงินออมเพื่ออนาคต เช่น เงินลงทุน เงินค่าเทอม เงินเก็บหลังเกษียณ
ก้อนที่ 3 แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อมอบความสุขให้กับครอบครัว เช่น ท่องเที่ยว ซื้อของเล่น
แต่ถ้าหากรายรับ-รายจ่ายไม่สมดุล คุณแม่ก็ต้องเตรียมหาอาชีพเสริมรองรับ แต่ควรจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ยามว่างในบ้าน เช่น การทำอาหาร ขนมส่งเดลิเวอรี่ การรับจ้างซักรีด เป็นต้น

“เพิ่มพูนการศึกษา”

คุณแม่ต้องไม่ลืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับลูกวันนี้ไปจนถึงอนาคต เช่น

  • หาข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา ตั้งแต่ข้อมูลของโรงเรียนที่อยากให้ลูกเข้าเรียน หรือตั้งงบประมาณที่มีคร่าวๆ ว่าค่าใช้จ่ายต่อปี
  • หลังจากนั้น คำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ และแบ่งเงินค่าใช้จ่าย ออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ระดับที่ลูกจะเริ่มเรียน อาจตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย
  • เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายไว้แล้ว ควรเริ่มวางแผนเตรียมเงิน ค่าเล่าเรียนในช่วงประถมและมัธยม ซึ่งจะเป็นเงินก้อนที่ค่อนข้างใหญ่กว่าในระดับอนุบาล เพราะเป็นช่วงเวลาเรียนที่ค่อนข้างนาน และอย่าลืมเผื่อเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้ในยามจำเป็น ก็จะอุ่นใจมากยิ่งขึ้น ส่วนเงินค่าเล่าเรียนที่ต้องใช้ในระยะยาวอย่างมหาวิทยาลัย พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวยังมีเวลาเก็บเงินก้อนนี้อีกค่อนข้างนาน

“ทำใจให้มันสนุก”

คุณแม่สายสตรองเมื่อก้าวเดินออกมาใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ วางแผนการเงินเพื่อลูก เพื่อเราแล้ว ก็อย่ารัดเข็มขัดตัวเองจนเกินไป ทำตัวให้อยู่ในทางสายกลาง วางเฉยกับเรื่องในอดีต แล้วทำให้ลูกๆ เห็นว่า เราสนุกด้วยกันได้ แม้จะมีแค่แม่กับลูกเท่านั้น เป็นต้นว่าหากิจกรรมยามว่างร่วมกันในบ้าน แม่ออกกำลังในขณะที่ลูกๆ ก็เล่นสนุกในสายตา หรือหันมาเต้น cover ใน TikTok ขายของออนไลน์ช่วยแม่ทำมาหากิน ฯลฯ

“คุยกันได้ทุกเรื่อง”

การเลี้ยงลูกให้เปิดใจคุยกันได้คือสูตรลับที่จะทำให้ลูกไม่ต้องมานั่งเครียดคนเดียว พูดคุยกันได้ทุกเรื่องแบบไม่ต้องเขินอาย นอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างแม่ลูกแล้ว ยังช่วยให้ลูกไม่ต้องแอบเศร้าหรือโกหกคุณอีกต่อไป เพราะเขาสามารถระบายความในใจให้คุณฟังได้ทุกเมื่อ

“พาลูกหาพ่อบ้าง”

ถึงแม้ว่าคุณจะสวมบทบาท Super Mom หรือทำหน้าที่แทนพ่อได้อย่างเริ่ด แต่ต้องยอมรับว่ายังไงๆ คุณก็ไม่ใช่พ่อของลูก ทำให้ลูกไว้ใจ มั่นใจ และรักเราเพิ่มมากขึ้น หากเปิดโอกาสให้เจ้าตัวเล็กของคุณไปหาพ่อบ้าง สักครั้งคราวก็ยังดี ให้พ่อได้มีโอกาสเอาใจและใช้เวลาอยู่กับลูกบ้าง อย่าคิดว่าคุณจะจัดการทุกอย่างได้เพียงคนเดียว เพราะลูกไม่ได้มีป้ายคะแนนว่าคุณดีกว่าใคร! ดังนั้น เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พบพ่อบ้างนะ

“รักลูกให้เท่ากัน”

สำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกมากกว่า 1 คน สิ่งที่ควรกระทำมากที่สุดคือ การแบ่งปันความรักให้แก่ลูกเท่าๆ กัน ครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันจะส่งผลให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความรัก ความอบอุ่นไม่มากพอ หรือคิดว่าตัวเองไม่ได้รับมัน สิ่งนี้เองจะเป็นรอยร้าวรอยใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนในบ้าน ซึ่งมันจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการมีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวอย่างแน่นอน ฉะนั้น คุณแม่ๆ ควรแสดงความรักแก่ลูกในทุกแง่มุมอย่างเท่าเทียมกัน ให้อะไรก็ต้องให้เท่ากัน เสื้อผ้าก็ต้องให้ลูกแต่ละคนได้มีโอกาสเลือกเอง ตัดสินใจเอง และสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเลือกควบคู่ตามกันไปด้วย

“อยู่กับตัวเองเมื่อว่าง”

หาเวลามาเป็นเจ้านายของตัวเองบ้างนะ! เรามีเวลานั่งคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องฟูมฟาย ให้นึกถึงตัวเองกับลูกให้มากๆ และพักเรื่องราวคนรอบข้างไว้บ้าง พร้อมหันมาดูแลสุขภาพกายและใจให้สดใส เข้าครัวทำอาหารเพื่อสุขภาพให้ลูก หรือจะไปเสริมสวย นวด อบผิว ทำสปา ช้อปปิ้ง แต่งตัวเปลี่ยนลุคก็จะทำให้คุณกลายเป็นซิงเกิลมัมที่แฮปปี้จนเพื่อนๆ ต้องอิจฉาเลย!

“เม้าท์มอยกับเพื่อนๆ”

นอกจากจะมีเวลาให้ตัวเองแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ การหาช่วงเวลาแฮงค์เอาต์กับเพื่อนๆ หรือคุณพ่อคุณแม่คนอื่นๆ เพื่อพูดคุยเรื่องลูกๆ แบบชิลๆ คุณพ่อคุณแม่ทั่วไปอาจจะคุยกันได้ตลอดเวลา แต่สำหรับซิงเกิลมัมอาจต้องทำการบ้านในการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนคุณแม่ที่อายุใกล้เคียง หรือซิงเกิลมัมเหมือนกัน เพื่อช่วยเหลือกันและกัน อย่างน้อยคุณแม่จะได้มีสังคมมิตรภาพที่อบอุ่นใจขึ้นมา

“ไปเที่ยวกัน”

การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่ได้แค่เลี้ยงลูกนะ! คุณต้องเป็นเพื่อนซี้ คุณครู ไกด์นำเที่ยว และโค้ชที่คอยแนะนำเรื่องต่างๆ ให้กับลูกๆ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็อาจจะเบื่อ ลองใช้วันหยุดพาลูกออกไปผจญภัยในสถานที่ใหม่ๆ ดูสิ! การไปเที่ยวด้วยกันจะเปิดโลกใหม่ให้ลูกได้เรียนรู้ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกแน่นแฟ้นขึ้นเหมือนกาวตราช้างเลย

“เปิดใจ...รักใหม่อีกครั้ง”

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนมักจะมีอาการวิตกจริตเวลาพูดถึงการมีแฟนใหม่ หรือคุณพ่อคนใหม่ เพราะกลัวว่าลูกจะไม่โอเค จนต้องปิดประตูล็อกหัวใจตัวเองไว้แน่น แต่ถ้าลองนั่งคุยกับลูกดูสักหน่อยว่าพร้อมเปิดรับคนใหม่ของแม่หรือไม่ ถ้าลูกพร้อมยอมรับ ขั้นแรกก็แค่พามาให้ลูกดูตัว หรือไปทานข้าวกับคนใหม่ของแม่ดูสักมื้อสองมื้อ หรือพาไปเล่นสวนสนุก จับตาดูว่า เค้าคนใหม่กับลูกของคุณเข้ากันดีหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ลองปรับทัศนคติคนใหม่และลูกๆ ดูก่อน เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสทองที่มีคนช่วยแชร์ภาระทั้งกายและใจ และอย่างน้อยที่สุดการมีคนทำให้คุณหัวเราะได้อีกครั้งก็ถือเป็นเรื่องดีสุดๆ ใช่ไหมล่ะ

เห็นไหมว่า การเป็น ซิงเกิลมัม ผู้แสนจะเพอร์เฟกต์นั้นไม่ยากเลย เริ่มต้นที่ตัวคุณเอง เพราะหากคุณมีความสุขกับสถานะที่เป็นอยู่ ลูกน้อยของคุณก็จะมีความสุขตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ขอเป็นกำลังใจให้ ซิงเกิลมัม ทุกคนในเส้นทางนี้นะคะ!

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้