Last updated: 8 ก.ค. 2562 |
ช่วงแรกคุณแม่อาจจะรู้สึกอ่อนไหวกับคำพูดของคนรอบข้างบ้าง ด้วยความเป็นคุณแม่มือใหม่ เลี้ยงลูกเอง ไม่ได้มีใครช่วยเลี้ยง ต้องลองผิดลองถูกและหาข้อมูลด้วยตัวเอง คุณแม่ Full Time ยากทั้งในแง่ของการปฏิบัติและทฤษฏี ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ได้อ่าน ได้ศึกษามา เป็นเพียงไกด์ในการปฎิบัติเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด เพราะเมื่อถึงหน้างาน คุณแม่ต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง…
“ความท้าทายของแม่ที่ออกมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา”
1. จิตใจ
จุดยืนของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน บางครอบครัวมีข้อจำกัดมากมาย ที่ไม่สามารถให้คุณแม่ออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกได้ แต่เมื่อตัดสินใจออกจากงาน มาเป็นคุณแม่เต็มเวลาแล้ว นั่นหมายถึงการยอมเสียสละโอกาสในหน้าที่การงาน ความก้าวหน้าเพื่อมาเลี้ยงลูก และเมื่อผู้หญิงต้องมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า สังคมหายรายได้หด รอให้สามีเลี้ยง คุณจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มองความแรงกัดดันเหล่านี้ไปให้ได้ พยายามมองสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นสถานการณ์ที่ดี เช่น เราจะมีเวลาเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ ได้สอน ได้เลี้ยง ในแบบที่เราอยากให้เป็น ได้ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายคุณจะไม่ต้องตกอยู่ในภาวะ “คิดถึงลูก” เมื่อต้องกลับไปทำงาน
2. สังคม
การเป็นแม่เต็มเวลาไม่ได้มีมิติที่สวยงาม ต้องเปลี่ยนสถานะภาพในสังคม ออกมาใช้คำว่า “แม่บ้าน” แทน…
"การปรับตัวภายใต้ความเปลี่ยนแปลง"
เมื่อกายเราพร้อมจะเปลี่ยน หัวใจเราก็ต้องพร้อมที่จะปรับด้วยนะคะ เริ่มกันเลย
1. Balance
หลายคนสงสัยทำยังไงให้มันบาลานซ์ อย่างแรกคืออย่าเอาเวลาทั้งหมดไปดูแลลูก จนลืมดูแลตัวเอง คุณแม่หลายท่านที่ออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มตัว จะเริ่มปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ดูแลตัวเอง เพราะมองว่าไม่รู้จะสวยไปทำไม ไม่มีใครเห็น เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านทั้งวัน พอนานเข้าคุณแม่จะไม่มีความมั่นใจในตัวเองเหมือนแต่ก่อน เก็บตัวไม่กล้าเข้าสังคม ใช้ข้ออ้างว่าต้องเลี้ยงลูก แต่ความจริงคือ หน้าพัง… คุณพัง… ไม่กล้าไปเจอเพื่อน!! ลบความคิดเก่าๆ ทิ้งไปได้เลย คุณแม่ยุคใหม่จะต้องสวย แซ่บ Strong
2. อย่าทำให้คุณค่าในตัวเองลดลง
ถึงจะออกจากงานแล้ว แต่คุณแม่ก็สามารถหาอย่างอื่นทำได้ การมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา ไม่ได้ทำให้ความรู้ความสามารถที่เราเคยมีลดน้อยลงไปนะคะ เอาแพชชั่นที่มีมาปรับเป็นรายได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ เช่น การขายของออนไลน์ หรืออาชีพที่มาแรงและสร้างรายดีอย่างการเป็น Influencer สายแม่และเด็กไปเลย นำประสบการณ์การเลี้ยงลูกมาแชร์แบ่งปั่นให้กับผู้อื่น… เผลอๆ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
3. ทำข้อตกลงกับสามี (ข้อนี้คุณพ่อจะต้องปรับด้วย)
เพราะเมื่อตัดสินใจกันแล้วว่าการให้คุณแม่ออกจากงาน เพื่อมาเลี้ยงลูกเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด ก่อนอื่นคุณพ่อต้องทำความเข้าใจ ว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย และเวลาเกิดปัญหา คุณแม่จะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวดาย คุณพ่อจึงควรให้กำลังใจคุณแม่อยู่เสมอ และเมื่อเห็นว่าคุณแม่ดูเหนื่อย ก็ควรให้เวลาคุณแม่ได้พักผ่อน และต้องมีการวางแผนแบ่งค่าใช้จ่ายเป็นสัดส่วน ทั้งค่าใช้จ่ายของลูก ค่าใช้จ่ายของคุณแม่ ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลบ้าน ที่สำคัญเมื่อเกิดเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ปัญหาที่ไม่ลงรอยกัน ก็ควรให้อภัยกัน นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว การที่คุณพ่อให้เกียรติคุณแม่ จะทำให้ลูกได้เห็นตัวอย่างที่ดี แล้วเอาเป็นแบบอย่าง
“ทำความเข้าใจโลกใบใหม่ ด้วยการมองบวก”
จะมีอะไรดีไปกว่าการได้กลับมามีความสุขแบบเรียบง่าย ในที่ๆ เรียกว่า “บ้าน” ในฐานะใหม่ที่ได้มาอย่างเต็มใจอย่างการเป็น “แม่” ในเมื่อคุณเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตั้งใจไว้แล้ว คุณควรภูมิใจในสิ่งที่ได้เลือก และทำมันให้ดีที่สุด เริ่มจากการมองบวกในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น
1. First Priority 3 ขวบปีแรกต้องยกให้ลูก
ข้อดีของการออกมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา คือคุณได้ใกล้ชิดกับลูกและมีเวลามากพอที่จะบ่มเพาะเขา ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพ รักตัวเอง เคารพผู้อื่น สามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะตัวตนของเด็กเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ
2. ชีวิตอิสระที่หายไป (แล้วไงใครแคร์)
คุณอาจคิดว่าการเป็นคุณแม่เต็มเวลา จะทำให้การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือการออกไปทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ น้อยลงเหลือ 90:10 แต่อย่าลืมว่ามันแลกมาด้วยความสุขที่ได้เห็นลูกเติบโต ได้เห็นรอยยิ้มและพัฒนาการของลูก ซึ่งคุ้มค่ากว่ามากนะคะ…
3. โฟกัสที่ความสุข ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
ผู้หญิงหลายคนมีความกังวลเมื่อต้องออกมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา ว่าตัวเองจะเป็นคุณแม่ที่ดีได้ไหม จะเลี้ยงลูกดีหรือเปล่า... ไม่มีทฤษฎีหรืองานวิจัยใดที่เขียนบอกว่า การเป็นแม่ที่ดีต้องทำแบบนี้ 1,2,3,4 เพราะแม่แต่ละคนมีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกัน บริบทครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น จนสร้างความกดดัน จำไว้ว่าถ้าแม่มีความสุข ลูกก็มีความสุข เพราะฉะนั้นใช้ความสุขนำทางค่ะ
“การปลดปล่อยความเครียด แบบฉบับคุณแม่ Full Time”
มีผลต่อลูกโดยตรง คุณแม่จึงต้องถามตัวเองก่อนว่าความเครียดเกิดจากอะไร เกิดจากการที่เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือเปล่า ต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรจริงๆกันแน่ ชีวิตการเป็นแม่บ้านอาจจะไม่ได้สวยหรู แต่อาจจะเรียบง่าย มีความสุข เข้าใจชีวิต มีสามีที่ดี มีลูกที่น่ารัก การมีครอบครัวทำให้เรารู้สึกมั่นคง… นอกจากความเครียดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว ยังกระทบไปถึงรอบข้างด้วย โดยเฉพาะลูก
1. ทบทวนตัวเอง เบรกความคิดให้ช้าลง หายใจเข้า-ออกลึกๆ สัก 5-10 นาที แล้วตั้งสติให้ดี แล้วบอกตัวเองว่าทำให้เต็มที่ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น อย่าคาดหวังสูงเกินไป ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราต้องการทุกอย่าง หาสาเหตุว่าความเครียดเกิดจากอะไร ตั้งสติ แล้วแก้ไขให้ทุกจุดเท่าที่ทำได้ก็พอค่ะ
2. คุยกับเพื่อนบ้าง ระบายให้เพื่อนฟังบ้าง ถึงแม้จะไม่ทำให้ความเครียดหายไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ระบายความเครียดออกไปบ้างแล้ว การเก็บความเครียดไว้คนเดียวไม่ใช่เรื่อง cool เลยนะคะ นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้วยังส่งผลไปยังทุกคนในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะลูกที่อยู่กับเราตลอด
3. ของกินอร่อยๆ จะเยียวยาทุกสิ่ง ชวนคุณสามีและพาลูกออกไปหาของกินอร่อยๆ ร้านไหนดี ร้านไหนเด็ด ร้านไหนต้องลอง ชานมไข่มุกเอย ชาบูเอย ปักหมุดไว้แล้วสตาร์ทรถออกไปเลยค่ะ
4. ธรรมชาติบำบัด การพาตัวเองออกไปนั่งมองธรรมชาติอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพ และลดความเครียดได้ ลองพาลูกออกไปเยี่ยมชมธรรมชาติในป่า หรือเดินเล่นผ่อนคลายในสวนสาธารณะใกล้บ้าน แล้วปลดปล่อยความคิดให้อิสระ ทำใจให้สงบ ซึ่งวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าสามารถช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดความดันโลหิต ลดความเครียด ปรับอารมณ์ เร่งการฟื้นตัวของร่างกาย และช่วยเรื่องการนอนหลับได้อีกด้วย
การเป็นแม่ก็คืองานอย่างหนึ่ง ต่างกันที่ผลตอบแทนจากเงิน มาเป็นการได้เลี้ยงลูกให้ดีที่สุดและเฝ้ามองเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุข และเป็นคนที่ดีของสังคมในอนาคต
เรื่อง: ไอลดา นวสิมัยนาม
25 ต.ค. 2567
4 พ.ย. 2567
13 ต.ค. 2567
3 ต.ค. 2567