คุณแม่ท้องอ่อนๆ มีอารมณ์แปรปรวน..ควรทำอย่างไร

Last updated: 7 ส.ค. 2565  | 

 

ทันทีที่แน่ชัดแล้วว่าตั้งครรภ์ ความดีใจมักจะมาปนเปกับความกังวล ยิ่งอยู่ในโลกสังคมข่าวสารอยู่ในมือ  ยิ่งอ่านก็ยิ่งเครียด "แล้วฉันจะทำได้ไหม… แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ" ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจของคุณแม่ที่ต้องเผชิญ ไม่ต้องกังวลไปนะคะว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกท่าน เพียงตั้งสติแล้วสูดหายใจลึกๆ ผ่อนลมหายใจยาวๆ ทำความเข้าใจกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ รู้ทันปัญหาก็แก้ไขได้เช่นกันค่ะ

  ท้องอ่อนๆ กับอารมณ์แปรปรวน
เมื่อแรกเริ่มท้องใน 3 เดือนแรก ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง และอารมณ์ที่เปลี่ยนไปสุดขั้ว บางทีรู้สึกมีความสุข แต่บางทีก็ซึมเศร้า ฟูมฟาย ร้องไห้ไม่มีเหตุผล เนื่องจากความกังวลจากการตั้งครรภ์ของแม่มือใหม่สารพันปัญหาความกังวล เช่น จะคลอดลูกอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร จะต้องย้ายหรือแยกห้องไหม ในช่วงนี้ต้องอาศัยกำลังใจ คนใกล้ชิด โดยเฉพาะว่าที่คุณพ่อ คือคนที่เป็นกำลังสำคัญที่สุด

  ทำความเข้าใจ และปรับตัว
หลังจากการปรับตัวตลอดช่วงเวลา 3 เดือนมาแล้ว และก้าวสู่เดือนที่ 3 - 6   คุณแม่เริ่มคุ้นชินกับบทบาท "ฉันคือแม่ตั้งครรภ์" คุณแม่ส่วนใหญ่เริ่มอารมณ์ผ่อนคลายขึ้น เริ่มเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ตามมาได้ง่ายขึ้น รู้สึกถึงสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ที่อยู่ในครรภ์ เวลาลูกดิ้น เป็นวินาทีอันยิ่งใหญ่ ที่ยากจะบรรยายถึงความหมายของความแม่และลูก

" หรือถ้ารู้สึกไม่สบายหรือมีควรกังวลขึ้นมา ลองใช้วิธีเรียบง่ายที่ทำได้เองทุกเวลาอย่างการนั่งพักท่าสบายๆ ในมุมที่โปรด ห้องที่มีอากาศถ่ายเท ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน หลับตาเบาๆ หายใจเข้าลึกๆ คิดถึงแต่เรื่องราวดีๆ ภาพที่สวยงาม ครั้งละประมาณ 5 - 10 นาที ไปพร้อมกับเสียงเพลง "

  การออกกำลังกายสามารถช่วยได้…
การออกกำลังกายสำหรับแม่ท้อง ควรเป็นอะไรที่เบาๆ ผ่อนคลาย แขน ขา จิตใจไปด้วย จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โยคะ การเดินชมสวน ชมธรรมชาติ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ รวมถึงการทำจิตใจให้สงบสบาย

 

 

  ท้องอ่อนๆ กับอาการ "แพ้ท้อง"
อาการแพ้ท้องการตั้งครรภ์มักจะเป็นของคู่กัน เพราะฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้ไวต่อกลิ่นและรส ช่วงนี้ตัวคุณแม่เองและคนใกล้ชิดก็ต้องดูแลกันดี ๆ
ลด : การบริโภคอาหารประเภทไขมันอิ่มตัวทั้งหลาย ช่วงนี้ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามเลือกและใส่ใจอาหารที่จะรับประทาน เป็นพิเศษนะคะ บางทีอาจถูกมองว่าจุกจิกไปนิด แต่เพื่อสุขภาพแม่ตั้งครรภ์และสุขภาพทารกตัวน้อยๆที่นอนอยู่ในท้อง ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรทำไม่ใช่หรือ อาหารประเภทไขมันอิ่มตัวที่กล่าวถึง อาทิ อาหารจำพวกเนย น้ำมันหมู นม ครีม ไขมันสัตว์ เบคอน แต่อย่าปล่อยให้ท้องว่างนะคะ เพราะอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกอยากจะอาเจียนหรือวิงเวียนศรีษะขึ้นไปอีก
ทานจุบจิบแทน : สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เจริญอาหาร ทานอะไรไม่ค่อยได้ ลองหันมารับประทานหรือหาคุกกี้ แครกเกอร์ ขนมปังกรอบ/ธัญพืช สัก 2 - 3 ชิ้นช่วงตื่นนอน จะช่วยลดอาการแพ้ได้บ้าง
หลีกเลี่ยงกลิ่น : เป็นเรื่องน่าเห็นใจนะคะ ที่จะเกิดอาการพะอืดพะอมทุกที ที่ได้กลิ่นอาหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็น เมื่อพอจะอนุมานได้แล้วว่าสาเหตุการวิงเวียนศรีษะ คล้ายจะอาเจียนของคุณแม่คืออะไร ลองพยายามหลีกเลี่ยงกลิ่น หรือขอความร่วมมือคนในบ้านเห็นใจคุณแม่มือใหม่ ด้วยการงดปรุงอาหารกลิ่นโชยดังกล่าวชั่วคราว จะว่าไปแล้วก็เป็นการร่วมกันดูแลว่าที่แม่คนใหม่ และใส่ใจสุขภาพทารกในท้องด้วยกันเป็นทีม น่ารักกันไปอีกแบบนะคะ

  ใกล้คลอด ขอกอดอีกที (นะพ่อ)
เมื่อความอุ้ยอ้ายมาเยือน ร่างกายคุณแม่เริ่มมีเนื้อมีหนัง น้ำหนักตัวมากขึ้น เดินเหินหยิบจับอะไรไม่สะดวก ช่วยตัวเองไม่ได้เหมือนก่อน  ยิ่งใกล้คลอดก็จะกังวลเรื่องการคลอด  กลัวเจ็บ กลัวลูกไม่แข็งแรง สารพันปัญหากังวล  

" การเอาใจใส่และกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ คนรอบข้างคือยาชูกำลังที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์ปรับอารมณ์ในแต่ละวันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะคุณพ่อให้ดูแลใจคุณแม่เป็นพิเศษ อย่าให้มีการน้อยใจเป็นอันขาด ควรใช้คำพูดที่ให้ความเชื่อมั่นว่าจะอยู่เคียงข้าง เป็นพลังทางบวกให้คุณแม่ผ่านทุกสิ่งไปได้ "

พักสายตา ฟังบทความนี้ใน Audiobook คลิกเลยค่า

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้