Let's be Happy for a 1000 days

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 


สมองของทารกในครรภ์สามารถรับรู้สภาพอารมณ์ของว่าที่คุณแม่ในช่วงต่างๆ ได้และด้วยเหตุนี้เองที่อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอดออกมา

อยากให้ลูกแข็งแรง มีความสุข ฉลาด อารมณ์ดี สิ่งเหล่านี้ หากรอให้คลอดก่อนแล้วค่อยสร้างอาจจะช้าเกินไปค่ะ เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกน้อยปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของคุณ หัวใจดวงเล็กๆ ก็เริ่มทำงาน เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาไปเป็นร่างน้อยๆ ของลูก ฉะนั้น หากคุณต้องการสร้างลูกให้แข็งแรงร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาแล้วล่ะก็ ต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่คุณรู้ตัวว่าตั้งครรภ์

นอกเหนือไปจากเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว เรื่องอารมณ์ของคุณแม่ก็มีผลต่อเจ้าตัวน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 1000 วันแรกนับตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงลูกอายุครบ 2 ปี สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะส่งผลต่อชีวิตของลูกแทบทุกด้านไปจนตลอดชีวิต ฉะนั้นหากต้องการให้ลูกมีสภาพจิตใจที่ดีไปจนเติบใหญ่ ว่าที่คุณแม่ก็ต้องดูแลสภาพจิตใจและอารมณ์ของตนเองนับตั้งแต่วันนี้

 

  อารมณ์ของแม่ท้อง กับสมองลูกในครรภ์
มีการศึกษาที่พบว่าสมองของทารกในครรภ์ อาจสามารถรับรู้สภาพอารมณ์ของว่าที่คุณแม่ในช่วงต่างๆ ได้ และด้วยเหตุนี้เองที่อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอดออกมา

โดยการศึกษาที่ทำโดยนักวิจัยจาก คณะ Psychiatry and Human Behavior มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีสภาพอารมณ์คงที่ ทำคะแนนการทดสอบด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวได้ดีกว่า ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์แปรปรวนขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะจากมีควมสุขเป็นซึมเศร้า หรือจากซึมเศร้าเป็นมีความสุข ทารกจะทำคะแนนการทดสอบด้านต่างๆ ได้น้อยกว่า

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาว่าที่คุณแม่จำนวน 221 ราย และติดตามผลทารกหลังคลอดจนกระทั่งอายุ 1 ปี พบว่าเมื่ออายุ 6 เดือน ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีสภาพอารมณ์คงที่ (ไม่ว่าจะซึมเศร้า หรือไม่ซึมเศร้า) จะทำการทดสอบพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจได้ดีกว่า หนูน้อยที่คลอดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์แปรปรวนในขณะและหลังตั้งครรภ์ เมื่ออายุครบ 1 ปี ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์คงที่ ทำคะแนนทดสอบพัฒนาการทางจิตใจได้ดีกว่า ขณะที่คะแนนทดสอบด้านพัฒนาการทางร่างกายนั้นไม่พบความแตกต่าง

จะเห็นได้ว่า....
สภาพอารมณ์ของคุณแม่ส่งผลต่อจิตใจของลูกในระยะยาว ที่เป็นเช่นนี้นักวิจัยระบุว่า เพราะทารกในครรภ์มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะกำหนดพัฒนาการด้านต่างๆ ของตัวเอง เมื่อคลอดออกมา หนูน้อยจะตอบสนองโลกภายนอกตามสิ่งที่เขาสัมผัสได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กล่าวคือ หากแม่ท้องมีสภาพอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กหงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก งอแง เป็นต้น

  นักวิจัยแนะ ตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้าก่อนตั้งครรภ์
จากการวิจัยข้างต้น นักวิจัยได้แนะนำต่อไปว่าสำหรับหญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรตรวจคัดกรองเพื่อหาว่าตนเองมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาก่อนตั้งครรภ์ ทั้งนี้เป็นเพราะในวงการแพทย์ปัจจุบันส่วนใหญ่จะมุ่งความสนใจไปที่ภาวะซึมเศร้าหลังตั้งครรภ์มากกว่า และไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาวะซึมเศร้าของหญิงก่อนตั้งครรภ์เท่าที่ควร กระนั้น แม้นักวิจัยจะไม่แน่ใจว่าทารกในครรภ์ สามารถรับรู้อารมณ์ของว่าที่คุณแม่ได้อย่างไร แต่ก็ได้ให้ข้อสัณนิฐานไว้ว่า ทารกน่าจะรับรู้อารมณ์ความเครียดของแม่ท้องผ่านทางฮอร์โมนที่หลั่งในร่างกายของแม่นั่นเอง




"คุณแม่แฮปปี้ คุณก็เป็นได้"
ในขณะตั้งครรภ์ว่าที่คุณแม่อาจเผชิญกับสภาวะอารมณ์ที่หลากหลายไปพร้อมกัน ทั้งมีความสุข มีความหวัง มีความกังวล แต่ทั้งนี้การปรับสมดุลให้อารมณ์คงที่และเต็มไปด้วยความสุขสงบนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และควรจะทำให้เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ส่งผลโดยตรงกับพัฒนาการระบบประสาทและสภาพจิตใจของเจ้าตัวน้อย มีการวิจัยที่พบว่ายิ่งคุณแม่มีความสุขขณะตั้งครรภ์มากเท่าไร ลูกที่เกิดมายิ่งสุขภาพดีมากขึ้นเท่านั้น ว่าแล้วมาดูกันดีกว่าค่ะว่า คุณแม่จะปรับตัว ปรับใจให้มีความสุขตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์...และตลอดไปได้อย่างไร

1. เป็นตัวของตัวเอง
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่พิเศษของชีวิตลูกผู้หญิง ฉะนั้นไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร หากสิ่งเหล่านั้นขัดกับสิ่งที่ตัวคุณเป็น ก็ไม่ควรนำมาใส่ใจให้มากนัก คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยคุณได้
  อยู่กับปัจจุบันและให้ความสำคัญกับลูกในท้องจะช่วยให้คุณแก้ปัญหาและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่าทุกอย่างที่คุณอดทนอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะสิ่งนี้จะส่งผลกับพัฒนาการของลูกในครรภ์ไปจนตลอดชีวิต
  เมื่อคุณเป็นตัวของตัวเอง คุณจะมีความสุขจากภายในซึ่งจะช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

2. ดูแลรูปแบบการใช้ชีวิต
รูปแบบการใช้ชีวิตส่งผลกับตัวตนและวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตของคุณ
  รูปแบบการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา และดูแลสุขภาพแบบองค์รวมย่อมให้ผลดีมากกว่าผลเสีย
  ทำความเข้าใจว่าในขณะตั้งครรภ์ คุณมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนซุ่มซ่าม เดินชนโน่นชนนี่ หรือหกล้มได้ง่ายๆ ฉะนั้นจงระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
  เมื่อตั้งครรภ์คุณจะรู้สึกเซื่องซึมและขี้เกียจมากกว่าปกติฃ
  พยายามดูแลสุขภาพตนเองให้เป็นกิจวัตร
  ยิ่งคุณกินอาหารเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกายมากเท่าไร ก็ยิ่งจะช่วยทำให้คุณมีความคิดที่ดีได้มากขึ้นเท่านั้น
  สุขภาพกายดี นำไปสู่สุขภาพใจที่ดี

3. อยู่ให้ห่างจากความคิดเชิงลบ
บางสถานการณ์หรือบางคน ที่มักทำให้คุณเกิดความคิดเชิงลบ ไม่ว่าจะกังวล กลุ้มใจ ไม่เข้าใจ โกรธ หงุดหงิดฯลฯ คุณควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือบุคคลเหล่านั้น
  ใช้เวลาอยู่กับกลุ่มคนที่มีทัศนคติที่ดี การอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกหมดหวัง ถือเป็นภาระที่หนักหนาเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังตั้งครรภ์
  อยู่ห่างๆ จากคำพูด ความคิด และการกระทำเชิงลบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ห่างๆ จากบุคคลที่ผลิตความคิด คำพูดและการกระทำเหล่านั้น

4. ฝึกโยคะและทำสมาธิ
มีการศึกษาที่พบว่าการทำโยคะและสมาธินั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
  ฝึกโยคะกับผู้ชำนาญการ จะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา แข็งแรง และมีความสุข
  การฝึกหายใจในคลาสโยคะ เชื่อว่าเป็นการขับสารพิษทางอารมณ์ และช่วยปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคุณได้ฃ
  พยายามใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ฝึกโยคะและสมาธิ ร่างกายและจิตใจของคุณจะรู้สึกดีขึ้นอย่างชัดเจน

5. ฝึกหายใจ
การหายใจลึกๆ ช่วยทำให้ความคิดกระจ่างและนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ
  ยิ่งคุณโฟกัสอยู่กับลมหายใจของตัวเองมากเท่าไร คุณก็จะผ่อนคลายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเวลาเจ็บท้องคลอด
  การหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ช่วยขจัดความคิดเชิงลบ และอาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
  หลายคนหาความสุขด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไกลตัว โดยลืมไปว่าการฝึกหายใจอย่างถูกวิธีนั้น ช่วยให้คุณรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มีความสุขและมีความคิดที่ได้ ทั้งยังช่วยทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้นเพราะได้รับอ๊อกซิเจนอย่างเพียงพออีกด้วย

ทารกในครรภ์มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะกำหนดพัฒนาการด้านต่างๆ ของตัวเอง เมื่อคลอดออกมา หนูน้อยจะตอบสนองโลกภายนอกตามสิ่งที่เขาสัมผัสได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้