ในยุคที่คุณแม่มีอิสระเลือกรูปแบบชีวิตที่ต้องการจะเป็นมากขึ้น การมีลูกเมื่อพร้อม ไม่เพียงช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงชีวิตของการตั้งครรภ์ไปได้อย่างราบรื่น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับทายาทตัวน้อย
ตรวจก่อนตั้งครรภ์
โปรแกรมการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกับการตรวจก่อนแต่งงาน แต่อาจมีรายละเอียดในการตรวจเพิ่มขึ้น เช่น การตรวจหาความบกพร่องของเม็ดเลือด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อลูกที่เกิดมา ดังนั้น ก่อนการตั้งครรภ์ 3 เดือน คุณควรไปตรวจร่างกายอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเตรียมพร้อมไว้ก่อน
รายการตรวจก่อนตั้งครรภ์ มีดังนี้
1. ตรวจสภาพร่างกายโดยทั่วไป เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคใดๆ ที่เป็นอันตรายได้เมื่อตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหืด วัณโรค ปอด โรคหัดเยอรมัน โรคเหล่านี้อาจแสดงอาการแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือหลังคลอดได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ และตัวคุณเอง
2. ตรวจการติดเชื้อกามโรค
3. ความบกพร่องของเม็ดเลือด เพื่อหาว่าคุณ และคู่สมรสเป็นพาหะของโรคทาลัสซีเมียหรือไม่
4. ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี
5. เอดส์
6. หมู่เลือก Rh
สำหรับว่าที่คุณพ่อก็ต้องตรวจสุขภาพเช่นเดียวกัน นอกจากเป็นการป้องกันการติดเชื้อต่อว่าที่คุณแม่แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายสามารถผลิตต้นแบบที่แข็งแรงให้ลูกน้อยในอนาคต เตรียมสุขภาพกายให้แข็งแรง ก่อนการตั้งครรภ์ ควรสำรวจตัวเองดูว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน มีการปฏิบัติอย่างถูกสุขลักษณะหรือไม่ หากมีพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม หรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพก็ควรปรับเปลี่ยนเสียใหม่ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการก่อเกิดของชีวิตน้อยๆ ที่คุณกำลังรอคอย เริ่มจากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 -10 แก้ว นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด เลิกดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ ลดจำนวนคาเฟอีนจากชากาแฟ สะสมสารอาหารจำเป็นก่อนตั้งครรภ์ นอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สารอาหารบางชนิดสามารถสะสมไว้ได้ก่อนการตั้งครรภ์ ยิ่งคุณกินสะสมไว้มากเท่าไร ก็จะเป็นผลดีทั้งต่อตัวคุณ และลูกน้อย มากเท่านั้น แคลเซียม ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระดูก ฟัน กล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมการนำส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทให้สื่อสารกันได้ปกติ คุณจึงควรใส่ใจเรื่องการเสริมสร้างแคลเซียมของทารกในครรภ์ โดยเริ่มต้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผัก ไข่แดง ฯลฯ ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจจะมีลูก เนื่องจากหากได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป นอกจากผลร้ายจะตกอยู่กับตัวคุณในช่วงวัยหมดประจำเดือนซึ่งจะทำให้กระดูกบาง หลังงอ กระดูกพรุน ผลร้ายนั้นยังส่งไปถึงลูกคือเกิดความผิดปกติในการสร้างกระดูก เช่น โรคกระดูกอ่อนในเด็ก ส่งผลให้ขาของเด็กโค้งงอ ข้อมือและเท้าใหญ่ กระดูกอกกลวง ฯลฯ รวมไปถึงอาจเกิดอาการเทแทนนีหรืออาการชักเพราะไม่สามารถควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเนื่องจากประสาทตอบรับสื่อกระตุ้นไวผิดปกติได้ กรดโฟเลต ช่วยพัฒนาโครงสร้างสมองและหลอดประสาทของทารกให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับโฟเลตจะทำให้ทารกเกิดความผิดปกติของสมอง คือ ไม่มีกระโหลกศีรษะและสมอง ซึ่งอาจทำให้ทารกตายในครรภ์ หรือมีความพิการไม่สามารถเดินได้ บกพร่องเรื่องการควบคุมระบบขับถ่าย อาหารที่มีกรดโฟเลตสูงได้แก่ ผักใบเขียว ถั่วเหลือง ส้ม กล้วย เป็นต้น อีเอฟเอ คือกรดไขมันจำเป็นสำหรับร่างกาย ซึ่งร่างกายแปลงให้อยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างเสริมเซลล์สมอง เพราะเซลล์ประสาท (หน่วยย่อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นสมอง) มีไขมันเป็นโครงสร้างหลักถึง 70-80% ดังนั้นหากร่างกายขาดวัตถุดิบในการสร้างเซลล์ประสาท จะเป็นผลให้สมองเติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ อีเอฟเอ ยังเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้ทารกสามารถเคลื่อนไหว ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ดี สามารถดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่ ป้องกันภาวะทารกขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผิวหนังของทารกแห้ง อักเสบ ภูมิต้านทานโรคต่ำ สายตาพร่ามัว การเติบโตหยุดชะงัก ธาตุเหล็ก สำหรับคุณแม่ที่รู้ว่าตัวเองค่อนข้างเลือดจาง ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงบำรุงเลือดไว้ก่อน โดยให้ปรึกษาคุณหมอถึงข้อปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับตัวคุณ ที่สำคัญไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดมาทานเอง เพราะถ้ามีมากไปจะทำให้เป็นอันตรายต่อตับ หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ ได้ การออกกำลังกาย หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ระบบสูบฉีดเลือดทำงานได้ดี ลดโอกาสการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ลดปริมาณคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคเบาหวาน ลดความวิตกกังวล เมื่อออกกำลังกายจะรู้สึกมีความสุข สบายใจ เนื่องจากสมองจะหลั่งสารเอนโดฟินออกมาขณะออกกำลังกาย ว่าที่คุณแม่ และคุณพ่อที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายย่อมทำงานอย่างเป็นระบบ ทำให้โอกาสการปฏิสนธิง่ายขึ้น และการออกกำลังกายบางท่ายังส่งผลให้คลอดง่ายขึ้นอีกด้วย พักสายตา ฟังบทความนี้แบบ Audiobook คลิกเลยค่ะ
เตรียมสุขภาพใจให้พร้อมเป็นพ่อแม่มือใหม่
เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับผู้หญิงจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการจะเป็น “คุณแม่สมบูรณ์แบบ” โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมคุณแม่มือใหม่ ให้ได้เรียนรู้วิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ เข้าใจวิธีการคลอดโดยธรรมชาติอย่างถูกต้อง ตลอดจนการดูแลตัวเองและลูกน้อยหลังคลอดอย่างถูกวิธี โดยมีรายการดังนี้
- การเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ( ก่อนและหลังคลอด )
- อาการไม่สุขสบาย 3 ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และ การบริหารร่างกายก่อนคลอด
- อาการเตือนก่อนมาโรงพยาบาล เช่น อาการเจ็บครรภ์จริง เจ็บครรภ์เตือน และพาเยี่ยมชมห้องคลอด
- การเจ็บครรภ์และการคลอด อิริยาบทในช่วงเจ็บครรภ์และการคลอด การบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา บทบาทของสามีในระยะคลอด
- การคลอดธรรมชาติ การคลอดใต้น้ำ ชมวิดีโอการคลอด และการคลอดโดยใช้เครื่องมือ การบรรเทาอาการเจ็บปวดโดยการใช้ยา การฟื้นตัวหลังคลอด
- บทบาทของการเป็นคุณพ่อคุณแม่ อาการผิดปกติของทารกที่ควรทราบ การเตรียมของใช้สำหรับทารก
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยบางรายการจะเปิดโอกาสให้คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย เช่น การนวดบรรเทาอาการปวดเมื่อย การฝึกหายใจ และท่ากายบริหารที่จะช่วยให้การคลอดง่ายขึ้น ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรอบรมการเป็นพ่อแม่มือใหม่ โดยเน้นเนื้อหาให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพ่อแม่ที่ดีมีส่วนร่วมในการดูแลลูกเล็กร่วมกัน