Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการลูกในครรภ์
ตอนนี้ลูกของคุณมีน้ำหนักประมาณ 2,250 กรัม ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เขาทำหน้าที่ครบถ้วนทุกส่วน เล็บมือ เล็บเท้าพัฒนาต่อจนสมบูรณ์ ขนตา คิ้วตา และผมบนศีรษะเริ่มปรากฏให้เห็น ขนอ่อนนุ่มที่ขึ้นปกคลุมผิวอ่อนบางของเจ้าหนูตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก ตอนนี้เริ่มหลุดร่วงลงแล้ว แม้ว่าจะมีหลงเหลืออยู่บ้างช่วงไหล่ และหลัง แต่หลังคลอดขนเหล่านี้ก็จะหลุดออกไปหมดในที่สุด
ชั้นไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังของเจ้าตัวน้อยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนที่ 4 ถึงตอนนี้เริ่มมีปริมาณมากพอจนทำให้ผิวของเจ้าหนูมีสีชมพูเรื่อๆ ขึ้นแล้ว ร่างกายของเจ้าหนูจะยังคงผลิตชั้นไขมันออกมาสะสมต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมรับมือกับอุณหภูมิที่จะเปลี่ยนไป ภายหลังจากที่เขาคลอดออกมาสู่โลกภายนอก ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง จะช่วยให้ร่างกายของเขาปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สอดคล้องกับอุณหภูมิภายนอก
เซลล์ประสาทที่มีมากถึงพันล้านเซลล์ในสมอง ช่วยเร่งพัฒนาการการเรียนรู้ของเจ้าหนูให้มีมากขึ้น ตอนนี้เจ้าหนูสนุกกับการฟัง สัมผัส และมองสิ่งต่างๆ ในโลกใบเล็กอย่างสนใจ
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
ตอนนี้มดลูกเคลื่อนมาอยู่บริเวณเหนือสะดือเพียงแค่ 5 นิ้วเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้คุณเกิดอาการแสบร้อนในทรวงอก ท้องผูก อาหารย่อยยาก และหายใจติดขัด ช่วงปลายเดือนเจ้าหนูจะเคลื่อนศีรษะลงมาอยู่ที่อุ้งเชิงกราน คุณจะรู้สึกโล่ง และหายใจสะดวกขึ้น แต่น้ำหนักของมดลูกจะไปกดทับที่กระเพาะปัสสาวะแทน ทำให้มีอาการอักเสบ และปัสสาวะบ่อยขึ้น
รู้ไหมว่า: การดื่มน้ำมากๆ กินอาหารมื้อเล็กๆ และกินอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะๆ จะช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้วิตามินบี 6 ในกล้วย มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และช่วยลดอาการปวดบวมข้อมือ
สารอาหารจำเป็น
สังกะสี: ช่วยสร้าง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ทารกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยเกินไป และยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี จมูกข้าวสาลี ฝักผักสด และถั่วเหลือง
วิตามินซี: ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับเส้นเลือด เพื่อป้องกัน และบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร หรือเส้นเลือดขอด ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนนี้
แหล่งอาหารที่พบ: ผักชีฝรั่ง กระเทียม และหัวหอม นอกจากจะอุดมด้วยวิตามินซีแล้ว ยังมีวิตามินบี 2 ซึ่งวิตามินทั้งสองชนิดนี้ต่างก็ให้ประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นเลือดเหมือนกัน
วิตามินบี: สารอาหารในกลุ่มนี้มีผลโดยตรงต่อสมอง และระบบประสาท ดังนั้น การขาดวิตามินบีอาจเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเครียด เป็นกังวล และนอนไม่หลับได้
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ นมไข่ ผักชีฝรั่ง ถั่ว เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียว ข้าวกล้อง
แคลเซียม: ไม่เพียงช่วยเสริมให้กระดูก และฟันของทารกแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยคลายเส้นประสาท ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้นอีกด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: ควรงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด หลังมื้ออาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เนื่องจากคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ไม่ดีนัก
คาร์โบไฮเดรต: เป็นแหล่งพลังงานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงขณะคลอด ร่างกายของคุณจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะค่อยๆ แตกตัวแล้วปล่อยน้ำตาลกลูโคสออกมาอย่างช้าๆ เมื่อเซลล์ต้องการพลังงานก็จะดึงน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ น้ำตาลส่วนที่เหลือจะถูกนำไปเก็บไว้ในตับ และกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน เพื่อเป็นพลังงานที่สะสมไว้ใช้ในระยะยาว เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณสะสมพลังงานไว้เพียงพอสำหรับการคลอดที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้านี้ คุณควรกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสะสมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนนี้
แหล่งอาหารที่พบ: คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนพบมากในผักและผลไม้สด ซีเรียล ธัญพืชไม่ขัดสี
โคเมียม: ช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด
แหล่งอาหารที่พบ: มันฝรั่ง ขนมปังโฮลวีต พริก ไข่ และเนื้อไก่
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567