Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการในครรภ์
ส่วนของศีรษะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกๆ ศีรษะจะมีขนาดใหญ่เกือบครึ่งเมื่อเทียบกับส่วนลำตัวที่เหลือ มีลักษณะงองุ้มเข้าหาส่วนอก เนื่องจากสมองยังคงมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อหรือไม่ว่า เซลล์ประสาทจะถูกสร้างขึ้นประมาณ 250,000 เซลล์ ในแต่ละนาทีที่ผ่านไป
ช่วงนี้เจ้าหนูมีพัฒนาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่นิ้วเท้า ไปยังส่วนต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดบนศีรษะ เช่น หู จมูก ปาก คาง ทำให้ใบหน้าของเจ้าหนูเริ่มมีเค้าโครงของทารกตัวจิ๋วชัดเจนขึ้นแล้ว ประมาณปลายสัปดาห์ที่ 10 อวัยวะสำคัญๆ จะพัฒนาจนสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าต่อมผลิตฮอร์โมนเพศจะถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วภายในอัณฑะ (สำหรับเด็กชาย) หรือรังไข่ (สำหรับเด็กหญิง) แต่อวัยวะเพศภายนอก จะเริ่มก่อตัวขึ้นเห็นเป็นรูปร่างในสัปดาห์ที่ 10 และถ้าหากลูกของคุณ เป็นเด็กชาย อัณฑะของเขาจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายขึ้น
รกยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเจ้าหนู ปลายเดือนนี้ รกจะมีจำนวนเส้นเลือดเพิ่มขึ้น ทำหน้าที่ส่งถ่ายออกซิเจน และอาหารให้กับเจ้าหนู รวมทั้งดึงเอาของเสียไปไว้ในระบบขับถ่ายของแม่อีกด้วย นอกจากนี้ รกยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน และเอสโทรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะช่วยให้ระบบการตั้งครรภ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อผ่านพ้นช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ไปแล้ว เจ้าหนูจะมีอวัยวะทุกส่วนครบถ้วน ถือว่าเจ้าหนูผ่านพ้นช่วงเวลาเสี่ยงต่อการเกิดพัฒนาการที่ผิดปกติขึ้นกับเขา ในทางการแพทย์ถือว่าช่วงเดือนนี้ เป็นช่วงที่เจ้าหนูได้แปรสภาวะจากตัวอ่อนไปเป็นทารกในครรภ์ ที่สมบูรณ์พร้อมจะพัฒนาต่อไปจนแข็งแรงพอที่จะออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอก ถึงตอนนี้ คุณก็วางใจได้เลยว่าจะไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับเจ้าหนูของคุณแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น เร่งให้ต่อมน้ำมันทำงานหนักขึ้น ช่วงนี้คุณจึงดูมีเลือดฝาด หน้าตาสดใส ผิวพรรณดีขึ้นจนใครหลายๆ คนทัก แต่ขณะเดียวกัน พัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในท้องของคุณ ทำให้ตอนนี้เอวของคุณเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนคุณเริ่มสังเกตเห็นลางๆ แล้ว แม้อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เหนื่อยอ่อน จะยังคงสร้างความทรมานให้กับคุณอยู่ แต่เชื่อเถอะว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้ อาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ หายไปจนคุณแทบจะไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ
สารอาหารจำเป็น
วิตามินบี 2: จำเป็นต่อเอนไซม์ต่างๆ ที่ช่วยให้กระบวนการเผาพลาญพลังงานของคุณแม่ทำงานได้ดี นอกจากนี้ ยังช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุล ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด และขจัดไขมันอิ่มตัวในเส้นเลือดด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: นม, ธัญพืช, ขนมปัง, ไข่, เนื้อสัตว์, ผักใบเขียว, ถั่ว, ตับ,
วิตามินบี 6: ทำงานร่วมกับวิตามินบี 2 ช่วยให้การเผาพลาญของคุณแม่ดีขึ้น สำหรับทารกในครรภ์ ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยให้การทำงานของโปรตีน, ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงและพัฒนาสมองของทารก
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อหมู, เมล็ดธัญพืช, กล้วย, อาหารที่มีเส้นใย และไม่ผ่านการขัดสี
วิตามินบี 12: ทำงานร่วมกับวิตามินบี 6 ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และเสริมให้ระบบประสาทมีพัฒนาการที่ดี
แคลเซียม: ในเดือนร่างกายของเจ้าหนู จะดึงเอาแคลเซียมจำนวนมากที่คุณได้สะสมไว้ตั้งแต่ต้นมาใช้ในการสร้างกระดูก และฟัน ช่วงนี้คุณยังคงต้องได้รับแคลเซียมวันละ 700-800 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อพัฒนาการของเจ้าหนู เพื่อให้แน่ใจ ดื่มนมให้ได้วันละ 2 แก้วต่อวัน
วิตามินดี: เพื่อให้การดูดซึมแคลเซียมมีประสิทธิภาพ คุณยังต้องได้รับวิตามินดีด้วย ออกไปนอกบ้านตากแดดยามเช้าตรูสักครึ่งชั่วโมง (ก่อน 9 โมงเช้า) ถ้ากลัวผิวเสีย ก็ให้กินพวกน้ำมันปลา, ไข่ และนม ก็สามารถช่วยได้
วิตามินซี: นอกจากแคลเซียมแล้ว วิตามินซี เป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยเสริมให้กระดูก และฟันของทารกในครรภ์แข็งแรง ส่วนตัวคุณแม่เอง วิตามินซีจะช่วยลดอาการเหงือกบวมอักเสบ อันเนื่องมาจากปริมาณเลือดที่สูบฉีดไปยังเส้นเลือดฝอย จนทำให้กรามร่น เหงือกหนา บวม
แหล่งอาหารที่พบ: มีในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิด แต่จะมีมากในฝรั่ง, สตรอเบอรี่ บรอคเคอรี่
อีเอฟเอ: กรดไขมันไม่อิ่มตัว ดีเอชเอ และเอเอ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างระบบประสาทส่วนกลาง และเยื่อภายในลูกตาที่ทำหน้าที่รับภาพ กรดทั้งสองชนิดนี้ถูกแปลงมาจากสารตั้งต้น 2 ตัวที่รวมเรียกว่า อีเอฟเอ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องบริโภคเท่านั้น
แหล่งอาหารที่พบ: น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันปลา และปลาทะเล อย่าง ทูน่า แซลมอน
วิตามินอี: ช่วยให้รกแข็งแรง และลดอาการเลือดออกกะปริกะปรอยได้ ควรกินเสริมร่วมกับซีลีเนียมจะช่วยป้องกันการแท้ง
แหล่งอาหารที่พบ: มันเทศ และผักใบเขียว ส่วนซีลีเนียมมีมากในอาหารทะเล
รู้ไหมว่า: หญิงตั้งครรภ์ที่กินมังสวิรัติควรระวังการเกิดภาวะขาดวิตามินและสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินบี 2, 6, 12 ธาตุสังกะสี และธาตุเหล็ก ในกรณีไม่กินนม เนย และไข่ ต้องระวังภาวะขาดแคลเซียมด้วย วิธีป้องกันให้พยายามรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นอาหารที่มีหลายสีในแต่ละมื้อ
9 ต.ค. 2567
14 พ.ย. 2567