สารอาหารเสริมพัฒนาการครรภ์ - เดือนที่ 2

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

พัฒนาการลูกในครรภ์
ในเดือนนี้เจ้าตัวน้อยของคุณจะมีขนาดเท่าเม็ดถั่ว หรือมีขนาดความยาวประมาณนิ้วครึ่งจากหัวถึงก้น สมอง เป็นส่วนที่มีพัฒนาการสำคัญอย่างเด่นชัด เซลล์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากก่อตัวหนาขึ้นเป็นทางยาวจากส่วนหัวมาถึงส่วนล่างสุดของตัวอ่อน บริเวณนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นท่อประสาท ส่วนบนสุดของท่อนี้เริ่มแผ่ตัวแบนเพื่อเตรียมก่อตัวเป็นสมองส่วนหน้าของตัวอ่อน ในสัปดาห์ที่ 6 ท่อไขประสาทเริ่มปิดตัวลง ขณะที่สมองเริ่มก่อตัวเห็นเป็นรูปร่างสมองชัดเจน และจะขยายต่อไปเป็นส่วนศีรษะ 

พร้อมๆ กับพัฒนาการส่วนหัว ร่องรอยเล็กๆ ของดวงตาปรากฏขึ้นที่บริเวณสองข้างของส่วนหัว ช่องเล็กๆ ด้านข้างจะพัฒนาต่อไปเป็นหูชั้นใน เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์นับจากจุดเริ่มนี้ ตา หู จมูก ปาก พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเริ่มเห็นเป็นเค้าโครงหน้า

นอกจากสมองแล้ว พัฒนาการ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในเดือนนี้ คือ หัวใจน้อยๆ ของเจ้าหนูพัฒนาจนสามารถทดลองเต้นเบาๆ ได้แล้ว เลือดเริ่มไหลไปตามกระแส ขณะที่สายสะดือเริ่มก่อตัวขึ้นจากเซลล์รก อีกไม่นานสายสะดือนี้จะทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงอาหารมาสู่ทารก และถ่ายเอาของเสียสู่ระบบขับถ่ายของแม่ 

ปอด และระบบย่อยอาหาร เริ่มก่อตัวขึ้น ประมาณสัปดาห์ที่ 8 ลำไส้ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในสัปดาห์ก่อนจะยาวเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่องทวารหนักเริ่มก่อตัว โครงกระดูกเริ่มเห็นชัด แม้จะยังดูแปลกๆ ตาอยู่บ้าง เนื่องจากหัวเข่าเชื่อมต่อกับแผงนิ้ว แขนสั้นเพียงแค่มีส่วนข้อศอกต่อติดกับข้อมือเท่านั้น ขณะที่นิ้วมือ และนิ้วเท้าเริ่มก่อตัวขึ้นมีลักษณะติดกันเป็นแผง

การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
กลไกการตั้งครรภ์ จะเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมภายในร่างกายของคุณให้มีสภาพที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของทารกน้อย ช่วงเวลานี้เอง คุณจะมีอาการแปลกๆ หลายอย่างที่ทำให้แน่ใจเพิ่มขึ้นว่า คุณตั้งครรภ์แน่นอนแล้ว ที่แย่หน่อยก็คือ อาการเหล่านี้สร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวให้กับคุณ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนหัว อาเจียน อยากกินอาหารแปลกๆ หรือมีรสจัดเปรี้ยวจี๊ด

รู้ไหมว่า: ถ้าคุณรู้สึกทรมานจากอาการแพ้ท้องมาก ให้กินอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 จะช่วยลดอาการคลื่นเหียนอาเจียนลงได้ และให้ลดอาหารที่เป็นแหล่งธาตุเหล็กลง เนื่องจากธาตุเหล็กจะไปกระตุ้นให้คุณเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงเช้ามากขึ้น ปกติแล้วสารอาหารทั้งสองชนิดนี้มีอยู่ในรูปอาหารเสริมแคปซูล ซึ่งง่ายต่อการดูดซึม เนื่องจากการรับประทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารทั้งสองชนิดในสัดส่วนที่ตอบสนองตรงตามวัตถุประสงค์คงเป็นเรื่องยาก นั่นเพราะอาหารหลายชนิดที่ให้วิตามินบี 6 มักจะเป็นแหล่งที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเช่นกัน เช่น เนื้อแดง และธัญพืช


สารอาหารจำเป็น
กรดโฟลิค:  ยังคงเป็นสารอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมอง และท่อไขประสาทให้สมบูรณ์ ตลอดช่วงของการตั้งครรภ์คุณควรได้รับกรดโฟลิคประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

แหล่งอาหารที่พบ:  กรดโฟลิคมีมากในผักใบเขียว, ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองเข้ม และพืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้การรับประทานกรดโฟลิคในรูปอาหารเสริม หรือนมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิคโดยตรง จะช่วยให้คุณได้รับกรดโฟลิคเพียงพอต่อความต้องการ

วิตามินบี 12 :  ถ้าหากขาดวิตามินบี 12 ซะแล้ว กรดโฟลิคที่คุณกินเข้าไปจะไม่สร้างประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพได้เลย นั่นเพราะกรดโฟลิคต้องอาศัยวิตามินบี 12 ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และยังเป็นตัวสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายของทารกน้อยสามารถดึงเอากรดไขมันต่างๆ ซึ่งรวมถึงกรดอมิโนมาใช้ประโยชน์ในการสร้างเซลล์สมองที่สมบูรณ์

แหล่งอาหารที่พบ:  มีอยู่ในเนื้อสัตว์ทั่วไป เช่น เป็ดไก่ ปลา นม (ถ้าหากคุณเป็นมังสวิรัติ และไม่กินนม ลองปรึกษาคุณหมอขอรับวิตามินบี 12 เสริม)

แคลเซียม: บทบาทสำคัญของแคลเซียมที่คนทั่วไปรู้จัก คือ ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง แต่ความจริงแล้วแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เซลล์ประสาทมีการทำงานที่สมบูรณ์ ดังนั้น การสะสมแคลเซียมจึงไม่เพียงทำให้เจ้าตัวน้อยของคุณมีร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพสมองให้เขาได้อีกด้วย

แหล่งอาหารที่พบ:  นมเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ดื่มนมยาก ปลาตัวเล็ก (ที่กินได้ทั้งตัว) ก็มีแคลเซียมมากเช่นกัน ใส่โหลไว้กินเล่นระหว่างมื้อ ยังช่วยลดอาการแพ้ท้องได้อีกด้วย

ธาตุเหล็ก:  เพราะเจ้าหนูเริ่มมีระบบการไหลเวียนของกระแสเลือดในเดือนนี้ ธาตุเหล็กในตัวคุณจะถูกดึงไปให้กับเจ้าหนูเพิ่มขึ้น การขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดอาการโรคโลหิตจางได้ ที่ยากก็คือ ปริมาณธาตุเหล็กที่เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงระดับความรุนแรงของอาการคลื่นไส้อาเจียนในตอนเช้า ถ้าคุณมีอาการแพ้ท้องรุนแรง ช่วงนี้ลองงดธาตุเหล็ก แล้วหันไปกินอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินบี 6, 12 เพิ่มขึ้นก็ได้ วิตามินทั้งสองตัวนี้จะช่วยทดแทนธาตุเหล็กให้กับคุณได้

แหล่งอาหารที่พบ:  เนื้อสัตว์ทุกชนิด, ปลา, เป็ดไก่, นม, กล้วย และเมล็ดธัญพืช

โปรตีน: เป็นสารอาหารที่จำเป็นตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเร่งสร้างเซลล์จำนวนมากเพื่อเร่งพัฒนาไปเป็นทารกน้อยนั่นเอง

แหล่งอาหารที่พบ:  มีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อ, นม, โยเกิร์ต, ชีส และพืชตระกูลถั่ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้