ทำไงดี... เมื่อท้องนี้เป็นเบาหวาน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

หลังจากกินอะไรไม่ได้มาหลายเดือน เพราะอาการแพ้ท้อง เมื่อเข้าเดือนที่ 4 ร่างกายของคุณเริ่มกลับสู่สภาพปกติ อะไรก็ดูน่ากิน อะไรก็ดูน่าอร่อย จนแทบจะยั้งใจไม่อยู่ คุณแม่หลายท่านหลังจากผ่านช่วงเวลาแพ้ท้องมาแล้วก็มักจะรู้สึกอยากกินโน่นกินนี่ ราวกับว่าจะกินชดเชยกับช่วงเวลาที่เสียใจ แต่แล้วเมื่อไปตรวจครรภ์ครั้งต่อมา คุณหมอกลับบอกว่าคุณแม่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณรู้สึกราวกับฟ้าผ่าลงมากลางใจ คำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว เพราะฉันกินเยอะไปหรือเปล่า เพราะเค้กชิ้นนั้นใช่ไหม ลูกจะเป็นอันตรายหรือไม่ ก่อนที่จะปล่อยให้ความรู้สึกผิดถาโถมไปมากกว่านี้ สูดหายใจลึกๆ แล้วมาทำความเข้าใจเรื่องเบาหวานขณะตั้งครรภ์ให้ดีขึ้นสักนิดกันก่อนดีกว่าค่ะ

ทำความเข้าใจเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คำว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะเบาหวานที่ตรวจพบได้ขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ โดยคุณแม่อาจเป็นเบาหวานมาก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ได้ โดยอุบัติการณ์ของเบาหวานขณะครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ  3-14  และพบมากขึ้นเมื่อสตรีตั้งครรภ์อายุมากขึ้นด้วยส่วนใหญ่จะเริ่มวินิจฉัยได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์การตรวจคัดกรองสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจะช่วยให้วินิจฉัยโรคและให้การดูแลรักษาได้เร็วขึ้น

ซึ่งสาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นมาจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่นำน้ำตาลหรือกลูโคสที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารไปใช้เป็นพลังงาน แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางรายความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้มีน้ำตาลตกค้างในเลือดมากเกินไป

ทั้งนี้ร้อยละ 90 ของว่าที่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเบาหวานเป็นครั้งแรก มักรักษาได้ด้วยการควบคุมอาหารระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากการควบคุมอาหารไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

Working mom ออกกำลังกายน้อยเสี่ยงเบาหวาน
งานวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการ การออกกำลังกายและระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดย ปิยะนันท์ ลิมเรืองรองนิตยา สินสุกใส เอมพร รตินธร และ ดิฐกานต์บริบูรณ์หิรัญสาร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สตรีตั้งครรภ์ที่ควบคุมภาวะเบาหวานไม่ดีพอ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งของมารดาและทารก สำหรับมารดาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ร้อยละ15-20 ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด เช่น การคลอดยากการตกเลือดหลังคลอด และเพิ่มอัตราการผ่าท้องคลอดเพิ่มขึ้น5-6 นอกจากนี้สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ยังมีโอกาสเป็นซ้ำในครรภ์ครั้งต่อไปถึงร้อยละ 35-50 และมีโอกาสเป็นเบาหวานชนิด 2 ถึงร้อยละ 40-60 เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี  สำหรับทารก ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เพิ่มอัตราทุพพลภาพ และอัตราตายของทารกในระยะปริกำเนิด การบาดเจ็บจากการคลอดเนื่องจากทารกตัวโตกว่าปกติ (macrosomia) และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานจำนวน 90 คน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70 มีอายุมากกว่า 30 ปี ร้อยละ 64.4 ทำงานนอกบ้าน ≥ 8 ชั่วโมง อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 24-28 สัปดาห์ มีประวัติเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยพบว่าบุคคลในครอบครัวที่เป็นเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด

ผลการวิจัย
พบว่าจำนวนชั่วโมงที่ทำงานมีความสัมพันธ์ทางลบกับการออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แสดงว่าสตรีตั้งครรภ์ที่ทำงานนอกบ้าน จะมีการออกกำลังกายน้อยลง ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างต้องทำงานนอกบ้านมากกว่า 8 ชั่วโมง ถึงร้อยละ 64.4 และต้องกลับมาทำงานบ้าน เช่นทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า ทำอาหาร ทำให้ไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Fell และคณะ30 ที่พบว่าจำนวนชั่วโมงที่ทำงานนอกบ้านมีความสัมพันธ์ทางลบกับการดูแลสุขภาพ

นอกจากนี้ยังพบว่า
กลุ่มตัวอย่างมีการออกกำลังกายก่อนการตั้งครรภ์ ร้อยละ 35.5 และเมื่อตั้งครรภ์จะออกกำลังกายลดลงเหลือเพียงร้อยละ 13.3 เนื่องจากมีอาการไม่สุขสบายขณะตั้งครรภ์และมีความเชื่อว่าการออกกำลังกายอาจมีอันตรายต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Symons-Downs และ Ulbrecht31 ที่ศึกษาความเชื่อในการออกกำลังกายของสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานพบว่าเหตุผลสำคัญที่สตรีตั้งครรภ์ไม่ออกกำลังกายเพราะไม่มีเวลา ความอ่อนเพลีย และอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการออกกำลังกาย

คาร์โบไฮเดรตตัวแปรสำคัญควบคุมเบาหวาน
เมื่อได้ยินคำว่าเบาหวาน หลายๆ คนมักจะนึกแต่เพียงว่าต้องควบคุมการบริโภคน้ำตาลของหวานต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณเป็นเบาหวานไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม นอกจากจะควบคุมการบริโภคน้ำตาลแล้ว ก็ยังต้องควบคุมการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตตั้งหลายด้วย

นอกจากนี้หลายคน โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เพิ่งตรวจพบเบาหวานเป็นครั้งแรกก็อาจไม่รู้ว่า ฉลากโภชนาการในอาหารต่างๆ นั้น แทนที่จะดูแต่ปริมาณน้ำตาล คุณควรดูที่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตเป็นสำคัญ  เพราะเพราะปริมาณคาร์โบไฮเดรตในฉลากโภชนาการนั้นได้รวมปริมาณน้ำตาลไว้ด้วยแล้ว ทั้งนี้ หนึ่งหน่วยปริโภค(serving size) ของคาร์โบไฮเดรตจะอยู่ที่ 15 กรัม หากฉลากโภชนาการระบุว่าอาหารนั้นๆ มีคาร์โบไฮเดรต 30 กรัม แสดงว่าอาหารนั้นมีคาร์โบไฮเดรตเท่ากับ 2 หน่วยบริโภค

เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็มาดูว่าในแต่ละมื้อว่าที่คุณแม่ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเท่าใดเพื่อให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ โดยการรับประทานคาร์โบไฮเดรตควรรับประทานคู่กับผักหรือเนื้อสัตว์อย่างสมดุลด้วยนะคะ

- มื้อเช้าควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค หรือ 30 กรัม
- อาหารว่างมื้อสายควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม
- มื้อกลางวันควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 4 หน่วยบริโภค หรือ 60 กรัม
- อาหารว่างมื้อบ่ายควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม
- มื้อเย็นควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 4 หน่วยบริโภค หรือ 60 กรัม
- อาหารว่างก่อนนอนควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม

แม่ท้องกินมังสวิรัติลดเสี่ยงเบาหวาน
การศึกษาจาก The Academy of Nutrition and Dieteticsประเทศสหรัฐฯ พบว่า ว่าที่คุณแม่ที่รับประทานอาหารที่เน้นพืชผักเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติ หรือ วีแกน(Vegan) จะมีระดับคอเลสตอรอลตัวร้ายน้อยกว่าผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ อีกทั้งการรับประทานพืชผักเป็นหลักยังควบคุมระดับความดันโลหิตในร่างกายได้ดีกว่า และลดความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้มากกว่า

ทั้งนี้อาหารมังสวิรัติ มักจะเน้นพวกธัญพืช ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้ ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้อุดมไปด้วยไฟเบอร์ แมกนีเซียม โปแทสเซียม วิตามินซี วิตามินอี โฟเลท คาโรทินอยด์ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ น้อย อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมังสวิรัติ ตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณก็อาจมีภาวะเสี่ยงที่จะขาดสารอาหาร หากไม่ดูแลเรื่องโภชนาการให้สมดุลเพียงพอ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการเพื่อขอรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพื่อสุขภาพของคุณและลูกในครรภ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้