สัปดาห์ที่ 7

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง
คุณเริ่มมีอาการแพ้ท้องรุนแรงมากขึ้น  จมูกไวต่อกลิ่นต่างๆ รู้สึกเบื่ออาหาร จนถึงอาเจียน ไม่มีใครรู้ได้ว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่สามารถอธิบายตามทฤษฎีได้ว่า น่าจะเป็นเพราะระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ความเครียด และความเหนื่อยอ่อน หรือแม้กระทั่งความกังวลในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง เหล่านี้ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย


อุปสรรค์ที่ต้องฟันฝ่า
5 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ ผนังมดลูกจะอ่อนตัวลง เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวลงไปอย่างแน่นเหนียว เมือกที่ปากมดลูกจะหนาตัวขึ้น ก่อตัวเป็นก้อนลิ่มที่ท่อปากมดลูก ซึ่งจะทำหน้าที่ปิดมดลูกจากโลกภายนอกตลอดการตั้งครรภ์ กระจุกลิ่มนี้จะสลายตัวไปเมื่อใกล้ระยะการเจ็บท้องคลอด แต่ถ้าหากคุณหมอวินิจฉัยพบว่าคุณอาจมีอาการของภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท คุณหมอจะทำการเย็บผูกปากมดลูกให้เมื่อคุณตั้งครรภ์ได้ 14 สัปดาห์


การเตรียมพร้อม
ก้อนลิ่มที่อุดปากท่อมดลูกไว้จะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคหลุดไปภายใน แต่ถึงอย่างไรคุณก็ควรดูแลด้านอนามัยบริเวณช่องคลอดให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณควรระวังในเรื่องการตกขาว ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากเป็นมากอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้จนลุกลามเข้าไปถึงในโพรงมดลูก และมีอาการอักเสบร่วมด้วย จะส่งผลกระทบต่อการฝังตัวของตัวอ่อนในผนังมดลูก และมีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในระยะ 3 เดือนแรก


แอบดูพัฒนาการเจ้าตัวเล็ก
ระบบต่างๆ ภายในร่างกาย อวัยวะสำคัญๆ ติ่งแขนขา และเค้าโครงบนหน้าเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง ตอนนี้หนูน้อยมีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับมนุษย์แล้ว เพียงแต่เขายังมีขนาดที่เล็กมากเท่านั้นเอง


จากจุดฟุลสต๊อป… เป็นแตงโมผลใหญ่ 
เมื่อเข้าปลายสัปดาห์ที่ 7 เจ้าตัวอ่อนจะมีขนาดเท่ากับผลองุ่นเล็กๆ มีส่วนหัวที่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับลำตัว ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าที่บริเวณส่วนหัวจะมีจุดสีดำเล็กๆ 2 จุดวางอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างห่างกันมาก แต่ก็พอคาดเดาได้ว่า นั่นล่ะ ดวงตา ระหว่างกลางของจุดดำทั้งสอง มีปุ่มเล็กๆ ของจมูกก่อตัวยื่นออกมา ส่วนติ่งเนื้อเยื่อใสๆ ของใบหู มองดูคล้ายกับปลายเมล็ดของผลองุ่น ยื่นออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แขน และขา ยื่นออกมาเป็นปุ่มข้างลำตัวช่วงบนและล่าง โดยมีส่วนมือและเท้าติดเป็นแผ่นบางๆ คล้ายครีบปลา เนื้อเยื่อของครีบเล็กๆ นี้ จะค่อยๆ เสื่อมสลายออกไปจนแยกออกเป็นนิ้วมือ และนิ้วเท้า หัวใจดวงน้อยแบ่งแยกออกเป็นห้องขวา และซ้าย และเต้นในอัตรา 150 ครั้งต่อนาที ซึ่งมากกว่าอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่ถึงสองเท่า


จุดสร้างอวัยวะ 32 ชิ้นของลูก
เนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายนิ้วมือเล็กๆ จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นผิวรอบนอกของรก เพื่อปกป้องถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกไว้อีกที ระหว่างนิ้วมือเล็กๆ เหล่านี้จะมีช่องว่างสำหรับการส่งผ่านเลือดของคุณ และจะพัฒนาต่อไปเป็นรก นอกจากรกแล้ว ศีรษะของหนูน้อยดูจะเป็นอวัยวะที่มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด พร้อมๆ กับหางที่เริ่มโผล่ให้เห็นในสัปดาห์นี้ อย่าตกใจไป! หางนี้จะหดไปเป็นกระดูกก้นกบในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

 
ตรวจ.. เมื่อตั้งครรภ์
ในช่วงนี้คุณลองถามคุณหมอถึงระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในตัวคุณดูบ้าง ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำหรือสูงเกินไปหรือไม่ เพราะการทำงานที่ผิดปกติของไทรอยด์อาจส่งผลต่อลูกในท้องของคุณเองได้


กินอย่างไรให้แม่ลูกแข็งแรง
ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายในร่างกายของคุณ คุณอาจมีอาการคล้ายคนป่วย เหนื่อยง่าย อยากนอนหลับพักผ่อนทั้งวัน อาเจียน และบางครั้งถึงกับกินอาหารไม่ได้ ขอให้อดทนเอาไว้เถอะ เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์อาการเหล่านี้ก็จะหายไป เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้นในช่วงที่มีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก ลองรับประทานอาหารแต่น้อย โดยให้บ่อยครั้งขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมัน และมีรสจัด นอกจากนี้น้ำหวานอาจช่วยให้อาการวิงเวียนทุเลาลงได้ ส่วนขนมปังกรอบอาจช่วยให้คุณกินอาหารได้บ้าง


อาหาร.. แหล่งวัตถุดิบเพื่องานสร้างที่สมบูรณ์
เซลล์ประสาทส่วนกลาง และสมองพัฒนา  ช่วงสำคัญที่สุดของการปูพื้นฐานสู่ความเป็นอัจฉริยะให้กับลูกอยู่ตรงนี้เอง โอเมก้าทรี คือสารอาหารที่จะช่วยให้สมองของลูกเจริญเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ซึ่งคุณจะได้รับจากน้ำมันปลา (ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วอัลมอล ถั่วเหลือง ถั่ววอลนัท) เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงา และเมล็ดฟักทอง อย่าลืม! กรดโฟลิกช่วยทำให้เซลล์แต่ละตัวของตัวอ่อนแข็งแรง คุณยังคงจะต้องได้รับสารอาหารตัวนี้ต่อไปจนเข้าสัปดาห์ที่ 12

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้