สัปดาห์ที่ 29

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง
เจ้าหนูจะกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณ โดยฮอร์โมนในรกจะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด และมีผลให้โปรแลคตินในร่างกายของคุณเป็นตัวกระตุ้นเต้านมให้มีการผลิตน้ำนมออกมา ซึ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวข้น จนบางครั้งอาจดูเป็นสีเหลือง เราเรียกว่า โคลอสตรัม ส่วนมดลูกของคุณจะขยายเพิ่มขึ้นไปอีก จนเบียดกดทับอวัยวะภายในต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง คุณจะรู้สึกตึงๆ ที่สะดือ  และสังเกตเห็นว่าสะดือของคุณมีลักษณะยาวขึ้น  อย่าตกใจทุกอย่างจะเป็นปกติหลังคลอด ช่วงนี้ยอดมดลูกอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสะดือของคุณ กับอุ้งเชิงกราน อย่าลืมหมั่นทาครีมบำรุงผิวที่หน้าท้อง และอก


การเตรียมพร้อม
ถึงเวลาปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ถึงวิธีการคลอดที่เหมาะกับคุณได้แล้ว การได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการคลอดแต่ละวิธี จะทำให้คุณสามารถเลือกได้ว่าคลอดแบบใดที่คุณคิดว่าจะทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดน้อยที่สุด และลูกน้อยปลอดภัยมากที่สุด ในช่วงนี้คุณควรฝึกขมิบช่องคลอดเอาไว้ จะทำให้ช่องคลอดของคุณแข็งแรงจนคุณสามารถคลอดเองได้ง่ายตามธรรมชาติ ถ้าคุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการคลอดที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณแม่ตั้งครรภ์คนอื่นๆ ในครอสเตรียมคลอด จะช่วยคุณได้ค่ะ


แอบดูพัฒนาการเจ้าตัวเล็ก
ในสัปดาห์นี้ ศีรษะของเจ้าตัวเล็กจะมีขนาดได้สัดส่วนกับลำตัวของเขาแล้ว เจ้าตัวเล็กมีรูปร่างที่ใกล้เคียงกับทารกแรกคลอดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีขนาดที่เล็กอยู่ ตอนนี้เขามีขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร ทารกจะปล่อยฮอร์โมนบางอย่างออกมาเพื่อทำให้มดลูกมีการหดรัดตัว เพื่อดันตัวทารกให้เคลื่อนลง ถ้า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกของคุณยังไม่ลืมตา ในสัปดาห์นี้เขาจะลืมตาได้จริงๆ แล้วล่ะ พร้อมๆ กับหันศีรษะมองตามการเคลื่อนที่ของแสงไฟ เล็บนิ้วมือยืดยาว ส่วนชั้นไขมันเริ่มก่อตัวขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างความอบอุ่นให้กับเจ้าตัวเล็กเมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกท้องคุณแม่


ตรวจ.. เมื่อตั้งครรภ์
หากคุณเข้าห้องน้ำบ่อย และมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย หรือมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว คุณควรจะปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ ในการตรวจคุณหมอจะเจาะเลือดของคุณ จากนั้นจะให้คุณดื่มน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม และเจาะเลือดอีก 3 ครั้ง ห่างกันทุก 1 ชั่วโมง ถ้ามีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงผิดปกติก็คือว่าเป็นเบาหวาน คุณจะต้องได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด


กินอย่างไรให้แม่ลูกแข็งแรง
ช่วงนี้หัวนมของคุณอาจมีน้ำนมสีเหลืองข้นไหลออกมา ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานของเต้านม คุณควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี วิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายของคุณเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมไว้ให้กับลูกน้อยของคุณ เมื่อเข้าไตรมาสที่สาม คุณจะกลับมารู้สึกเหนื่อยเพลียได้ง่ายอีกครั้ง ยังไงก็พยายามกินอาหารที่มีธาตุเหล็กต่อไปนะคะ ธาตุเหล็กในเนื้อแดงจะทำให้ร่างกายของคุณดูดซึมได้ง่าย ส่วนธาตุเหล็กที่ได้จากพืช คุณสามารถหากินได้จากผลไม้ตากแห้ง ผักใบเขียวจัด และถั่ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้