Last updated: 4 ต.ค. 2566 |
มัมสเตอร์ สรุปประเด็นสำคัญจากสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “ดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ แบบไหนปลอดภัยชัวร์” นำโดยวิทยากร นายแพทย์อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ประจำศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ให้ได้รู้วิธีการดูแลตัวเอง รวมถึงดูแลลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
ดูแลใจให้ไม่เครียดระหว่างตั้งครรภ์
รู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘ความเครียด’ มีผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมาก ทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง จนเกิดเป็นความเครียด ความวิตกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ในส่วนของความกังวลที่ว่า “เวลาที่คุณแม่เครียด ลูกจะเครียดตามหรือเปล่า?” คลอดมาแล้วจะเลี้ยงยากมั้ย ทั้งนี้คุณหมอได้ย้ำว่าความเครียดของคุณแม่จะไม่ส่งผลไปถึงพัฒนาการลูกหลังคลอดแน่นอน แต่ถ้าถามว่า “จะผลต่อการตั้งครรภ์มั้ย?” ก็ต้องยอมรับว่า มีผลอยู่พอสมควรค่ะ
เพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนด้านลบ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยล้ามากขึ้น กินข้าวได้น้อย ความดันขึ้น และก็ส่งผลไปถึงลูกครรภ์คือ ลูกอาจตัวเล็ก หรือโตช้าในครรภ์ได้ค่ะ คุณหมอแนะนำว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะความเครียด ความกดดัน แต่ถ้ามีอะไรที่สงสัย หรือรับมือไม่ได้ ก็อยากให้ปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือตรงนี้ต่อไปค่ะ
กลุ่มยาที่ควรระวังระหว่างการตั้งครรภ์
ระหว่างการตั้งครรภ์คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่เลี่ยงยาอยู่หลายชนิด เพราะยาบางตัวส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกในครรภ์ และสามารถไปรบกวน ทำให้เกิดความผิดปกติ หรือพิการได้ (โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่ลูกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆของตัวเอง) กลุ่มยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง เช่น กลุ่มยากันชัก ยาสเตรียรอยด์ เป็นต้น
ดังนั้นในช่วง 3 เดือนแรก คุณหมอจะเตือนคุณแม่ให้เลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นอย่าใช้ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ให้ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลก่อน เช่น คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวอยู่ อย่างโรคไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน เพื่อปรึกษาคุณหมอว่าคุณแม่สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้หรือเปล่า แต่ต่อให้ไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ที่อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความพิการน้อยลง แต่ยาหลายๆตัวก็อาจจะยังมีความเสี่ยงอยู่ ตรงนี้ก็ต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลค่ะ
เช็คสุขภาพฟันเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
โดยปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์ มักจะต้องเผชิญกับโรคในช่องปาก เช่น เหงือกบวม ฟันผุ เหลือดออกตามไรฟัน (คุณแม่แทบทุกคนต้องพบกับปัญหาเหล่านี้) สาเหตุมักจะเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป มีปริมาณแร่ธาตุสารอาหารที่ต้องการมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ และในปัจจุบันการติดเชื้อในช่องปาก นับเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด เพราะฉะนั้นในช่วงไตรมาส 2 คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ ไปเช็คสุขภาพฟัน เช็คฟันผุ และขูดหินปูน ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดค่ะ
อาหารปรุงสุก 100% ดีที่สุด
อาหารที่ไม่สุกค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรค แบคทีเรีย จุลินทรีย์ และพยาธิ ซึ่งก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เจ็บป่วย อาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ และที่สำคัญคือเชื้อบางตัวมีผลต่อการติดเชื้อในครรภ์ และมีผลต่อสุขภาพของลูกได้ คุณหมอจึงแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้นค่ะ
ถ้าคุณแม่ชอบทานไข่ ก็แนะนำเป็น ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้มไปเลย หลีกเลี่ยงการทานไข่ลวก หรือถ้าคุณแม่อยากทานเนื้อวัว ถ้าเป็นแบบมีเดี่ยมแรร์ อันนี้ก็ต้องเลี่ยงไปก่อน รวมไปถึงเนื้อสัตว์แปรรูป อย่างไส้กรอก โบโรน่า ก็อยากให้เลี่ยงไปก่อน ถ้าไม่จำเป็นค่ะ
ควันบุหรี่คือสิ่งที่ควรอยู่ให้ห่างมากที่สุด
คุณแม่ตั้งครรภ์คงไม่สูบเองแน่นอนอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการได้กลิ่นจากบุหรี่ ที่เราไม่ได้สูบเอง (passive smoking) ตรงนี้ผลมีแน่ๆทั้งกับคุณแม่เองและลูกในครรภ์ เพราะปกติคนท้องจะมีปัญหาด้านระบบหายใจ ทำให้หายใจยากเป็นทุนอยู่แล้ว หากได้รับกลิ่นบุหรี่เข้าไปอีก ก็อาจจะส่งผลให้เกิดภูมิแพ้ ระคายเคืองและเหนื่อยง่ายมากขึ้นค่ะ แล้วถ้าคุณแม่ดมควันบุหรี่ในระยะยาว คุณแม่ก็คงไม่ต่างจากคนที่สูบเองเลย คือ อาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ หรือปอด แบบคนที่สูบบุหรี่ได้ ที่สำคัญคือบุหรี่สามารถซึมไปถึงลูกในท้องได้ด้วย ทำให้เด็กโตช้า เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หรือบางครั้งอาจจะเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567
29 ก.ย. 2566