Last updated: 29 ก.ย. 2566 |
น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเด็กแรกเกิดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย การที่ลูกได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เด็กทารกเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากคุณค่าด้านสารอาหารและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับลูกน้อยแล้ว ขณะที่แม่ให้นมลูกจากเต้า เป็นช่วงเวลาที่แม่และลูกได้ก่อร่างสร้างสายใยความรักและความผูกพันร่วมกัน
สำหรับการดื่มนมแม่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ลูกควรได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนอายุ 2 ขวบ ควบคู่ไปปกับการรับประทานอาหารตามวัยที่เหมาะสม
สารอาหารในน้ำนมแม่
สารอาหารในน้ำนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาหลังการคลอดเพื่อให้เหมาะสมกับตัวลูกน้อย ผ่านกระบวนการสร้างน้ำนมในร่างกายของแม่ที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
น้ำนมระยะที่ 1 (Colostrum)
ระยะหัวน้ำนมเป็นระยะ 1-3 วันแรก น้ำนมจะมีสีเหลือง บางคนเรียกว่าน้ำนมเหลือง เนื่องจากมีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลังมาก น้ำนมระยะนี้เป็นน้ำนมที่อุดมสมบูรณ์มากประกอบไปด้วยโปรตีนต่างๆ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกลือแร่ วิตามิน สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก รวมทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการขับขี้เทาของลูกได้ด้วย
น้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk)
เมื่อผ่านช่วง 5-14 วันแรก น้ำนมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งจะมีสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งไขมันและน้ำตาลที่มีปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
น้ำนมระยะที่ 3 (Mature Milk)
เมื่อผ่านช่วง 2 สัปดาห์แรกแล้ว น้ำนมแม่จะมีปริมาณที่มากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก ได้แก่
· โปรตีน ที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งจากเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
· ไขมัน ที่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ DHA และ AA ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
· น้ำตาลแลคโตส โดยพบว่าในนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น (HMOs) มากกว่า 200 ชนิด และมีปริมาณมากกว่าปริมาณที่พบในนมวัวถึง 5 เท่า และยังพบอีกว่า HMOs ในน้ำนมแม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
· วิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตมากมาย
นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ Antioxidant และ Growth Factor ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต
ประโยชน์ของน้ำนมแม่ต่อลูกน้อย
ประโยชน์ต่อพัฒนาการทางสมอง
งานวิจัยเผยว่าทารกที่กินนมแม่มีโอกาสในด้านพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยสามารถวัดได้เมื่อเด็กโตขึ้นและกำลังเข้าสู่วัยเรียน นอกจากนี้สารอาหารและวิตามินจากน้ำนมแม่ยังช่วยให้พัฒนาการของสมองเด็กและเซลล์ประสาททำงานได้อย่างสมบูรณ์
ประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี
ความสำคัญของนมแม่ที่ช่วยให้ลูกสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการเจ็บป่วย ด้วยการสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัด การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไปจนถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) โรคงูสวัด
นอกจากนี้นมแม่ยังสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ รวมไปถึงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) เป็นต้น
ประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
นมแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายให้ลูกเติบโตได้อย่างปกติ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเริ่มเดินจะมีการทรงตัวที่ดีเนื่องจากมีกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจากการได้รับสารอาหารจากนมแม่ นอกจากนี้การดูดนมแม่จากอกยังช่วยในเรื่องของสุขภาพช่องปากในเด็ก เมื่อฟันบนขึ้นจะเรียงตัวไม่ทับซ้อนกันและไม่ผุกร่อนอีกด้วย
แต่ทั้งนี้การที่ลูกจะเติบโตขึ้นมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและมีสมองที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากการเลี้ยงดู และการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยร่วมด้วยค่ะ
ข้อมูลจากกรมอนามัย
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567