Last updated: 20 ต.ค. 2565 |
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรัก ความเข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมจากพ่อแม่ มักจะมีความรู้สึกที่มั่นคงและรู้จักตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง ในทางตรงกันข้าม เด็กที่พ่อแม่ไม่มอบความรักอย่างใกล้ชิด หรือสื่อสารแค่เฉพาะหน้าแต่กลับไม่เคยเข้าใจและตอบสนองความต้องการที่แท้จริง การเรียนรู้ตัวตนของเขา ก็ย่อมเป็นไปโดยไม่เชื่อมโยงหรือมีสายสัมพันธ์กับพ่อแม่
แน่นอนว่า ความรัก ความไว้ใจที่ลูกมีต่อพ่อแม่ ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว และใช้ระยะเวลาตั้งแต่เขายังเป็นทารก ผ่านการทะนุถนอม การอุ้ม การกอด การเอาใจใส่ และการใช้ช่วงเวลาคุณภาพร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว ก่อเกิดเป็นความมั่นคงทางใจให้กับลูก และเมื่อเขาเจอปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ เขาจะรู้สึกว่ายังมีพ่อแม่ที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา
เมื่อถึงเวลาที่ลูกเผชิญกับปัญหา แล้วต้องการสื่อสารความรู้สึก ความต้องการออกมา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการสื่อสารแบบเกื้อกูลกับลูก เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกสูญเสียตัวตน และบั่นทอนจิตใจ
• รับฟังความต้องการของลูกอย่างตั้งใจ (Explore)
ให้ความสำคัญแม้จะเป็นปัญหาที่เราอาจไม่อินด้วย ไม่ควรฟังผ่านๆ หรือฟังไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย
• พยายามเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของลูก (Understand)
เวลาที่ลูกบอกว่าโอเค เราต้องดูด้วยว่าสีหน้าท่าทางลูกโอเคจริงๆ หรือเปล่า อย่าละเลยภาษากายที่บ่งบอกว่าเขาอาจกำลังเป็นทุกข์
• เป็นพวกเดียวกับเขา (Join)
ด้วยการรับฟังและเข้าใจความรู้สึกจากในมุมของเขา โดยไม่ตัดสิน ชี้นำ หักหาญน้ำใจ หรือตั้งแง่ปฏิเสธ
การตอบสนองด้วยความเข้าใจ จะช่วยให้ลูกกล้าที่จะเปิดเผยสิ่งที่เขาคิดหรือต้องการจริงๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกพ่อแม่ตำหนิ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่เองก็ควรมีลิมิตว่าจะให้ลูกได้แค่ไหน โดยที่ไม่สปอยล์เกินไป
การสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์แบบนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย อบอุ่นใจว่าอย่างน้อย คนในครอบครัวก็พร้อมจะรับฟังเขาอย่างเปิดใจเสมอ
อ้างอิงข้อมููลจาก: https://thepotential.org/family/sense-of-self/
19 พ.ค. 2566
23 ส.ค. 2567