Last updated: 19 มี.ค. 2563 |
ยังจำได้ว่าผ่าคลอดไอ้ลูกชาย หมอบอกว่า ไอ้ลูกชายน้ำหนัก 4,000 กรัม แม่เจ้า!! อะไรจะใหญ่ปานนั้น จะไม่ใหญ่ได้ไงแม่น้ำหนักก่อนคลอดปาเข้าไป 84 กก. ทราบภายหลังว่าลูกอยู่ในตู้อบเพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย ญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า มองเข้าไปเห็นเด่นสง่า เพราะตัวใหญ่มาก หนังตึงทีเดียว ชนิดที่เรียกว่าลูกแม่ผิวหนังไม่เคยเหี่ยวเลย ขาวฟู ขาวจั๊ว น่าฟัดจริงๆ แต่ไม่ได้รู้หรอกว่าหลังจากคลอดแล้วหมอพยาบาลทำอะไรกับลูกเราบ้าง
หลังคลอดลูกคุณแม่ไม่ได้หายไปไหน หลังคลอดพยาบาลแผนกทารกแรกเกิดจะนำลูกของคุณไปตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความยาว เช็คอุณภูมิกาย หากลูกของคุณปกติจะต้องใช้เวลาปรับอุณภูมิไม่นานนัก สำหรับเด็กที่มีภาวะผิดปกติ ต้องติดตามต่อไปเพราะอาการอาจเปลี่ยนแปลงตลอด นั่นหมายถึง คุณกับลูกอาจจะยังไม่ได้เจอกัน
สะดือ หนีบหรือผูกให้แน่น...เจ็บมั้ยลูกแม่ พ่อแม่หลายคนตกใจ เมื่อได้เห็นสะดือลูกครั้งแรก คิดว่าลูกคงเจ็บน่าดู สะดือของลูกจะถูกหนีบไว้เป็นอย่างดีด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบางโรงพยาบาลใช้วิธีผูกแน่นๆ เพราะสายสะดือของลูกก็คือสายรกจากแม่ เมื่อแรกคลอดจะถูกตัดและมีเลือดไหล จำเป็นต้องผูกไว้แน่นๆ สะดือจะแห้งและหลุดไปภายใน 7 – 10 วัน บางคนนานกว่านั้น
นมแม่...ลูกดูดได้ทันทีน่าอัศจรรย์ โดยทั่วไปแม่ที่คลอดแบบธรรมชาติ หลังจากคลอด 2 ชั่วโมง ลูกจะไปดูดนม หากโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลที่เน้นเรื่องการให้ลูกดื่มนมแม่ หรือตามความพร้อมของแม่ สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด ลูกจะถูกส่งไปที่แผนกทารกแรกเกิดลูกอาจปรับอุณหภูมิในตู้อบ คุณพ่อจะเป็นคนที่ได้เห็นความน่ารักของลูกก่อน แอบยิ้มปริ่มเลยทีเดียว เพราะแม่ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องสังเกตอาการ นาน 2 ชั่วโมง เมื่อถูกส่งตัวกลับยังห้องพักฟื้น สามารถขอดูลูกได้ การดูดนมอาจจะเริ่มขึ้นในช่วงนี้หากแม่มีความพร้อม พยาบาลจะช่วยจัดท่าทางให้เพราะแม่อาจจะลุกนั่งไม่สะดวกเนื่องจากการบล๊อคหลัง เพื่อให้ลูกได้ดูดนมจากอกแม่
ลูกแม่ถูกห่อตัวซะแน่นเลย หลังคลอด ลูกน้อยจะถูกห่อตัวด้วยผ้านุ่ม ๆ หนา ๆ เพื่อสร้างควบอบอุ่นแก่ร่างกาย ลูกต้องปรับอุณภูมิกายต่อสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง การถูกห่อตัวทำให้ลูกของคุณหลับสบาย เหมือนเวลาที่อยู่ในท้องของแม่
แม่จ๋าไม่ต้องห่วงหนู หนูไม่หิว... ก่อนคลอดออกมาจากท้องแม่สารอาหารยังถูกลำเลียงผ่านสายรกตามปกติ ซึ่งสารอาหารดังกล่าวสามารถหล่อเลี้ยงร่างกายทารกได้นานถึง 24 – 48 ชั่วโมง ทำให้ทารกบางคนไม่ดูดนม ซึ่งข้อนี้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลเมื่อร่างกายของลูกนำสารอาหารที่สะสมมาไปใช้หมดแล้ว ลูกก็จะดูดนมแม่ได้เองตามสัญชาติญาณ
ลูกน้อยต้องดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน โรงพยาบาลที่เคร่งครัดและรณรงค์เรื่องให้นมแม่อย่างเดียว ส่วนใหญ่ ห้ามป้อนนมผง และให้ลูกอยู่กับแม่ตลอด 24 ชั่วโมง แม่ก็ต้องพยายามให้ลูกน้อยดูมนมจากเต้าให้ได้มากที่สุด เพราะการดูดนมจากเต้าเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมา เมื่อลูกดูดบ่อย ๆ เต้านมแม่ก็จะหายคัดไม่เจ็บระบม แม่มือใหม่อาจจะเก้ ๆ กังๆ ระหว่างให้นมลูก บางคนท้อเลยก็มี แต่เชื่อเหอะ นมแม่ดีที่สุด ลูกน้อยควรดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
แม่จ๋าตกใจทำไมอึลูกสีเขียวคล้ำ “อึ” ของลูกน้อย ใน 24 ชั่วโมงเเรกเป็นสีเขียวขี้ม้า เรียกว่า ถ่ายขึ้เทา (meconium) เป็นอุจจาระครั้งแรกของทารกซึ่งไม่เหมือนกับการอุจจาระในภายหลัง ขี้เทาประกอบด้วยสสารที่ถูกย่อยระหว่างที่ทารกใช้ชีวิตอยู่ช่องคลอด โดยมีทั้งเซลล์ผนังลำไส้เล็ก ขนอ่อน เมือก น้ำค่ำ น้ำดี และน้ำ จะหมดไปก่อน 72 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับการได้รับนมของลูกน้อยด้วย
ทำไมลูกแม่จ๋ามองบนตลอดคะ พ่อแม่แปลกใจทำไมลูกมองหาใคร ลูกมองบนตลอด มองเห็นแม่จ๋ามั้ยคะ หรือลูกแม่เล่นกับแม่ซื้อตามโบราณว่ากัน....ลูกคุณแม่จะมองเห็นแล้วค่ะ แต่ … ลูกของคุณสามารถมองเห็นในระยะใกล้ 30 เซนติเมตร ส่วนการแปลภาพ จะเห็นเป็นสีขาวดำ เลือนลางไม่ชัดเจน เห็นใบหน้าพ่อแม่เพียงกลมๆ แต่ไม่เห็นรายละเอียดว่าพ่อหล่อมั้ย แม่สวยหรือเปล่า และในบางครั้งลูกเหมือนตาเหล่ เพราะกล้ามเนื้อรอบดวงตาของลูกยังไม่แข็งแรงดี พ่อแม่ไม่ต้องตกใจ อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไป
ลูกแม่ต้องมีภูมิคุ้มกันก่อนกลับบ้าน หลังคลอด ลูกคุณจะต้องได้รับยาที่จำเป็น วันแรกที่คลอด ลูกต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบB เข็มที่1 และวิตามินเค เพื่อป้องกันเลือดไหลไม่หยุดจากสายสะดือที่ถูกตัดขาดจากแม่ และก่อนออกจากโรงพยาบาล ลูกต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ไหล่ซ้าย
เจาะเลือด...เรื่องจำเป็นนะคะลูกจ๋า เมื่อลูกอายุได้ 72 ชั่วโมง พี่พยาบาลจะนำลูกไปเจาะเลือดเพื่อส่งคัดกรองโรคเอ๋อ กว่าจะทราบผลก็เกือบๆเดือนเลยทีเดียว ตามผลได้เมื่อนัดฉีดวัคซีนเข็มแรก ถ้าผิดปกติทางโรงพยาบาลจะโทรแจ้งโดยด่วนและส่งเลือดไปตรวจกรุ๊ปเลือดด้วย ภายในไม่กี่ชั่วโมงคุณก็จะทราบกรุ๊ปเลือดของลูก
พ่อแม่หลายคนสงสัย ลูกจะหูหนวกหรือเปล่านะ โดยส่วนใหญ่โรงพยาบาลเอกชนหลังคลอด 48 ชั่วโมง ลูกของคุณจะได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินเรียกว่า OAE test เด็กจำนวนมากตรวจไม่ผ่านในครั้งแรก เนื่องจากมีความชื้นในหู ไม่ต้องตกใจ คุณหมอจะนัดมาตรวจอีกครั้งเมื่ออายุ 1 เดือน หรือ 2 เดือน เป็นการตรวจไม่เร่งด่วน รอได้ ส่วนโรงพยาบาลรัฐบาลจะนัดครั้งเดียวพร้อมฉีดวัคซีนเดือนแรก
ได้รู้กันแล้วนะคะว่าหลังคลอดลูกน้อยหายไปไหน ต้องทำอะไรบ้าง หลังจากที่คุณหมอพยาบาลทำตามระบบจนครบถ้วนแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องกังวลอะไรอีกค่ะ เพราะก่อนพาลูกกลับบ้านคุณจะได้รับคำแนะนำในการเลี้ยง...เมื่อกลับถึงบ้าก็ค่อยมาลุ้นว่าจำคำแนะนำของคุณหมอพยาบาลได้มากน้อยแค่ไหน...
นี่แม่จ๋า! สนุกมากกับการเลี้ยงลูก ไอ้ลูกชายกินนมแม่เป็นปีเลยนะ...ผลที่ได้คือลูกไม่ค่อยป่วย ไม่ค่อยเป็นไข้เป็นหวัด เบาแรงพ่อแม่ไปเยอะ...อย่าลืมนะคะให้ลูกกินนมแม่ให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน
9 ต.ค. 2567
14 พ.ย. 2567