10 เทคนิค พิชิตเด็กต่อต้าน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 


          เด็กในวัย 1 - 3 ปี เป็นวัยที่เริ่มทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การพูด รวมถึงการมีความคิดเป็นของตัวเอง จึงไม่แปลกที่เด็กวัยนี้จะทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากกว่าการทำตามที่คนอื่นบอก ทำให้บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรารู้สึกว่า เด็กวัยนี้ดื้อ ต่อต้าน แต่แท้จริงแล้วเขาแค่แสดงออกถึงตัวตนของเค้าเท่านั้นเอง หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ และตอบสนองพฤติกรรมต่อต้านของเด็กด้วยความรุนแรง เช่น การใช้อารมณ์ การตี การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง อาจกลายเป็นการปลูกฝังความก้าวร้าวให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ นิสัย และบุคลิกของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน วัยนี้ก็เป็นวัยที่เรียนรู้ได้ดี เนื่องจากเป็นช่วงที่เซลล์สมองเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว การสอนสิ่งต่างๆ ให้กับเด็กจึงทำได้ง่าย เพราะเด็กสามารถจดจำและทำตามได้เป็นอย่างดี

          หมอจึงมีเทคนิคเล็กน้อย ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับความเป็นตัวของตัวเองของลูกได้ง่ายขึ้นมาฝากค่ะ

1. ทำสิ่งต่างๆ ให้คาดเดาได้

สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน หากเราฝึกให้เด็กทำตามเวลาที่ใกล้เคียงกันและสม่ำเสมอ เด็กจะเกิดความเคยชิน และลดการต่อต้านลงในที่สุด อีกทั้งยังเป็นการช่วยจัดระบบเวลาในร่างกายซึ่งจะเอื้อให้เด็กทำตามได้ดีขึ้นอีกด้วย เช่น การจัดเวลารับประทานอาหาร เวลาตื่น เวลาหลับ ให้ใกล้เคียงกันเป็นประจำ เมื่อเกิดนาฬิการ่างกาย เด็กก็จะหิว ง่วง ตามเวลา ช่วยให้เราดูแลเด็กได้ง่ายขึ้นค่ะ

2. ให้เวลาเตรียมใจ

การเตือนก่อนล่วงหน้าที่จะถึงเวลาจริงเล็กน้อย จะช่วยให้เด็กร่วมมือได้มากขึ้น เพราะเค้าได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้วนั่นเอง เช่น บอกให้เด็กเตรียมตัวที่จะเก็บของเล่น แล้วทิ้งระยะห่างซักพัก ก่อนที่เราจะให้เก็บจริง

3. ฝึกการช่วยเหลือตัวเองตามวัย

พยายามให้เด็กทำเองก่อน หากยังทำไม่ได้ ผู้ใหญ่สามารถช่วยเหลือหรือชี้แนะได้ แล้วค่อยลดการช่วยเหลือลงจนกระทั่งเด็กทำได้เอง ข้อนี้เป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเอง ฝึกความพยายาม การมีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ และเมื่อมีคนชมที่ทำได้ดี เด็กก็จะเกิดความมั่นใจ ส่งผลให้อยากทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือยากขึ้นด้วยตัวเองในภายหลัง โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชมาก

4. ให้เลือกในขอบเขตที่เลือกได้

การที่เราให้เด็กเลือกแทนการบอกให้เด็กทำตรงๆ จะช่วยให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกบังคับจนเกินไป และอยากร่วมมือมากขึ้น เช่น การให้เด็กเลือกว่า “หนูจะอาบน้ำกับพ่อหรือกับแม่ดีคะ” เด็กบางคนอาจลืมที่จะตอบว่า “ไม่อยากอาบ”  กลายเป็นมาสนใจการเลือกว่าจะอาบกับใครแทน ข้อควรระวังคือไม่ควรถามในสิ่งที่เราให้ไม่ได้ เช่น การถามว่า "หนูจะอาบหรือไม่อาบน้ำคะ" เพราะการไม่อาบน้ำเราให้ไม่ได้อยู่แล้ว และจะยิ่งผิดใจกับเด็กมากขึ้นเมื่อเด็กตอบว่า “ไม่อาบ”

5. เพิ่มความสนุกลงไปในกิจกรรมที่เด็กต้องทำ

เด็กจะได้มีแรงผลักดันที่อยากจะทำมากขึ้น ลดความรู้สึกเบื่อหน่าย และอาการอิดออดเมื่อเราบอกให้ทำ เช่น เมื่อเราอยากให้ลูกเก็บของเล่น เราอาจชวนลูกแข่งกันเก็บของเล่น เป็นต้น

6 .ใช้แรงจูงใจ

โดยการนำสิ่งที่เด็กชอบมาเป็นแรงดึงดูดใจให้เด็กอยากทำกิจกรรมขณะนี้ให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อจะได้ไปทำสิ่งที่ชอบมากกว่า  เช่น บอกว่า “มาเก็บของเล่นให้เสร็จกันดีกว่า แล้วจะได้ไปเล่นสนามเด็กเล่นกันนะคะ”

7. ใจเย็นๆ

ผู้ใหญ่ควรไม่ดุ บ่น หรือเร่งเด็ก เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากทำและต่อต้านได้ ที่สำคัญควรคอยให้กำลังใจรวมถึงชมเมื่อเด็กทำได้ หรือหากเด็กลงมือทำแล้ว แต่ผลงานยังไม่ดีเท่าที่ควรและเราอยากให้เด็กแก้ไข ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งด่วนตำหนิเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกแย่ หมดกำลังใจ ทำให้ต่อต้านได้ เราควรชมในความพยายามของเด็กก่อน แล้วค่อยๆ โน้มน้าวให้เด็กอยากแก้ไข จะทำให้เด็กอยากทำด้วยความเต็มใจ อีกทั้งเป็นการเสริมความมั่นใจ และฝึกความพยายามอีกด้วย

8. บอกตรงๆ

เวลาที่เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักตอบสนองด้วยการบอก “หยุด อย่า ห้าม ไม่” ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กมักจะทำในสิ่งที่เราห้ามหรือทำตรงข้ามกับสิ่งที่เราบอก ทั้งนี้บางครั้งเด็กไม่ได้ตั้งใจที่จะต่อต้าน เพียงแต่การแปลผลในสมอง มักจะแปลผลในสิ่งที่ง่าย คุ้นเคย เห็นภาพได้ชัดเจนก่อน ส่วนคำว่า “หยุด อย่า ห้าม ไม่”  ต้องใช้ความคิดในการประมวลผลอีกขั้นตอน รวมถึงการคิดหรือยังยั้งชั่งใจในเด็กก็มีน้อยกว่าผู้ใหญ ดังนั้น เมื่อเห็นลูกกำลังจะปีนโต๊ะ หากเราบอกว่า “อย่าปีนโต๊ะสิลูก” เด็กก็จะปีนไปก่อน เพราะเด็กคิดถึงภาพการปีนนำมาก่อนนั่นเอง สุดท้ายจึงลงเอยด้วย การที่คุณพ่อคุณแม่ต้อง ดุ บ่น ว่า ลงโทษเด็ก ส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กแย่ลง และเมื่อเด็กโดนว่าซ้ำๆ ว่าไม่ดีอย่างโน้น ไม่ดีอย่างนี้ สุดท้ายก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หากเราลองเปลี่ยนจากการพูดถึงสิ่งที่เราห้าม มาเป็นสิ่งที่อยากให้ลูกทำแทน เด็กส่วนใหญ่จะทำตามได้ง่ายขึ้นค่ะ เช่น แทนที่จะบอกว่า “อย่าปีน” อาจเปลี่ยนเป็น “มาเล่นกันตรงนี้ดีกว่าค่ะ” แทนที่จะบอกว่า “อย่าเท” อาจเปลี่ยนเป็น “ค่อยๆ เอาออกมาทีละอย่างนะคะ เพียงเท่านี้เด็กก็จะลดอาการต่อต้านลงได้มากเลยค่ะ

9. ไม่ควรอารมณ์เสีย กับคำว่า “ไม่”

โดยธรรมชาติของเด็กวัยนี้มักจะปฏิเสธไว้ก่อนอยู่แล้วค่ะ เพราะเป็นการทำให้เด็กรู้สึกว่าเค้าได้แสดงออกถึงความคิดของตัวเอง หากผู้ใหญ่มัวต่อล้อต่อเถียงคำว่า “ไม่” ของเด็ก จะยิ่งทำให้เราโมโหและจัดการเด็กได้ยาก วิธีการที่เราอาจจะตอบสนองคำว่า “ไม่” คือการบอกว่าเราเข้าใจเค้า เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวของเค้าได้รับการยอมรับ และทำตามได้ง่ายขึ้นค่ะ เช่น เมื่อเราบอกให้เด็กไปอาบน้ำ แล้วเด็กบอกว่า “ไม่อาบ” เราอาจจะบอกว่า “แม่เข้าใจว่าลูกยังไม่อยากอาบน้ำ แต่ถึงเวลาอาบแล้ว เราไปอาบน้ำกันนะคะ” การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่า เราเค้าใจเค้าที่เค้าไม่อยากอาบ แต่เราก็ยังไม่เสียระบบในการฝึกระเบียบวินัย ด้วยการยืนหยัดในสิ่งที่ต้องทำ และสุดท้ายเด็กอาจยอมทำตามได้โดยปราศจากการใช้อารมณ์ในการจัดการ

10.  ถึงตัว

การที่ผู้ใหญ่บอกให้เด็กทำอะไรบางอย่าง โดยที่เราอยู่ห่างจากเค้า เด็กอาจรู้สึกว่าเราไม่ได้จริงจัง และบางครั้งเด็กก็ไม่ทันได้ฟังผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่บอกซ้ำๆ แต่เด็กยังคงหูทวนลม อาจทำให้ผู้ใหญ่หงุดหงิดและลงเอยด้วยการใช้อารมณ์ได้ แต่หากเราเข้าไปพูดกับเด็กใกล้ๆ มองหน้า สบตา  แล้วบอกสิ่งที่เราอยากให้เค้าทำ เด็กจะรู้สึกว่าเราเอาจริง และจะยอมทำตามได้ง่ายขึ้นค่ะ หรือหากเราใช้วิธีการต่างๆแล้วยังไม่ได้ผล สุดท้ายเราอาจจับมือเด็กทำไปก่อน เพื่อเค้าจะได้รู้ว่าเราจริงจัง และอย่างไรเสียเค้าก็ต้องทำ เมื่อทำสม่ำเสมอเด็กก็จะทำตามง่ายขึ้นค่ะ เช่น เมื่อเด็กไม่ยอมเก็บของเล่น ให้ผู้ใหญ่ลองจับมือเด็กเก็บไปก่อน ซึ่งบ่อยครั้งที่หมอพบว่าการที่เราจับมือนำเก็บเพียงไม่กี่ชิ้น เด็กก็จะทำส่วนที่เหลือต่อจนเสร็จได้ด้วยตัวเองค่ะ

          แต่ละเทคนิคอาจเหมาะกับสถานการณ์หรือเด็กแต่ละคนต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ลองค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการเลี้ยงดูในครอบครัวดูนะคะ หากทำได้ก็จะช่วยให้การรบกับเจ้าตัวน้อยลดลง และช่วยให้ลูกๆ กลายเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิงตัวน้อยๆ ที่น่ารักของคุณพ่อคุณแม่ได้โดยไม่ยากเลยค่ะ


  เรื่อง แพทย์หญิงณัฐวรรณ จารุวรพลกุล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้