Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
บทความนี้ว่าด้วยเรื่อง รักวัวให้ผูก รักลูกไม่จำเป็นต้องตี (ตอนจบ)
ซึ่งในบทความแรกได้พูดถึงคำกล่าวโบราณที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" แต่ในยุคนี้แล้ว พ่อแม่มีวิธีอื่น ทางเลือกอื่นอีกมากมาย โดยไม่จำเป็นต้องตัดปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรงกับลูกเสมอไป และนอกจากจะหยุดพฤติกรรมไม่ดีของลูกได้แล้ว เรายังได้ฝึกให้เขาสามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ด้วยในอนาคต
วิธีการจากบทความแรกเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับพฤติกรรมไม่ดีของลูกเมื่อถูกขัดใจเท่านั้น แต่การจะทำแล้วได้ผลดียิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมวินัยเชิงบวกด้วย แนะนำทริคเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมดังนี้…
1. ผู้ใหญ่ในบ้านควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ เพราะเด็กจะดูผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างและทำตามค่ะ
2. สิ่งที่ควรมีควบคู่ด้วยตลอดในการปรับพฤติกรรมของเด็ก คือการมีเวลาคุณภาพ (quality time) นั่นคือการมีเวลาดี ๆ ที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขร่วมกันค่ะ สิ่งนี้จะทำเด็กมีความรู้สึกดีต่อคุณพ่อคุณแม่ยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่อยากทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจ เมื่อมีพฤติกรรมไม่ดีเด็กก็อยากแก้ไขเพราะ กลัวจะเสียเวลาดี ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ไป นอกจากนี้การมีเวลากับลูกจะยังทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักตัวตน อารมณ์ นิสัยใจคอและความสามารถของลูก ส่งผลให้เราเลี้ยงลูกได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ
3. การทำให้เด็กรู้ว่าเราเข้าใจเค้า เป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เด็กเปิดใจรับฟังเราค่ะ ดังนั้นก่อนเริ่มปรับพฤติกรรม เราควรทำให้เด็กได้รับรู้ว่าเราเข้าใจเค้าค่ะ เช่น “แม่เข้าใจนะคะ ว่าถ้าใครโดนเพื่อนมาแย่งขนมอออกไปจากมือก็คงต้องโกรธเป็นธรรมดาเน๊อะ”
4. ควรฝึกการเรียนรู้เรื่องและการควบคุมอารมณ์ ในเด็กที่ภาษาเริ่มมีมามากประมาณหนึ่ง เช่น อายุ 18 เดือนเป็นต้นไป โดยวิธีการคือ
เริ่มจากการให้เด็กรู้จักอารมณ์ในแบบต่างๆ ผ่านทางการดูรูปสีหน้า แล้วก็สอนเค้าว่าแบบนี้เรียกว่าอะไร หรือให้เด็กเลียนแบบสีหน้าอารมณ์ในแบบต่างๆ
เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจศัพท์เกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ เวลาที่ผู้ใหญ่รู้สึกอย่างไรให้บอกอารมณ์ของตัวเองให้เด็กได้รู้ เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ว่าเราสามารถใช้คำพูดเพื่อสื่อสารเรื่องอารมณ์ได้ เช่น “ แม่เสียใจนะที่หนูทำแบบนี้” “ พ่อภูมิใจในตัวหนูมากๆ เลยที่หนูช่วยเหลือคนอื่น” เป็นต้นค่ะ
เมื่อถึงเวลาที่เค้าสงบจากอารมณ์โมโหแล้ว ลองถามเด็กว่า “เมื่อกี้หนูรู้สึกยังไง” ถ้าเด็กยังบอกไม่ได้ ผู้ใหญ่อาจบอกให้ฟังก่อนเพื่อให้เค้าได้รู้ว่าควรจะบอกอย่างไรและสามารถบอกกับเราได้ในครั้งต่อๆไป หลังจากนั้นจึงค่อยๆ อธิบายเหตุผลในเรื่องราวที่เกิดขึ้นค่ะ
สำหรับในเด็กที่เข้าใจภาษาได้มากและคุยเก่ง ถามตอบได้ดีแล้ว เช่น อายุ 2-3 ปีขึ้นไป ควรเริ่มถามความเห็นของเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเราจะได้รู้วิธีการคิดของเค้า และเป็นการเปิดโอกาสให้เค้าได้พูดในสิ่งที่คิด ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สอดแทรกการสอนเหตุผลในสิ่งที่ทำให้เค้าโมโหหรือเสียใจ โดยมีหลักการคือ สอนให้มองในมุมมองของคนอื่น และสอนให้มองโลกในแง่บวกค่ะ เช่น “เอ… หนูคิดไม๊คะว่าเพื่อนเค้าอาจไม่รู้ก็ได้ว่าของเล่นอันนี้หนูเป็นเจ้าของ เค้าเลยหยิบไปให้คุณครู”
สอนวิธีจัดการอารมณ์โมโห เช่น บอกว่า “แม่รู้ว่าหนูโมโห แต่เวลาโมโหเรามีวิธีการอื่นที่ช่วยจัดการอารมณ์เราได้ โดยที่หนูไม่ต้องโวยวายหรือกระทืบเท้าเลย เช่น หนูอาจจะลองนับเลขไปเรื่อยๆ (พร้อมทั้งฝึกนับช้าๆ พร้อมกัน) หรือลองร้องเพลงที่หนูชอบ (พร้อมทั้งเลือกเพลงและฝึกร้องพร้อมๆกัน เมื่อเด็กทำได้ดีแล้วให้ฝึกร้องในใจเป็นลำดับถัดไปค่ะ) หรือลองหายใจเข้าออกลึกๆดูนะคะ (พร้อมทั้งฝึกหายใจด้วยกัน ...หายใจเข้า อึ้บบบบบ หายใจออกเอาตัวโมโหออกไป อึ้บบบบบ) เดี๋ยวคราวหน้าหนูลองดูนะคะ” (วิธีทีหมอแนะนำเลือกเพียงแค่วิธีการใดวิธีการหนึ่งก็เพียงพอแล้วค่ะ) หลังจากนั้นในครั้งต่อไปเมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าเด็กกำลังจะโมโห เราอาจเริ่มต้นช่วยให้เค้าคุมอารมณ์ตัวเอง โดยเริ่มทำพร้อมๆ กันก่อน จนเด็กเริ่มชิน ครั้งถัดๆ ไปเค้าจะเริ่มต้นทำเองได้ในที่สุดค่ะ และถ้าเค้าทำได้ อย่าลืมชมเค้าด้วยนะคะ เช่นบอกว่า “ หนูคุมอารมณ์ตัวเองเวลาโมโหได้ตามที่เราฝึกกันมาได้ หนูเก่งมากเลยนะคะ แบบนี้แปลว่าหนูเป็นเด็กใจเย็นแล้ว ขอแม่หอมให้รางวัลหน่อยนะคะ”
5. เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยกำลังซน อยากรู้อยากเห็นจึงเป็นโอกาสที่อาจทำให้โดนตำหนิได้บ่อย หมอแนะนำให้ใช้ประโยคที่พูดคุยกับเด็กส่วนใหญ่ควรจะเป็นแง่บวกมากกว่าแง่ลบ เพื่อลดอาการต่อต้านของเด็กและไม่ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเองค่ะ ตัวอย่าง เช่น ถ้าเด็กเล่นเตะบอลในบ้านเสียงดัง แทนที่จะบอกเด็กว่า “หยุดเดี๋ยวนี้ เตะบอลเสียงดัง บอกกี่ทีแล้วว่าอย่าเตะบอลในบ้าน น่ารำคาญมากเลย” อาจเปลี่ยนเป็นการชวนเด็กไปเล่นในที่ที่เหมาะสมหรือเปลี่ยนกิจกรรมแทนค่ะ เช่น บอกว่า “เราไปเตะบอลที่หน้าบ้านกันดีไม๊คะ” หรือ “ ในบ้านที่มันแคบ เตะบอลลำบากเน๊อะ เรามาเล่นต่อตัวต่อด้วยกันแทนดีไม๊คะ” เป็นต้นค่ะ
6. การสอนเด็ก เราไม่ควรใช้อารมณ์หรือการประชดค่ะ เพราะเด็กจะยิ่งมีอารมณ์หงุดงหงิดเพิ่มขึ้นได้หรือเด็กอาจกังวลกับการต้องจัดการอารมณ์ผู้ใหญ่ให้กลับมาสนใจตัวเอง ทำให้ไม่ได้ฝึกจัดการอารมณ์ตัวเองก่อน นอกจากนี้ การสอนเราควรพูดคุยกันในขณะที่เด็กและเราอารมณ์สงบ เพราะการที่เด็กสงบเด็กจะมีสติ ทำให้ ฟัง และคิดตามได้มากขึ้น สุดท้ายก็จะมีสมาธิจดจำเรื่องที่เราสอนได้ ทำให้ลดโอกาสการทำผิดในครั้งต่อไป ส่วนข้อดีของการที่เราสงบ คือ เราจะได้ไม่เผลอทำอะไรรุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อความรู้สึกของเด็กหรือทำให้เด็กฝังใจได้ รวมถึงเมื่อเด็กเห็นท่าทีที่สงบของเรา เด็กจะรู้สึกว่าเราอยากรับฟัง ไม่ใช่หาทางจะเอาเรื่องเค้า เด็กจะกล้าพูดความจริงมากขึ้น แต่หมอไม่ได้ห้ามไม่ให้คุณพ่อคุณแม่โมโหนะคะ เพราะการโมโหเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดกับคนทั่วไปได้ เพียงแต่เราควรรอให้อารมณ์สงบก่อนที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ค่ะ และเราสามารถใช้โอกาสนี้บอกความรู้สึกของเราต่อเหตุการณ์นั้นให้ลูกได้รับรู้ด้วยอารมณ์ที่สงบได้ค่ะ เช่น "ตอนนี้พ่อกำลังเริ่มโมโหแล้ว พ่อขอออกไปสงบสติอารมณ์ก่อนนะ แล้วเราค่อยมาคุยกัน" การทำแบบนี้ยังเป็นการสอนให้เด็กเห็นถึงการควบคุมอารมณ์ผ่านทางการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งทำให้เด็กทำตามได้ง่ายขึ้นอีกด้วยค่ะ
7. เราอาจถามอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ณ.ขณะนั้นก่อนว่าตอนนี้หนูรู้สึกกับเรื่องนี้ยังไง และถามเหตุผลที่ทำ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจลูกมากขึ้น ถ้าลูกเงียบ ไม่ยอมบอก หรือบอกด้วยเหตุผลที่เราคิดว่าไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง อาจเป็นเพราะเด็กยังไม่พร้อม เราอาจบอกว่า " พ่อเข้าใจ ว่าหนูอาจจะยังไม่พร้อมที่จะบอกตอนนี้ ไม่ว่าจะนานแค่ไหน พ่อก็ยังอยากรู้เหตุผลจากหนูอยู่ หนูสามารถบอกพ่อได้ตลอดเวลาที่พร้อมนะครับ แล้วเราจะช่วยกันหาทางแก้ไข"
8. เราสามารถเลือกวิธีลดหรือเลี่ยงการที่ลูกจะหงุดหงิดเพราะเราขัดใจเค้า โดยที่ไม่ต้องตามใจได้ค่ะ เช่น
การชมเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี เพื่อที่เค้าจะได้มีกำลังใจอยากทำในครั้งต่อๆ ไป เทคนิคการชมคือ ควรพูดพฤติกรรมที่เด็กทำดีควบคู่ไปด้วย เด็กจะได้รู้สึกว่าเราตั้งใจชมเค้าด้วยความจริงใจ และจำได้ว่าสิ่งไหนที่ดี ที่เค้าทำแล้วผู้ใหญ่ชอบค่ะ เช่น “หนูน่ารักมากเลยค่ะ ที่เล่นแล้วเก็บของเล่นด้วย”
การให้เด็กเลือกในขอบเขตที่กำหนด เช่น “หนูจะไปอาบนำ้กับพ่อหรือกับแม่ดีคะ” เด็กบางคนจะมัวแต่เลือกจนลืมที่จะต่อต้านการอาบน้ำไปเลยค่ะ
การทำให้สิ่งที่ต้องทำเป็นเรื่องที่สนุกขึ้น เช่น “หนูจะเอาตุ๊กตาพี่หมีหรือพี่หมาไปอาบนำ้ด้วยดีคะ”
เล่านิทานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีให้เด็กฟัง เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง การสอนผ่านนิทานอาจทำให้เด็กจดจำและอยากทำหรือไม่ทำได้มากกว่าการสอนแบบปกติค่ะ
เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือตัวเองตามวัยให้มากที่สุด รวมถึงการฝึกระเบียบวินัย เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การยอมรับผลของการกระทำ และฝึกความรับผิดชอบ ส่งผลให้เด็กมีการควบคุมตัวเองรวมถึงอารมณ์ได้ดีขึ้นค่ะ
9. หากลูกมีพฤติกรรมไม่ดีซ้ำๆ ทั้งๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีต่างๆ จนหมดหนทางแล้ว อย่าลืมคิดหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กหงุดหงิดง่ายหรือมีพฤติกรรมไม่ดีบ่อยๆ ด้วยค่ะ เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่เห็นอาจเป็นสิ่งที่อยู่ปลายเหตุแล้ว เช่น การที่เด็กรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาให้ การอิจฉาน้อง การถูกแหย่หรือแกล้งบ่อยๆ หรือการเห็นตัวอย่างที่ไม่ดีในชีวิตประจำวัน เป็นต้นค่ะ
10. ไม่มีการเลี้ยงดูหรือการสอนที่เป็นแบบแผนเดียวกันที่จะใช้ได้กับเด็กทุกๆ คน แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองค่อยๆ ปรับวิธีการในบทความนี้ไปใช้ตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละครอบครัวค่ะ แต่หากทำแล้วไม่ได้ผลหมอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
19 พ.ค. 2566
26 เม.ย 2566
6 เม.ย 2566