Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
โดยปกติแล้วการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการดูแลในเรื่องโภชนาการสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่หากพบว่าพฤติกรรมการกินอาหารประจำวันของคุณแม่ อาจเป็นผลให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นบางอย่างไม่เพียงพอ อาหารเสริมก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาเองว่า ร่างกายของคุณแม่ควรจะได้รับวิตามินเสริมหรือไม่ ชนิดใด ในปริมาณเท่าไหร่ เนื่องจากความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การกินวิตามินเสริมมีประโยชน์บางกรณีเท่านั้น เช่น คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก กินอาหารไม่ได้มากเท่าที่ควร วิตามินที่คุณหมอให้จะช่วยลดการขาดอาหารที่จำเป็น และช่วยเพิ่มสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นมาทดแทน
อย่างไรก็ตาม การกินวิตามินและแร่ธาตุในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นถึงกับต้องให้ครบถ้วนในหนึ่งมื้อหรือหนึ่งวัน แต่ใช้วิธีกินสลับกันไปตามความต้องการของพัฒนาการทารกในครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว ยาวิตามินบำรุงครรภ์ที่แพทย์มักจะสั่งให้หญิงตั้งครรภ์กินมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ดังนั้นการเลือกชนิดของยาโดยพิจารณาถึงส่วนประกอบที่มีในยาเม็ดนั้นๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณได้ประโยชน์คุ้มค่าจากการกินยา 1 เม็ด
ส่วนประกอบที่ควรจะมีในยาบำรุง 1 เม็ด ควรมีดังนี้คือ
1.วิตามินเอในปริมาณ 4,000-5,000 หน่วยไม่ควรเกิน 8,000 หน่วย
2.กรดโฟลิก 1 มิลลิกรัม (800-1,000 ไมโครกรัม)
3.วิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่กำหนดว่าหญิงตั้งครรภ์ควรกิน ได้แก่ วิตามินซี, ดี และวิตามินบี กลุ่มไนอาซิน กรดแพนโททีนิก ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสี แร่ทองแดง (ธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดง มีความจำเป็นต่อการดูดซึมสารอาหารเหล็กไปใช้ประโยชน์)
4.วิตามินบี กลุ่มบี 1 บี 2 บี 6 และบี 12 ส่วนมากจะมีปริมาณมากกว่ามาตรฐานกำหนดเท่าครึ่งถึง สามเท่าตัว แต่ปริมาณที่มากเกินกำหนดในยาเม็ดเหล่านี้ไม่มีอันตรายอะไร
5.ธาตุแคลเซียม 250 มิลลกรัม และแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม (ในกรณีที่ได้รับยาที่มีธาตุแคลเซียม และแมกนีเซียมจะรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็ก ดังนั้นการกินยาที่มีแคลเซียมควรเว้นให้ห่างจากยาที่มีธาตุเหล็ก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้)
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567