Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการลูกในครรภ์
ชั้นไขมันที่สะสมบริเวณแก้ม ไม่เพียงทำให้เจ้าหนูดูหน้าเต็มกลมขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังทำให้กล้ามเนื้อปากมีแรงพอที่จะดูดนมจากเต้าของคุณได้แล้วล่ะ ถึงตอนนี้เจ้าหนูควรจะเอาส่วนหัวลงมาอยู่ที่บริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมตัวคลอดได้แล้ว ถ้าเขายังไม่อยู่ในท่าเตรียมพร้อมนี้ คุณหมอคงบอกให้คุณเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการคลอดที่เหมาะสมสำหรับคุณ
ระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าตัวน้อยยังไม่สมบูรณ์ดีนัก ตอนนี้เขายังอาศัยสารแอนตี้บอดี้จากคุณ ซึ่งจะซึมผ่านผนังกั้นรก เข้าสู่กระแสเลือดของเขาเพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคชั่วคราว หลังคลอดหนูน้อยยังคงอาศัยสารแอนตี้บอดี้ที่มีอยู่ในน้ำนมของคุณ จนกว่าระบบภูมิคุ้มกันของเขาจะเจริญเต็มที่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนหลังจากที่เขาคลอดออกมาแล้ว
รู้ไหมว่า: การกินน้ำตาลเพียง 80 กรัม ส่งผลให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวลดลง 50% เป็นเวลา 1-5 ชั่วโมง นอกจากนี้การกินอาหารคุณภาพต่ำก็มีส่วนทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
ในเดือนนี้ คุณหมอคงนัดตรวจคุณถี่ขึ้นเป็นทุกอาทิตย์ เพื่อตรวจดูว่าปากมดลูกบางตัวลง หรือมีการขยายตัวบางหรือยัง ถ้าหากคุณพบว่าระดูขาวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และบางครั้งมีของเหลวลักษณะเป็นเมือกใสไหลปนออกมาด้วย นี่เป็นสัญญาณเริ่มแรกที่บอกว่าร่างกายของคุณมีการเตรียมพร้อมสำหรับการเจ็บท้องคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้แล้ว ไม่เกินสัปดาห์จุกเมือกที่ปากมดลูกจะลอกตัวหลุดออกมา (อาจเป็นไปได้ที่จุกเมือกนี้จะหลุดช่วง 2-3 วัน หรือ 2-3 ชั่วโมงก่อนที่จะมีอาการเจ็บท้องคลอด)
สารอาหารจำเป็น
วิตามินเค: ช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็ว ป้องกันอาการเลือดออกมากผิดปกติ และช่วยสมานแผลบริเวณที่มีรกเกาะ ปกติร่างกายสามารถสร้างวิตามินเคได้เองจากในลำไส้ แต่ลำไส้ของทารกยังไม่สามารถสร้างได้เอง จึงต้องดึงวิตามินเคจากคุณแม่โดยผ่านทางรก และน้ำนมแม่ภายหลังคลอดออกมาแล้ว
แหล่งอาหารที่พบ: ผักกาดหอม บล็อคเคอลี ถั่ว ผักโขม อโวกาโด และดอกกะหล่ำ
สังกะสี: ยังคงเป็นสารอาหารที่สำคัญ โดยช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูหลังคลอด
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเลทุกชนิด เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี จมูกข้าวสาลี และถั่วเหลือง
แคลเซียม: และแมกนีเซียม ช่วยให้การบีบรัดตัวของมดลูกทำงานได้เต็มประสิทธิภาพขณะคลอด
แหล่งอาหารที่พบ: เนยแข็ง นม ผักชีฝรั่ง เมล็ดพืช คะน้า ลูกเกด ถั่วฝักสด ถั่วเปลืองแข็ง
คาร์โบไฮเดรต: ช่วงใกล้คลอด การกินอาหารอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อการคลอด ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกหิว และร่างกายไม่มีแรง ให้ดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน (มักมีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส และมัลโทเด็กซ์ตริน) แทน เครื่องดื่มชนิดนี้จะให้ผลเหมือนอาหารที่เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นกัน
วิตามินบี 1: แม้ 2 เดือนที่ผ่านมา คุณจะพยายามกินคาร์โบไฮเดรตไปมากแค่ไหนก็ตาม หากขาดวิตามินบี 1 ร่างกายก็ไม่สามารถเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงานได้
แหล่งอาหารที่พบ: เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปัง ข้าว ซีเรียล เนื้อหมู ตับ
โปรตีน: จะช่วยสร้าง และซ่อมแซมเซลล์กล้ามเนื้อ อวัยวะ เนื้อเยื่อ ซึ่งคุณแม่ได้สูญเสียไปในระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการผลิตเอนไซม์ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างพลังงาน
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อสัตว์ ปลา ถั่วอบแห้ง
9 ต.ค. 2567
14 พ.ย. 2567