สารอาหารเสริมพัฒนาการครรภ์ – เดือนที่ 7

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

พัฒนาการลูกในครรภ์
เจ้าหนูของคุณดูจ้ำม้ำขึ้นเยอะเชียว ตอนนี้เขามีน้ำหนักรวมประมาณ 1,100 กรัม ยาว 25 ซม. มีกล้ามเนื้อครบทุกมัด ไขกระดูกของเจ้าหนูทำหน้าที่ในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงอย่างเต็มกำลัง ชั้นไขมันเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าหนูของคุณดูจ้ำม้ำขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่เขาภายหลังจากคลอดอีกด้วย 

ศีรษะของทารกเริ่มได้สัดส่วนกับขนาดลำตัวทั้งหมด ดวงตาของเจ้าหนูมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ลูกนัยน์ตาเริ่มกลอกไปมาอยู่ภายในเบ้าตา และเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกลางวันกลางคืนได้แล้ว แม้โลกใบเล็กภายในมดลูกจะคับแคบ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการขยับแข้งขายืดเส้นสายของเจ้าหนูเลย คุณอาจรู้สึกถึงแรงเตะ แรงถีบของเขาบ้าง บางครั้งอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออกบ้าง แต่นั่น.. ก็เป็นสัมผัสที่สื่อถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ 

ตอนนี้สมองเริ่มทำหน้าที่ควบคุมการหายใจในขั้นต้นได้แล้ว แม้ว่าปอดจะยังมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ดีนัก แต่ก็สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้ามาฟอกเลือดได้บ้าง เจ้าหนูจะเริ่มทดลองหายใจด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอด โดยการเคลื่อนไหวกระบังลมในท้องเป็นจังหวะ กิจกรรมนี้อาจทำให้เขาเผลอหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปด้วย จนทำให้ต้องสะอึกเบาๆ 

การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
ช่วงปลายเดือนนี้ คุณจะสัมผัสได้ถึงแรงบีบจากการหดรัดตัวของมดลูกเป็นพักๆ แรงบีบนี้ไม่ทำอันตรายใดๆ แก่ทารกในครรภ์ ตรงกันข้ามการหดรัดตัวของมดลูกเหมือนเป็นแรงบีบนวดให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายขึ้นจากการที่ต้องอุดอู้อยู่ในที่แคบๆ ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องเป็นกังวลไป ยกเว้นแต่ว่าแรงบีบนั้นทำให้คุณรู้สึกเจ็บมาก หรือมีแรงบีบติดต่อกันเกิน 4 ครั้งภายในหนึ่งชั่วโมง นี่อาจเป็นสัญญาณว่าการคลอดก่อนกำหนดอาจเกิดขึ้น คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

สารอาหารจำเป็น
วิตามินบี 1: ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งโดยมากเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างเต็มที่ของเจ้าหนูในท้อง ในครั้งนี้คุณจะรู้สึกอ่อนล้ามากกว่าเดิม วิตามินบี 1จะช่วยให้เซลล์ในร่างกายแปลงคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน เพื่อที่คุณจะมีกำลังมากขึ้น

แหล่งอาหารที่พบ:  เนื้อหมู ตับ เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี หรือผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ขนมปัง ข้าว ซีเรียล 

โคเอนไซม์คิวเท็น:  ช่วยให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้น และช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อนำออกซิเจนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แหล่งอาหารที่พบ:  เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่วเหลือง ผักโขม บรอกโคลี ลิ้นจี่ มะขามเทศ มะละกอ มะปราง และผักสด

โคลีน: สารอาหารที่จำเป็นในการส่งสัญญาณระหว่างกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เพื่อให้กลไกของร่างกายสร้างพลังงานออกมา

แหล่งอาหารที่พบ:  ไข่ ปลา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วฝักสด

รู้ไหมว่า:  ในการสร้างพลังงานร่างกายต้องอาศัยเอนไซม์บางชนิดในการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงาน เอนไซม์เหล่านี้ มีอยู่ในวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินบีต่างๆ วิตามินซี ธาตุเหล็ก โคลีน แคลเซียม และแมกนีเซียม โครเมียม โคเอนไซม์คิวเท็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้