Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการในครรภ์
พัฒนาการของเส้นประสาท และระบบกล้ามเนื้อที่ค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้น จนสามารถทำงานประสานกันได้ดี ทำให้เขาสามารถควบคุมการขยับแขนขาได้ดีขึ้น การสื่อสารกับลูกน้อย ด้วยการเล่น หรือพูดคุยกับเขา และเฝ้าสังเกตการตอบสนองจากการสัมผัสความเคลื่อนไหวของเขา จะช่วยให้คุณกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมระบบประสาทให้พัฒนาได้มากขึ้นกว่าเดิม
ผิวหนังที่โปร่งใส ทำให้มองเห็นการไหลเวียนของเส้นเลือดได้ชัดเจน ในเดือนนี้ ร่างกายของเจ้าหนูจะเริ่มสร้างขนเล็กๆ บนผิวหนัง พร้อมๆ สร้างไขมันใต้ผิวหนัง ประมาณไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ชั้นไขมันนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้อง และสร้างความอบอุ่นให้กับทารกก่อนคลอด
พัฒนาการของรกสมบูรณ์ขึ้นในเดือนนี้ จำนวนเส้นเลือดในรกเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันเส้น เพื่อเร่งขนเอาอาหาร และออกซิเจนมาเสริมพัฒนาการทารก โครงสร้างกระดูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ลายนิ้วมือเริ่มปรากฏให้เห็น กระดูกหูชั้นในเริ่มก่อตัว พร้อมๆ กับปลายประสาทที่เชื่อมต่อกับสมอง ปลายเดือนนี้ เจ้าหนูของคุณจะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ และเสียงการไหลเวียนของเลือดภายในตัวคุณ ดวงตาของเจ้าหนูพัฒนาจนถึงขั้นรับรู้ถึงแสงสว่างที่ส่องผ่านเข้ามาในท้องของคุณ ใบหน้าเล็กๆ สามารถแสดงสีหน้าเพื่อบ่งบอกความรู้สึกได้แล้ว
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้น เริ่มส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกายของคุณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณเลือดจำนวนมากไหลไปหล่อเลี้ยงบริเวณหน้าอก ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนมองเห็นเส้นเลือดชัดเจน หัวนมมีสีดำเด่นชัด เช่นเดียวกับเส้นกลางท้องมีสีเข้มขึ้น ช่วงนี้ หัวใจของคุณจะมีการสูบฉีดเลือดมากกว่าเดิมถึง 20% เพราะจำนวนเส้นเลือดในรกที่เพิ่มปริมาณขึ้น ทำให้ช่องทางในการส่งถ่ายเลือดให้กับเจ้าหนูสะดวกมากขึ้นนั่นเอง รูปร่างที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เสื้อผ้าชุดเดิมเริ่มคับลงจนคุณรู้สึกอึดอัด เมื่อประกอบกับอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย ทำให้คุณพาลหงุดหงิดจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ คงถึงเวลาที่คุณจะต้องไปเดินหาซื้อชุดหลวมๆ มาใส่แล้วล่ะ
รู้ไหมว่า: หน้าท้องที่ขยายใหญ่ ทำให้คุณเริ่มมีปัญหากับการนอนขึ้นมาบ้างแล้ว ท่านอนที่สบายที่สุดสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ได้แก่ ท่านอนตะแคง เพราะน้ำหนักท้องจะตกลงที่พื้น ไม่กดเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ป้องกันเลือดคั่ง และข้อต่อต่างๆ โก่งงอ ยิ่งถ้าใช้หมอนสอดใต้เข่าระหว่างขา จะยิ่งทำให้นอนสบายขึ้นในท่าใช้หมอนข้างหนุนเท้าไว้
สารอาหารจำเป็น
วิตามินซี: นอกจากจะช่วยให้กระดูก และฟันของทารกแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดไขมันที่มีสภาพเป็นกลางในเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก สำหรับตัวคุณแม่เอง วิตามินซีจะช่วยให้คอลาเจนรวมตัวกันได้ดี ทำให้เซลล์ยึดติดกันเหนียวแน่น ทำให้ผิวหนังของคุณมีความยืดหยุ่นสูง ช่วยลดการแตกลายของผิวหนังลง และกลับคืนเป็นปกติอย่างสมบูรณ์หลังคลอด
แหล่งอาหารที่พบ: นอกจากผลไม้รสเปรี้ยวแล้ว วิตามินซียังมีมากในผักกะหล่ำปลีด้วย แต่ในระยะนี้ คุณควรจำกัดปริมาณการบริโภคกะหล่ำปลีลง หรืองดกินดิบๆ เพราะมันมีสารยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์
ไบโอติน: ช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และดูดซึมกรดไขมัน มีส่วนช่วยถนอมผิวพรรณ และยังมีความสำคัญต่อระบบประสาทด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: ไข่, ตับ, ยีสต์ ขนมปัง และซีเรียล
วิตามินบี 1: จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นอาหารต่อระบบประสาท และยังช่วยปกป้องคุณจากโรคเหน็บชา อันเนื่องมาจากน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้น และไปกดทับเส้นเลือดของคุณ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดติดขัด
แหล่งอาหารที่พบ: มีมากในธัญพืช ข้าวกล้อง เนื้อวัว หรือเนื้อหมู เต้าหู้ ถั่วหมัก งา กระเทียม
วิตามินเอ: ช่วยให้ผิวหนังของทารกพัฒนาหนาขึ้น ช่วยในการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ การสร้างลูกตา สร้างเยื่อหุ้มเซลล์ให้แข็งแรง
แหล่งอาหารที่พบ: วิตามินเอที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนังจะอยู่ในรูปของ “แคโรทีน” ซึ่งมีอยู่ในแครอท ผักใบเขียวเหลือง เนย ฟักทอง ส่วนวิตามินเอที่มีอยู่ในตับเป็น “เรตินอล” ซึ่งเป็นสารสำคัญในการสร้างเยื่อนัยน์ตา แต่ถ้าบริโภคเป็นจำนวนมากอาจส่งผลให้ปริมาณไขมันในเส้นเลือดสูงขึ้นได้
โปรตีน: เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่มากที่สุด เนื่องจากโปรตีนจะช่วยสร้างและซ่อมแซมเซลล์กล้ามเนื้อ อวัยวะ เนื้อเยื่อ ผม และผลิตเอนไซม์ เพื่อช่วยเรื่องการเผาผลาญอาหาร แต่เนื่องจากระดับโปรตีนที่มากเกินก็มีส่วนเข้าไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมได้เช่นกัน ดังนั้นคุณควรบริโภคอาหารที่มีโปรตีนในสัดส่วนที่มากกว่าแคลเซียมในช่วงสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์ และเร่งสัดส่วนของแคลเซียมให้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่สามเป็นต้นไป
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อสัตว์, ปลา และถั่วอบแห้ง
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567