Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการลูกในครรภ์
หลังประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณประมาณ 14 วัน ไข่ใบหนึ่งในรังไข่จะสุกและหลุดออกสู่ท่อรังไข่เพื่อรอคอยการปฏิสนธิกับอสุจิตัวแรกที่เดินทางมาถึง หลังการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเดินทางต่อไปยังมดลูก เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เซลล์ไข่หลังปฏิสนธิจะฝังตัวติดกับเยื่อบุผนังมดลูก สถานที่ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารแรกของเจ้าตัวน้อย
2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ขนาดเท่าเม็ดทราย จะพัฒนาจนกลายเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดเท่าหัวเข็มมุด ถึงตอนนี้กลุ่มเซลล์ตัวอ่อนจะแตกตัวออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะพัฒนาต่อไปเป็นรก อีกส่วนหนึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นตัวลูกน้อยของคุณนั่นเอง!
เซลล์ตัวอ่อนจะยังคงแบ่งตัวเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับกำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ปลายสัปดาห์ที่ 4 เซลล์ตัวอ่อนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นในสุดจะพัฒนาไปเป็นอวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด และระบบย่อยอาหาร ชั้นกลางพัฒนาไปเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ ไต อวัยวะเพศ และหัวใจ ส่วนด้านนอกสุดจะพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อ ผิว ผม ตา และระบบประสาท
เซลล์สมอง ถือเป็นส่วนที่มีพัฒนาการรวดเร็วในลำดับต้นๆ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาจากเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของตัวอ่อน เป็นส่วนสมอง และท่อไขกระดูก ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมเส้นประสาททั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
หลังการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะปล่อยฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมาเพื่อบ่งการให้ภายในร่างกายของคุณมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมสภาวะแวดล้อมให้พร้อมต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน หน้าอกจะขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และบางครั้งคุณอาจรู้สึกเจ็บๆ ที่บริเวณนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งอาการสัญญาณเตือนให้รู้ว่าชีวิตใหม่กำลังก่อกำเนิดขึ้นภายในตัวคุณ นอกจากนี้คุณอาจรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจี หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
สารอาหารจำเป็น
กรดโฟลิค: เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำได้ มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวที่ดี เป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองและหลอดประสาทให้สมบูรณ์ และทำงานร่วมกับวิตามินบี 12 สร้างฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง หากขาดกรดโฟลิคในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ จะมีผลให้สมองเกิดความผิดปกติ คือ ไม่มีกระโหลกศีรษะ และสมอง หรือโรคไขสันหลังเปิด คือ มีปมประสาทโผล่ที่ไขสันหลัง ในขั้นรุนแรงทารกจะตายในครรภ์ หรือหลังคลอด ถ้าไม่รุนแรง ทารกจะมีความพิการไม่สามารถเดินได้ ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้
แหล่งอาหารที่พบ: ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว น้ำผลไม้ ตับ ขนมปัง ข้าวสาลี และธัญพืช
โปรตีน: เป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์เนื้อเยื่อใหม่ๆ ให้กับร่างกาย ดังนั้น ในช่วงตั้งครรภ์ คุณควรได้รับโปรตีนอย่างน้อย 60 กรัมต่อวัน การขาดโปรตีนในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์จะมีผลให้ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตที่ช้า และมีผลต่อความสมบูรณ์ของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อไม่ติดมัน, ปลา, เป็ดไก่, ไข่ขาว, พืชตระกูลถั่ว, เนยถั่ว และ
แคลเซียม: แม้เซลล์เนื้อเยื่อกระดูก และฟัน จะมีพัฒนาการไม่เด่นชัดนักในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ แต่ถึงกระนั้น คุณยังจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมนับตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสะสมแคลเซียมในปริมาณที่มากพอ เนื่องจากแคลเซียมเป็นสารหลักที่ทารกใช้ในการสร้างกระดูก และฟัน ดังนั้น ทันทีที่โครงสร้างกระดูกเริ่มมีการพัฒนาขึ้นในสัปดาห์ที่ 8 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะดึงเอาแคลเซียมจากตัวคุณมาใช้ในปริมาณมาก หากแคลเซียมในตัวคุณมีไม่มากพอ จะทำให้ทารกมีปัญหากระดูกอ่อน เพราะมีมวลกระดูกน้อยเกินไป
แหล่งอาหารที่พบ: นม, ชีส, โยเกิร์ต, ปลาซาร์ดีน หรือแซลมอน พร้อมกระดูก และผักโขม
ธาตุเหล็ก: มีส่วนสำคัญในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนที่จะนำเอาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ธาตุเหล็กจะช่วยให้ร่างกายของคุณมีปริมาณเลือดมากพอที่จะถ่ายเทไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างต่อเนื่อง หากคุณได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไป จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยอ่อนได้ง่าย และอาจเสี่ยงต่อโรคโลหิตจางได้เนื่องจากเลือดในร่างกายถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยในครรภ์
แหล่งอาหารที่พบ: เนื้อแดง, ผักโขม, ขนมปัง และธัญพืช
9 ต.ค. 2567
14 พ.ย. 2567