Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
แม้โลกแห่งจินตนาการ จะทำให้ลูกของคุณสับสนจนบางครั้งถึงกับมีพฤติกรรมกลัวในสิ่งที่ไม่ควรจะกลัวไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายซะทีเดียวนัก เพราะความจริงแล้ว นี่คือพัฒนาการของการเรียนรู้อีกขั้นหนึ่งของเด็กวัยนี้นั่นเอง เรียกว่าเป็นแบบฝึกหัดของการก้าวสู่ความกล้าเก่งที่คุณจะช่วยให้เขาเลื่อนขั้นไปสู่แบบทดสอบบทใหม่ที่จะค่อยๆ พัฒนาความเชื่อมั่นของเขาให้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
คุณสามารถแปรเปลี่ยนจินตนาการแห่งความกลัว มาเป็นเทคนิคการสร้างเสริมความกล้าเก่งให้กับลูกน้อยได้อย่างสร้างสรรค์ ลองนำเทคนิคด้านล่างนี้ไปใช้ดูนะคะ
1.ให้เขานึกดูว่า อะไรบ้างที่ทำให้เขารู้สึกกลัว โดยให้เขาเรียงลำดับจากเรื่องที่กลัวมากที่สุดไปจนถึงกลัวน้อยที่สุด คุณควรให้เขาเป็นผู้จดรายการเหล่านี้ด้วยตัวเอง เขาอาจยังไม่สามารถเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือได้ แต่สามารถวาดภาพจากจินตนาการแล้วระบายสีเองได้ โดยคุณอาจเป็นลูกมือช่วยจดเป็นรายละเอียดสั้นๆ กำกับไว้ด้วยก็ได้
2. ในช่วงระหว่างที่เขากำลังนึกลำดับรายการเรื่องที่รู้สึกกลัวอยู่ ให้คุณคอยถามกำกับด้วยว่า ทำไมเขาถึงรู้สึกกลัวในสิ่งนั้น เช่น กลัวความมืด เขาอาจจะบอกเหตุผลคุณว่า เพราะเขามองไม่เห็นอะไรในความมืด และคิดว่ามีอะไรสักอย่างจ้องทำร้ายเขาอยู่ในความมืดนั้น อ้อ! อย่าลืมจดบันทึกไว้สั้นๆ ในหัวข้อความกลัวนั้นด้วยล่ะ
3. เมื่อเขียนรายการเรื่องที่กลัวมากที่สุด ไปจนถึงน้อยที่สุดเสร็จแล้ว ทีนี้ ให้เขาลองนึกดูอีกครั้งว่าเขามีวิธีกำจัดความรู้สึกนั้นได้อย่างไร คราวนี้ให้เริ่มจากลำดับความกลัวที่น้อยที่สุด ไปจนถึงลำดับความกลัวที่มากที่สุด โดยใช้วิธีการเดิมในการจดบันทึก คือให้เขาเป็นผู้วาดรูปตามจินตนาการของตัวเองในการพิชิตความกลัวนั้นในวิธีที่ได้บอกกับคุณไว้ โดยคุณจะใส่ข้อความสั้นๆ ช่วยกำกับไว้ให้อีกที
4. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพิชิตความกลัวในแต่ละลำดับขั้น โดยให้เรียงจากเรื่องความกลัวน้อยที่สุด มายังเรื่องที่กลัวมากที่สุด โดยให้เขาเป็นผู้กำหนดด้วยตัวเอง และทำตารางตรวจเช็กความคืบหน้าขึ้นมาเอง โดยมีคุณเป็นลูกมืออยู่ข้างๆ
คุณอาจช่วยเจ้าหนูอีกแรงด้วยการกำหนดของรางวัลให้กับเขา ถ้าหากเขาประสบความสำเร็จในการพิชิตความกลัว โดยเลือกของรางวัลที่มีความเกี่ยวข้องกับความกลัวของเขาด้วย เช่น ดาวเรืองแสง โคมไฟพระอาทิตย์ สำหรับการพิชิตความรู้สึกกลัวความมืดได้สำเร็จ เป็นต้น
23 ส.ค. 2567
19 พ.ค. 2566