Last updated: 20 ก.พ. 2566 |
ทุกวันนี้ความเครียดไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะเด็กๆ เขาก็เครียดเป็นเหมือนกัน หากแต่จะแตกต่างกันที่สาเหตุของความเครียดเท่านั้น
พฤติกรรมของเด็กที่มีภาวะเครียด
· ดื้อ ต่อต้าน
· ก้าวร้าว
· ไม่มีสมาธิ
· นอนไม่หลับ
· ฝันร้าย
· มีปัญหาการกิน
· พัฒนาการถดถอย
· ติดแม่
· ติดเพื่อน
· กัดเล็บ ดึงผมตัวเอง
· ไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนตก
· เข้ากับเพื่อนไม่ได้
· เถียงพ่อแม่
จากการวิจัยพบว่า ร้อยละ 5-10 ของกลุ่มโรควิตกกังวลและซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด ที่พบในเด็ก ส่วนมากจะพบว่าเป็นความเครียดที่เข้าสู่ระดับกลางถึงรุนแรง แต่ถ้าเป็นความเครียดธรรมดาทั่วไป พบได้มากถึง ร้อยละ 20-30
ระดับความเครียดของเด็ก
สามารถแบ่งอาการออกได้ 3 ระดับ
ระดับที่ 1 เด็กอาจเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบกับผลการเรียน และไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง
ระดับที่ 2 เริ่มรุนแรงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
ระดับที่ 3 ถือเป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีพละกำลัง
สาเหตุความเครียดของเด็ก
1. ครอบครัว บางครั้งที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถูกตำหนิบ่อยๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ นานไปเด็กก็ซึมซับ เกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถตัดความคิดนี้ออกไปได้
2. การเลี้ยงดูและความคาดหวัง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กบางคนที่พ่อแม่จริงจังเรื่องเรียนหรือสอบแข่งขันมาก ต้องแบกรับความคาดหวังของทั้งพ่อแม่และครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เด็กเกิดความกดดัน พ่อแม่ที่เครียดก็ส่งผลให้เด็กเครียดด้วย
3. โรงเรียน ก็มีส่วนทำให้เด็กเครียดได้เช่นกัน ครูดุ เข้มงวดเกินไป ลงโทษรุนแรง การบ้านเยอะ เด็กบางคนถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย ก็เกิดความวิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รัก
4. การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น เปิดเทอม ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน พ่อแม่เลิกรากัน สูญเสียคนหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก ภัยอันตรายต่างๆ ทำให้เด็กบางคนที่มีพื้นอารมณ์วิตกกังวลง่าย ไวต่อการกระตุ้น อ่อนไหว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ในเด็กบางคน ก็เพราะอยากหนีออกจากความเครียดในใจ
จะทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด
ไม่กดดันเรื่องการเรียน
เน้นพูดคุย ไม่ดุ ไม่ตำหนิ ไม่ตี
เข้าใจและมีเวลาให้
สุดท้าย พ่อแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะคะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ เพียงแค่หมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการเข้าไปพูดคุยหรือรับฟังความคิดเห็นรวมถึงพยายามแสดงความเป็นห่วงและเข้าใจลูก แล้วพวกเขาก็จะรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขามากขึ้น
::: อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลมนารมย์