ปรับความเข้าใจกับลูกอย่างไร เมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัว

Last updated: 28 ก.ย. 2565  | 

การทะเลาะกัน ขัดใจกัน ระหว่างพ่อแม่และลูกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกครอบครัว โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดจากพ่อแม่ที่ตั้งความหวังกับลูกไว้สูง ขณะที่ลูกก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูงเช่นกัน

สาเหตุของความขัดแย้ง

  การเข้าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวหรือพื้นที่ส่วนตัวของลูกมากเกินไป 

สำหรับเด็กเล็กเขาอาจยังไม่รู้จักพื้นที่ส่วนตัวนี้ พ่อแม่ต้องระวังและไม่ควรมีพื้นที่ส่วนตัวแยกออกจากเขา โดยเฉพาะในวัยที่ควรสอนให้รอ เคารพ หรืออดทน แต่ถ้าลูกโตพอที่จะมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง พ่อแม่ก็ควรเคารพพื้นที่ส่วนตัวของเขาแล้ว และสอนให้เขาเคารพพื้นที่ของคนอื่นด้วยเช่นกัน สำหรับลูกวัยรุ่น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวอย่างมาก 

  การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่กับลูก

หลายครั้งที่พ่อแม่ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสาร ทำให้ตีความหมายผิดไป คุณพ่อคุณแม่จึงต้องทำความเข้าใจกับลูกให้มากขึ้นเพื่อเข้าใจความต้องการของเขาอย่างแท้จริง งดการใช้อารมณ์เด็ดขาด

  เมื่อลูกถูกพ่อแม่กำหนดขอบเขต

พ่อแม่ต้องแสดงขอบเขตทั้งในบ้านและนอกบ้าน ให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจน สิ่งไหนควรทำ สิิ่งไหนไม่ควรทำ และเมื่อลูกทำเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ พ่อแม่ไม่ควรละเลยเพียงเพราะไม่อยากทะเลาะกับลูก แต่ควรพูดตักเตือนลูกด้วยวิธีที่ประนีประนอม อย่างเช่น ลูกงอแงจะกินขนมแทนข้าว คุณไม่ควรพูดว่า ไม่ได้... ห้าม... อย่า... ถ้าควรพูดว่า แม่รู้ว่าหนูอยากกินขนม หนูจะได้กินขนมแน่นอน แต่หนูต้องกินข้าวก่อนนะจ๊ะ

How to การปรับความเข้าใจ 

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่เกิดจากพ่อแม่ การคลี่คลายหรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พ่อกับแม่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซัง ไม่อย่างนั้นรอยร้าวเล็ก ๆ อาจกลายเป็นแผลเป็น ทำให้คนในครอบครัวห่างเหินกันได้ในที่สุด วิธีที่จะช่วยให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงมีดังนี้

1. เปิดใจคุยกัน

คุณต้องเข้าไปหาลูกแบบแมน ๆ เปิดประเด็นไปเลยว่าคุณอยากจะปรับความเข้าใจกับลูก ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และในระหว่างการพูดคุยปรับความเข้าใจ คุณควรแสดงความเป็นกันเอง ไม่ได้มาบังคับ หรือบีบคั้นลูก นั่งสนทนาในระดับเดียวกัน ทำบรรยากาศให้สบาย ๆ

2. เลี่ยงคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ

แน่นอนว่าการปรับความเข้าใจ ต่างฝ่าย ต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง คุณควรใช้จังหวะนี้เข้าอกเข้าใจและทำความรู้จักกับตัวตนของลูกให้มากขึ้น พยายามไม่พูดในทิศทางที่แสดงว่าคุณกำลังจะปรับเปลี่ยนความเป็นตัวของเขา รวมถึงไม่ตัดสินเหตุผลของเขาว่าถูกหรือผิด แต่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ

3. จัดการกับเรื่องราวความขัดแย้ง

ถึงเวลาพูดคุยเหตุการณ์ของความขัดแย้ง บอกที่มาของอารมณ์ และถ้อยคำรุนแรงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง อธิบายให้เห็นว่าผู้ใหญ่ก็สามารถฟิวส์ขาดได้ การทะเลาะกันไม่เข้าใจกันระหว่างครอบครัวเกิดขึ้นได้ปกติ และมันก็สามารถแก้ไข จูนความสัมพันธ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้


การเป็นพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกไปสักทุกเรื่อง และเมื่อทำผิดพลาดกับลูก ก็ควรจะแสดงความรับผิดชอบ กล้าปรับความเข้าใจ กล้าขอโทษ ไม่ควรปล่อยให้การทะเลาะหรือผิดใจกันจากเรื่องเล็กน้อย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความห่างเหินกับลูก พ่อแม่มีหน้าที่เยียวยาและรักษาความสัมพันธ์ให้กับมาดีเหมือนเดิม นอกจากการเปิดใจเข้าหาลูกเพื่อแก้รอยร้าวจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็นว่า ทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ และเมื่อทำผิดพลาดแล้วต้องกล้าจะแสดงความรับผิดชอบ

 พักสายตา ฟังบทความเป็น Audiobook คลิกเลยค่ะ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้