Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เด็กมักจะเรียนรู้ได้ดี หากได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นจนย่างเข้าสู่วัย 5 ขวบ เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน ซึ่งครอบครัวสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ
ลักษณะความเป็นตัวของตัวเองนี้ ไม่เพียงมีผลต่อพฤติกรรมของลูกเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความถนัดในการเรียนรู้ของเขาอีกด้วย การส่งเสริมลูกตามความถนัด หรือความสนใจของเขา ถือเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้ "เรียนรู้ตามธรรมชาติ" ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความกระตือรือร้น มีความเข้าใจ และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
การค้นพบความถนัด ทักษะเด่น หรือ "พรสวรรค์" ของลูกทำได้หลายวิธี นับตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ จนเติบโตขึ้น และก้าวเข้าสู่วัยเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญของการสังเกต และการค้นพบความถนัด คือการติดตามเฝ้าดูกิจกรรมหลักของเขานั่นเอง...
การเฝ้าสังเกตความถนัดในการเรียนรู้ และส่งเสริมลูกให้ได้ฝึกฝนในทักษะที่เขามีความถนัด จะทำให้เจ้าหนูมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น คุณจะค้นพบความสามารถที่เด่นชัดของลูกได้ จากการสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหนู เช่น กิจกรรมที่เขาชอบ งานที่เขาถนัด วิชาที่เขาเรียนได้ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะให้ภาพที่ชัดเจน จนคุณสามารถให้การส่งเสริมให้อย่างถูกต้อง
เข้าใจพฤติกรรมลูกน้อย
การใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียน ทำให้ในแต่ละวันลูกน้อยต้องสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เขาต้องใช้ความสามารถในการจัดการ เช่น ความขัดแย้งกับเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนแกล้ง ความยากของบทเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดความเครียดได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเขาได้ คุณแม่ควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูก หมั่นพูดคุยเพื่อสำรวจดูว่าเขามีความคับข้องใจอะไรแล้วไม่กล้าบอกคุณแม่หรือเปล่า ที่สำคัญคือการปลูกฝังให้เขารู้จักควบคุมความรู้สึกตัวเอง จะทำให้เขาตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมทักษะความเชื่อมั่นให้กับเขา
นอกจากความเข้าใจในสถานการณ์ของลูกน้อยวัยเรียนแล้ว ความเข้าใจในทักษะความสามารถของลูก รู้ว่าเขามีความสนใจหรือทำอะไรได้ดี และคอยให้การส่งเสริมทักษะเด่นนั้นของเขา จะทำให้เจ้าหนูรู้สึกวางใจ อบอุ่นใจ และมีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของการเสริมพัฒนาการกล้าเก่งให้กับลูก
รู้จักพัฒนาการวัยเรียน
ลูกน้อยวัยนี้มีพัฒนาการที่เด่นชัดทางด้านภาษาและสติปัญญาในการเรียนรู้ เขาจึงมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาของสังคมส่วนรวมได้ ในตอนนี้ การเรียนรู้ในรั้วโรงเรียน คือกิจกรรมหลักที่เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลเชื่อมโยงต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสังคม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
ทักษะการใช้สายตาประสานงานกับการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการทรงตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่ายกายมีความแข็งแรง และมีความอดทนมากขึ้น จนสามารถเรียนรู้ทักษะทางการกีฬาได้แล้ว
พัฒนาการทางด้านอารมณ์
มีความต้องการกำลังใจจากพ่อแม่ในการเสริมสร้างความมั่นใจ อยากให้พ่อแม่ ครู และเพื่อนๆ แสดงความรัก หรือแสดงการยอมรับในตัวเขา อ่อนไหวง่ายกับคำตำหนิ การวิพากษ์วิจารณ์หรือการลงโทษ มีความคาดหวังในกิจกรรมที่ทำ มีความกังวลมากขึ้น จนเป็นผลให้ความเชื่อมั่นในตัวเองลดต่ำลง มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างถูกกับผิด เริ่มเข้าใจและสามารถยอมรับกฎกติกาได้ มีจิตสำนึกถูก ผิด และมีความละอายจนสามารถยับยั้งใจในการไตร่ตรองก่อนทำสิ่งใด การแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ชัดเจนขึ้น มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่ออารมณ์ และพฤติกรรมของเขาเพิ่มขึ้นตามลำดับอายุที่มากขึ้น
พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
สามารถคิดรวบยอด หรือเข้าใจในภาพรวมของแนวคิดได้ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการสังเกต และการใช้ความคิดตามหลักตรรก ในวัยนี้เจ้าหนูเริ่มมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะการตัดสินใจของเขา ส่วนพัฒนาการทางด้านภาษา เขามีความเข้าใจความหมายของคำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้น จนมีคำพูดใหม่ๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่แปลกใจอยู่เสมอ มีสมาธิยาวนานขึ้น สามารถคิดรวบยอด หรือเข้าใจในภาพรวมของแนวคิดได้ และใช้ความคิดในการไตร่ตรองสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผลมากขึ้น มีความสามารถในการตัดสินใจได้มากขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหา มีความเข้าใจเรื่องเวลา และฤดูกาล สามารถอธิบาย หรือบอกถึงความแตกต่างของสิ่งของ 2 สิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เริ่มคิดหาเหตุผลให้กับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองไม่เข้าใจ มีความพอใจในทักษะความสามารถของตัวเอง และต้องการฝึกฝนให้ดีขึ้น และเริ่มฉายแววความถนัดในทักษะบางอย่างเพื่อการเรียนรู้
การชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมในแต่ละวันที่โรงเรียน จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อการดูแลส่งเสริมที่ตรงกับพัฒนาการทางพฤติกรรมของลูกน้อย ...
23 ส.ค. 2567
19 พ.ค. 2566