Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ละครเลือดข้นคนจาง ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ขณะนี้ทั้งเรื่องการหาฆาตกรตัวจริง ไปจนถึงแรงจูงใจในการฆ่า ทำให้เราลุ้นตัวโก่งแทบทุกสัปดาห์จนรอตอนต่อไปไม่ไหว แต่กระนั้น นอกจากความตื่นเต้น หากดูให้ลึกลงไป อาจพบประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา กับฉากที่ภัสสรตัวละครหนึ่งในเรื่อง พูดถึงเต้ย ลูกชายวัยรุ่น ซึ่งถูกจับได้ว่าเอาตุ๊กตาใส่กล้องแอบถ่ายไปไว้ ในห้องลูกพี่ลูกน้องผู้หญิง “หม่าม้าเลี้ยงลูกมา 18 ปี แต่เหมือนกับไม่เคยรู้จักลูกของตัวเองเลย” นี่คือคำกล่าวของตัวละครนั้น ซึ่งคนเป็นพ่อแม่หลายๆ คน หากได้ชมฉากนี้ ก็น่าจะอินและเข้าใจความรู้สึกของภัสสรไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยรุ่น
เลี้ยงลูกวัยรุ่น ควรเปิดใจให้กว้าง ไม่จ้องจับผิด
ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่ลูกเราเปลี่ยนไป หรือว่าเราไม่เคยรู้จักลูกของตัวเองเลย ? พ่อแม่อาจถามตัวเองบ่อย ๆ ทั้งนี้อยากให้เข้าใจว่า วัยรุ่นหมายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากความเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ ไม่เพียงทางด้านร่างกาย แต่ยังรวมถึงความคิด จิตใจด้วย ในเวลานี้พ่อแม่จึงอาจรู้สึกว่าลูกมีอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย หรือพูดอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่พอใจ ต่อต้าน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ก่อนหน้านี้ลูกไม่เคยเป็น
ผศ.พญ.ปราณี ให้คำแนะนำไว้ว่า
" ในเวลานี้พ่อแม่ควรเปิดใจให้กว้าง ทำความเข้าใจลูก"
หากลูกมีคำพูดหรือพฤติกรรมต่อต้านไม่เชื่อฟัง อย่าถือเป็นเรื่องส่วนตัวว่านั่นเป็นตัวตนของลูก แต่ควรเข้าใจว่า นี่เป็นอีกช่วงพัฒนาการหนึ่งของลูก ไม่ต่างกับตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก มีงานวิจัยจาก Berlin’s Max Planck Institute ที่พบว่าการเชื่อมโยงเส้นใยสมองของวัยรุ่นอายุ 13 - 17 ปี มีความเหมือนกับพัฒนาการสมองของเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2 - 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกมักมีร้องอาละวาด เอาแต่ใจ หรือที่เรียกว่าวัย terrible 2 นั่นเอง แต่เมื่อเกิดขึ้นในวัยรุ่น ที่ทักษะการสื่อสารพัฒนาเต็มที่แล้ว การเลือกใช้คำ และความคิดที่ซับซ้อนขึ้น ก็อาจทำให้พ่อแม่ปวดหัวมากกว่าในวัย terrible 2
การอยากรู้อยากลอง ทำตามเพื่อน เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของวัยรุ่นที่พบบ่อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งการค้นหาตัวตนและความต้องการเป็นอิสระจากพ่อแม่ ก็อาจทำให้ลูกวัยรุ่นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
เช่น พฤติกรรมของเต้ย ในละคร ไปจนถึงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้ง ความรุนแรง ยาเสพย์ติด พฤติกรรมทางเพศ หรือปัญหาทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า”
คำแนะนำเพิ่มเติม
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองอาจต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมลูกอยู่ห่างๆ อย่างใกล้ชิด นั่นคือเฝ้าดูแต่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ใส่ใจแต่ไม่ใช่จ้องจับผิด หากเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำๆ หลายครั้ง แม้จะตักเตือนแล้ว เช่น มีเรื่องชกต่อย รอยฟกช้ำไม่เว้นวัน หรือมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปจากหน้ามืดเป็นหลังมือ
เก็บตัวมากขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวจนถึงขั้นทำข้าวของเสียหาย ระงับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนกะทันหัน
ติดเกมส์หรือกิจกรรมใดหนึ่งๆ อย่างหนักจนเสียการเรียนและกระทบชีวิตประจำวัน นี่อาจเป็นสัญญาณว่าลูกจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ
เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือจัดการกับอารมณ์ของตัวคุณเองก่อน จัดการความเครียด ความโกรธความกังวล ให้ตัวเองสงบที่สุดก่อนที่จะพูดคุยกับลูก ฟังลูกอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน และไม่พูดแทรกแม้จะเป็นการให้คำแนะนำ เพราะสิ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการคือความเข้าใจและการที่พ่อแม่มองเห็น
คุณค่าในตัวเขา หาใช่คำแนะนำต่างๆ ระหว่างที่ฟังลูกให้มองสบตาลูกตลอด ไม่ใช่ฟังไปกดโทรศัพท์ไป คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับเขาจริงๆ หากรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยลูกรับมือปัญหาต่างๆ ได้การพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ทั้งพ่อแม่และลูกได้ ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป
พ่อแม่อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของลูก ก็ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของพ่อแม่ ที่จะต้องปรับตัวและยอมรับการเติบโตของลูกเช่นกันจึงไม่แปลกหากบางครั้งจะรู้สึกว่า เราแทบไม่รู้จักลูกของตัวเองเลย แต่หากนึกย้อนไปลูกของเราก็เปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการอยู่ทุกวัน ลูกวัย 6 เดือน ย่อมต่างไปจากวันแรกคลอด ลูกวัยเรียนย่อม พูดเก่งกว่าวัยเตาะแตะ ลูกวัยรุ่น ก็ย่อมเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าทุกๆ วัยที่ผ่านมา พ่อแม่จึงอาจต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดูแล ไปเป็นโค้ชชีวิต ที่ค่อยให้คำแนะนำหลังจากปล่อยให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเองบ้างแล้ว...สุดท้ายไม่ว่าลูกจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความเป็นพ่อแม่ลูก
ดังนั้น อย่าให้คำว่า “วัยรุ่น” ซึ่งเป็นเพียงช่วงหนึ่งของพัฒนาการ มาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว
14 ม.ค. 2568
19 ธ.ค. 2567
24 ธ.ค. 2567