มารู้จักกับลูกน้อยวัยแรกเกิดของคุณกันเถอะ : 0-4 เจ้าหนูวัยแบเบาะ

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ทันทีที่เจ้าหนูคลอดออกมาลืมตาดูโลก สิ่งต่างๆ รอบตัว คือความแปลกใหม่ที่เขาต้องเรียนรู้ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาตัวเอง ทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา และการปฏิสัมพันธ์กับสังคมแวดล้อม  การเรียนรู้เหล่านี้ ถือเป็นงานที่หนักทีเดียวสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของวัยแบเบาะ การดูแลจากคุณแม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ จนสามารถให้การส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างรากฐานชีวิตที่สมบูรณ์ให้กับลูกน้อย

รู้อย่างนี้แล้ว มาทำความรู้จักกับลูกน้อยวัยแรกเกิดของคุณกันเถอะค่ะ

หนูต้องการอ้อมมือแม่คอยโอบพยุง : ถ้าคุณสังเกตให้ดี จะเห็นว่าเจ้าหนูแรกคลอดมีสัดส่วนของขนาดศีรษะใหญ่กว่าขนาดลำตัว ด้วยเหตุนี้ล่ะ ที่ทำให้เขาดูตัวป้อมๆ น่ารักในสายตาผู้ใหญ่ทุกคน แต่ในช่วงวัยนี้กล้ามเนื้อลำคอของเขายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 สัปดาห์ จึงจะแข็งแรงพอพยุงศีรษะของตัวเองได้ ในช่วงเวลานี้จึงต้องอาศัยการช่วยพยุงของคุณในทุกครั้งที่โอบอุ้มเขาไว้ในอ้อมแขน

หนูได้ยินทุกแว่วเสียง และอยากรู้ถึงที่มาของเสียงนั้น : เจ้าหนูได้ยินทุกสรรพเสียงที่ดังขึ้นล้อมรอบตัวเขา เพียงแค่วัยหนึ่งเดือน เขาก็รู้จักที่จะส่ายหัวมองหาแหล่งที่มาของเสียงที่ได้ยินได้แล้ว และคุณรู้ไหม! เสียงที่เจ้าหนูโปรดปรานอยากฟังมากที่สุด ก็คือเสียงของคุณนั่นเอง

ใบหน้าแม่ชัดเจนทุกครั้ง เมื่อหนูได้ดื่มกิน :  ในช่วง 2 เดือนแรก เจ้าหนูยังมองภาพอะไรไม่ชัดเจนนัก ทุกสิ่งทุกอย่างจะเบลอไปหมด แต่เขาจะสามารถเห็นภาพใบหน้าของคุณได้ชัดเจน ในทุกครั้งที่คุณอุ้มเขาไว้ในอ้อมอกเพื่อป้อนนม นั่นเพราะเจ้าหนูวัยนี้จะมองเห็นได้ชัดในระยะ 8-12 นิ้ว


ถึงหยิบจับอะไรไม่ถนัด แต่หนูก็ชอบคว้าทุกสิ่งที่เข้าใกล้ : กล้ามเนื้อมือของเด็กแรกเกิดยังไม่แข็งแรง ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถหยิบจับอะไรได้ถนัดดังใจ แต่ถ้าหากคุณหยิบอะไรสักอย่างใส่มือเขา เจ้าหนูจะกำไว้แน่นไม่ปล่อย นั่นก็เพราะปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติของกล้ามเนื้อมือน้อยๆ  ที่มีมาตั้งแต่แรกคลอดนั่นเอง

เมื่อถึงวัย 3 เดือน เจ้าหนูจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีการควบคุมมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายจนสามารถทำอะไรตามความปรารถนาของเขาได้มากขึ้น ในตอนนี้ เขาเริ่มรู้จักที่จะใช้สองมือไขว้คว้าสิ่งที่เห็นเพื่อหยิบจับมาสำรวจด้วยตัวเองได้แล้ว

ออๆ อาๆ นั่นคือภาษาของหนู  : ประมาณเดือนที่ 3-4 เจ้าหนูเริ่มเปล่งเสียงอือๆ ออๆ ออกมาได้แล้ว เขาจะสนุกกับการอือออ มากขึ้นหากคุณอ้อแอ้ไปกับเขาด้วย  แม้เขาจะไม่เข้าใจความหมายของคุณ แต่เขาก็รู้ว่าคุณกำลังพูดด้วย เขาจะพยายามพูดตอบกับคุณ จนกระทั่งค่อยๆ ผสมเสียงอักษร พ. ม. บ. และ ด. ได้ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คุณได้ยินเสียงเรียก “แม่” จากลูกตัวน้อยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ยิ้มแรกของหนู เพื่อแม่ : รอยยิ้มของเจ้าหนูในช่วงสองเดือนแรก เป็นผลมาจากปฏิริยาตอบสนองอัตโนมัติของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ซึ่งไม่มีความหมายใดๆ เลย แต่เมื่อเจ้าหนูเข้าสู่วัย 2 เดือนแล้ว รอยยิ้มของเขาจะเริ่มมีความหมาย เขายิ้ม เพราะเขาตั้งใจที่จะสื่อความรู้สึกดีๆ ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้คุณได้รู้ว่า เขารู้สึกดีแค่ไหน ที่มีคุณคอยอยู่ข้างๆ เมื่อเขาต้องการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้