Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวด้วยวิธีการออม ก็คือ การคงไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆ ที่มีมาก่อนที่จะร่วมหัวจมท้ายใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย ต่างก็มีรายการสิ้นเปลืองเพื่อสนองตอบวิถีการใช้ชีวิตแบบสบายๆ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถ้าหากคุณคิดจะออมกันแล้วล่ะก้อ คงถึงเวลาที่ต้องมานั่งสำรวจกันล่ะว่า อะไรบ้าง?.. ที่เป็นรายการสิ้นเปลืองของครอบครัวคุณ
1. บุหรี่: รายการสิ้นเปลืองยอดฮิตสำหรับคุณผู้ชาย ซึ่งหลายท่านอาจนึกไม่ออกว่าบุหรี่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองได้อย่างไร ลองมาคำนวณกันง่ายๆ ว่า ค่าใช้จ่ายต่อบุหรี่หนึ่งมวนโดยประมาณอยู่ที่ 3- 4.75 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้สูบ หากเป็นบุหรี่นอกราคาขึ้นไปถึง 7.25 บุหรี่หนึ่งซองมี 20 มวน หากคุณสูบวันละ 1 ซอง ค่าใช้จ่ายต่อวันของคุณจะตก 60 - 145 บาท เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่ากับ 1,800 – 4,350 บาท นี่คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อขจัดผลพวงจากการสูบบุหรี่ อาทิเช่น สเปร์ยระงับกลิ่นปาก, สเปร์ยระงับกลิ่นตัว ยาสีฟันขจัดคราบบุหรี่ ขี้ผึ้งแก้ปากดำ และสุดท้ายค่ารักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งคำนวณคร่าวๆ แล้ว คุณจะต้องหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้อีกประมาณ 2,780 บาทต่อเดือน เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายจากการสูบบุหรี่วันละหนึ่งซอง คุณจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ประมาณ 4,580 – 7,840 บาทต่อเดือน หากรายได้ของคุณเป็น 20,000 บาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 22.90 – 39.20% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าค่าอาหารโดยเฉลี่ยต่อเดือนเสียอีก
2. เหล้าและการเอนเตอร์เทรนนอกบ้าน: เคยมีคำกล่าวว่า หลังแต่งงานผู้ชายจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้หญิงจะมีเพื่อนน้อยลง ยิ่งเมื่อมีพยานรักขึ้นมาแล้วล่ะก้อ หน้าที่ดูแลลูกตกเป็นของภรรยา ส่วนคุณผู้ชายก็มักจะใช้เป็นข้ออ้างที่ว่าต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องมีเวลาออกไปเอนเตอร์เทรนนอกบ้านกับเพื่อนๆ บ้าง เพื่อคลายความเครียด แต่ถ้าคิดในมุมกลับจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปกับการเอนเตอร์เทรนหลังเลิกงานบางทีอาจเป็นสาเหตุให้คุณผู้ชายต้องทำงานหนักมากขึ้นยิ่งเสียกว่า ค่าใช้จ่ายของลูกตัวเล็กๆ อีก ลองคิดดูสิ เปิดเหล้าขวดหนึ่งสมัยนี้ 2,000-3,000 บวก ถ้าไปนั่งเบียร์การ์เด้นท์ เบียร์เหยือกหนึ่ง ตอนนี้ 100 – 300 บวก แล้วยังมีค่ามิกซ์เซอร์ และกับแกล้มอีก แถมกลับดึกมาก คุณก็ต้องเหมาแท็กซี่กลับ รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายต่อการเอนเตอร์เทรนหนึ่งคืนตก 3,000-4,00 บาท! รายได้ต่อวันของคุณเป็นเท่าไรกัน?
3. เครื่องประทินโฉม และเครื่องแต่งกาย: คงไม่มีใครว่าอะไร หากคุณผู้หญิงจะรักสวยรักงาม เพราะแม้แต่ตำราครองเรือนที่ไหนๆ ก็ยกให้เรื่องการดูแลตัวเองให้สวยงามอยู่เสมอเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของศรีภรรยา แต่การแต่งกายแบบวิ่งตามแฟชั่น หรือเลือกเอายี่ห้อดังๆ จะทำให้ค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ บางครั้ง คุณจึงต้องฉลาดเลือก ฉลาดใช้บ้าง ที่สำคัญ การติดตามอ่านเคล็ดลับ เทคนิคต่างๆ ตามหน้าอินเตอร์เน็ตแทนการติดตามหน้าแฟชั่น จะช่วยให้คุณสวย ฉลาด ดูเป็นสาวมั่นได้อย่างประหยัด ถ้าคุณอยากรู้ว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องประทินโฉม และเครื่องแต่งกายของคุณในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร ก็ลองบันทึกดูว่าในแต่ละเดือนคุณจ่ายไปเท่าไร และสามารถใช้ได้นานแค่ไหน พยายามหาตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนแล้วนำมาเทียบกับรายได้ต่อเดือนของคุณ ดูว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของคุณคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน จากนั้นนำมาเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อเดือน
4. นิสัยชอบช้อป: ว่างๆ หากคุณยืนหมุนตัวรอบบ้านดูสักครั้ง คุณจะเห็นว่า ของใช้กระจุกกระจิกหลายอย่างในบ้าน บางครั้งก็เป็นของที่แทบจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เอาเสียเลย แต่เป็นของที่คุณซื้อมาเพราะกิเลสความอยากได้ในช่วงที่เห็นของนั้นโดยแท้ และถ้าคุณลองนำมาคำนวณรวมเงินเล่นๆ บางทีจำนวนเงินที่ได้อาจนำไปใช้ซื้อของจำเป็นได้สักชิ้น สองชิ้นทีเดียว
5. ห่วงซื้อของถูก: ที่จริงการซื้อของในราคาถูกเป็นการประหยัดที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ถ้าหากคุณมัวแต่คิดอยากจะซื้อของราคาถูก และยอมทำตามเงื่อนไขของห้างร้าน ที่บังคับให้คุณซื้อของเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งมากเกินความจำเป็นใช้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่สำคัญ หากของถูกจำนวนมากนั้น ทำให้คุณต้องเสียค่ารถเพื่อขนกลับล่ะก้อ ลองมาคำนวณดูกันอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะรู้ว่ามันเป็นความสิ้นเปลืองโดยที่ตัวคุณเองก็หลงคิดว่าเป็นการบริโภคอย่างฉลาด
6. ของกินกระจุกกระจิก: เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสาวออฟฟิศ ลองสังเกตดูซิ หลังอาหารเที่ยงจะหิ้วถุงขนม ผลไม้ ไอศครีมติดไม้ติดมือกันคนละถุง สองถุง คิดกันเล่นๆ ว่า หากคุณต้องจ่ายเงินค่าของกินกระจุกกระจิกเหล่านี้ (รวมค่าน้ำอัดลม และกาแฟด้วย) วันละ 40 – 100 บวก สำหรับ 2 มื้อ กลางวันและเย็น หนึ่งเดือนจะประมาณ 1,200 – 3,000 บวก เป็นจำนวนเงินที่เยอะไม่ใช่เล่นเลยใช่มั้ยล่ะ อ่อ! สำหรับผลไม้นั้นหากคุณจะซื้อกินหลังมื้ออาหารบ้างก็ไม่ว่ากันค่ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่สนับสนุนการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงแต่ให้พอประมาณไม่มากไม่น้อยไป อะไรที่ว่าดี แต่ถ้าหากมากไปก็ไม่งามนะคะ
7. การเดินทางขณะเร่งรีบ: เส้นทางจากบ้านไปที่ทำงาน หากคุณออกเช้าหน่อย คุณอาจเสียเพียงแค่ค่ารถโดยสารประจำทางของ ขสมก. รถธรรมดาก็ 6.50 บาท รถแอร์ก็ 12 บาท เรื่อยไปจนถึง 30 บาท แต่ถ้าคุณออกในเวลากระชั้นชิด คุณอาจต้องลงรถต่อเรือ ขึ้นรถไฟฟ้าต่อใต้ดิน แล้วนั่งมอเตอร์ไซด์เพื่อไปให้ทันตอกบัตรเข้างาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคุณเพิ่มขึ้นมาอีก 30-40% เลยทีเดียว ยิ่งถ้าคุณมีรถส่วนตัว ค่าใช้จ่ายจากการเผาผลาญน้ำมันในขณะรถติด กับค่าทางด่วน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นยิ่งเสียกว่าการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะเสียอีก ไม่เชื่อก็ลองคำนวณเปรียบเทียบดูซิ
8. อาหารนอกบ้าน: หากคุณต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกบ้าน ค่าอาหารเครื่องดื่ม ดูเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะต้องจ่าย แต่สำหรับอาหารมื้อเย็นและในวันหยุด หากคุณพากันออกไปหากินกันนอกบ้านหรือซื้อเข้ามากินทุกมื้อ จะทำให้คุณเสียเงินไปกับค่าอาหารเพิ่มขึ้นจากปกติ 20-50%
9. ติดค่านิยม: หากคุณคิดว่าจะต้องใช้เครื่องแต่งตัว หรือของใช้ต่างๆ ที่มียี่ห้อ ดื่มกาแฟของร้านสาขาจากเมืองนอกถ้วยละร้อยบวก ดูหนังทุกอาทิตย์สุดสัปดาห์ และติดตามดูคอนเสิร์ตทุกเวที ละครเวทีทุกเรื่อง เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความมีรสนิยมของคุณ ว่างๆ ก็ลองคำนวณดูว่าค่ารสนิยมของคุณนั้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน
10. ใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลือง: การใช้ชีวิตตอบสนองความต้องการของคุณจนลืมนึกถึงความสามารถในการแบกรับของร่างกาย อาจทำให้คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่ารักษา และค่าดูแลสุขภาพมากเกินความจำเป็นได้ การถ่างตานั่งฉลองกับเพื่อนจนสว่างอาจไม่ได้เป็นเหตุให้คุณต้องเสียเงินจ่ายค่ายาแก้ปวดหัวเพียงแค่หนึ่งซองเท่านั้น แต่สุขภาพที่ถูกบั่นทอนลงไปอาจทำให้คุณต้องเสียเงินค่ารักษาโรคร้ายที่เป็นผลพวงจากการใช้ชีวิตตรากตรำไปกับเรื่องที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร
ลองสำรวจดูนะคะ 10 รายการข้างต้นนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายที่คุณต้องจ่ายอยู่ทุกวันนี้ ลองคำนวณดูว่า แต่ละรายการคิดเป็นจำนวนเงินรวมเท่าไร และคิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้ต่อเดือนของคุณ
13 พ.ค. 2567
10 พ.ค. 2562
28 มิ.ย. 2567