Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
การช่วยชีวิตเด็กช่วงวัย 1-8 ปี โดยการผายปอด ปั๊มหัวใจให้นั้น แม้จะมีขั้นตอนส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับการช่วยชีวิตเด็กเล็กวัยไม่ถึงขวบ ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ หากแต่ในรายละเอียดของบางขั้นตอนมีส่วนสำคัญที่แตกต่างออกไป ซึ่งมีความจำเป็นที่คุณจะต้องศึกษาแยกต่างหากจากวิธีการช่วยชีวิตเด็กวัยหนึ่งขวบปี ทั้งนี้ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยชีวิตลูกน้อยของคุณ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นนั่นเอง
ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาเริ่มต้นกันเลยค่ะ
นับขั้นนาทีวิกฤติ ช่วยชีวิตลูกน้อย
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบดูว่าเด็กมีปฏิกิริยาตอบรับหรือไม่ โดยให้เขย่าที่บริเวณไหล่ของเด็กเบาๆ พร้อมตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ ให้ช่วยโทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน
ขั้นตอนที่ 2 อุ้มเด็กน้อยให้นอนลงบนพื้นที่มีความหนาแน่น เช่น พื้นถนน พื้นบ้าน พื้นดิน เป็นต้น โดยให้ระมัดระวังอย่าให้บริเวณส่วนคอของเด็กเคลื่อน หรืองอโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้กระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการขึ้นได้
ขั้นตอนที่ 3 ทำการประเมินสถานการณ์ โดยสังเกตดูการขึ้นลงตรงบริเวณส่วนหน้าอกของเด็ก ก้มฟังเสียงลมหายใจ และใช้ผิวแก้มของคุณสัมผัสดูว่าเด็กยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่หรือไม่ โดยให้ทำทุก 3-5 วินาที ถ้าพบว่าเด็กมีอาการหายใจลำบาก อย่าเพิ่งใช้วิธีผายปอดเมาท์-ทู-เมาท์ หรือใช้ปากเป่าลมหายใจเข้าในทันที แต่ให้ทำการเปิดทางเดินลมหายใจ เพื่อช่วยให้เขาหายใจได้สะดวกขึ้นก่อน
ขั้นตอนที่ 4 เปิดทางลมหายใจ โดยการเอียงศีรษะเด็กไปข้างหลังอย่างเบามือ คอยระวังอย่าให้บริเวณส่วนคอยืดขยายออกจนเกินไป ใช้สายตาดูบริเวณหน้าอกว่ากระเพื่อมขึ้นลงหรือไม่ ใช้หูฟัง และผิวแก้มสัมผัสลมหายใจอีกครั้ง หากเด็กยังไม่หายใจให้ทำการผายปอดในทันที
ขั้นตอนที่ 5 ในการผายปอดเพื่อช่วยให้เด็กหายใจ ให้บีบจมูกเด็กไว้ และประกบปากของคุณครอบทับปากเด็กให้สนิท จากนั้น ค่อยๆ เป่าลมเข้าปากเด็กนานประมาณ 1 ½ ถึง 2 วินาที เมื่อคุณเห็นบริเวณส่วนหน้าอกของเด็กดันสูงขึ้น ให้เงยหน้าขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้หายใจออกด้วยตัวเอง จากนั้นประกบปากเป่าลม และปล่อยให้เด็กหายใจออกเองเป็นจังหวะต่อเนื่องสัก 2-3 ครั้ง สังเกตดูว่าบริเวณหน้าอกของเด็กเริ่มกระเพื่อมขึ้นลง ให้ทำการตรวจสอบจังหวะการเต้นของชีพจร
ขั้นตอนที่ 6 วางปลายนิ้วชี้ และนิ้วกลางไว้บนลูกกระเดือกของเด็ก จากนั้นค่อยๆ เลื่อนปลายนิ้วทั้งสองลงมาทางด้านข้าง จะเป็นตำแหน่งที่คุณสามารถสัมผัสชีพจรได้ ให้ตรวจจังหวะการเต้นของชีพจรนาน 5-10 วินาที
ถ้าชีพจรเต้น
- ไม่ต้องกดบริเวณหน้าอก เพื่อปั๊มหัวใจ
- เป่าลมหายใจทางปาก (เมาท์-ทู-เมาท์) ต่อ โดยให้ทำทุกๆ 4 วินาที
- ตรวจการเต้นของชีพจรทุกๆ รอบของการเป่าลมหายใจทางปากครบ 15 ครั้ง
- ให้เป่าลมหายใจทางปาก และตรวจชีพจรต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรือจนกว่า เด็กจะเริ่มหายใจได้เองอีกครั้ง
ถ้าชีพจรไม่เต้น
- ทำการปั๊มหน้าอก โดยวางอุ้งมือข้างหนึ่งไว้บนบริเวณส่วนล่างของกระดูกหน้าอกกว้างประมาณสองนิ้วเหนือร่องบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกหน้าอก กับกระดูกซี่โครง ตรวจดูให้แน่ใจว่าใช้เฉพาะบริเวณส่วนอุ้งมือของมือข้างเดียวเท่านั้น และห้ามใช้นิ้วมือโดยเด็ดขาด เพราะคุณอาจทำให้กระดูกซี่โครงของลูกหักได้ ตรึงแขนของคุณให้ตรง และเกร็งส่วนข้อศอกของคุณไว้ โดยกะให้มืออยู่ตรงกับบริเวณหัวไหล่พอดี จากนั้นให้กดลงไปตรงๆ บนกระดูกหน้าอกลึกประมาณ 1 ถึง 1 ½ นิ้ว พร้อมกับนับจังหวะการกดเสียงดัง
- ให้ทำการผายปอดในทุกรอบของการกดปั๊มหน้าอกครบ 5 ครั้ง โดยให้ยกมือออกจากหน้าอก และเปิดทางลมหายใจพร้อมกับผายปอด และดูว่าหน้าอกมีการกระเพื่อมขึ้นลงหรือไม่
- ตรวจการเต้นของชีพจรหลังจากทำการปั๊มหน้าอก และผายปอดครบ 1 นาที และให้ตรวจทุกๆ 2-3 นาที ทุกครั้งหลังทำการปั๊มหน้าอก และผายปอด
- ให้กดปั๊มหน้าอก เป่าลมหายใจ และตรวจชีพจนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าชีพจนเด็กจะเต้นอีกครั้ง หรือรถพยาบาลมาถึง
ทั้งหมดนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการผายปอด และปั๊มหัวใจเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น ในการยื้อชีวิตลูกน้อยของคุณในนาทีวิกฤติที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้น คงจะดีไม่น้อย หากคุณได้เรียนรู้จากการอ่าน และได้ฝึกปฏิบัติโดยการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้วย ซึ่งถ้าคุณสนใจ สามารถติดต่อสอบถามไปยังโรงพยาบาลได้ทุกแห่งค่ะ
เมื่อมีความรู้ และผ่านการอบรมมาแล้ว นานๆ ครั้ง นำกลับทบทวนใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่คุณต้องพาเจ้าตัวน้อยออกเดินทางท่องเที่ยว หรือไปธุระที่ไหน ก็จะช่วยให้ไม่ลืมในเวลาที่ต้องนำมาใช้ปฏิบัติจริงค่ะ และถ้าจะให้ดีจริงๆ ขออย่าให้คุณได้มีโอกาสนำความรู้นี้มาใช้เลยนะคะ หมั่นเตือนใจตัวเองทุกครั้ง ว่าให้ปลอดภัยไว้ก่อนในทุกเรื่อง อุบัติเหตุก็เกิดได้ยากแล้วล่ะค่ะ
23 ส.ค. 2567
20 ก.พ. 2566
10 ต.ค. 2566