Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ฟัน เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเราในแต่ละวันนะคะ เพราะไม่เพียงมีบทบาทต่อโครงสร้างของรูปหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือชุดแรกในการย่อยอาหารให้มีขนาดชิ้นที่พอเหมาะ ก่อนจะส่งทอดต่อไปให้กระเพาะทำการย่อยเอาสารอาหาร ไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย ดังนั้น คุณแม่ควรดูแลรักษาฟันของลูกน้อยให้แข็งแรงมีสุขภาพดี เพื่อสุขภาพร่างกายในวันหน้าของเจ้าหนูค่ะ
ฟันจะมีสุขภาพแข็งแรงได้นั้น ต้องเริ่มต้นดูแลกันตั้งแต่ตอนก่อร่างสร้างตัวฟันขึ้นมากันเลยทีเดียว ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้สัก 6 สัปดาห์โดยประมาณค่ะ ในขณะนั้นร่างกายของเจ้าตัวน้อยจะดึงเอาแคลเซียม และฟอสฟอรัสเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างหน่อฟันในกระดูกขากรรไกร ในช่วงนี้ หากคุณแม่ได้รับสารอาหาร 2 ตัวนี้อย่างเพียงพอ ก็เท่ากับว่าได้สร้างรากฐานที่ดีให้กับฟันซี่น้อยๆ ของเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่ผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว ก็ไม่เป็นไรค่ะ ยังมีเวลาทันพอที่จะดูแลฟันของลูกน้อยให้แข็งแรงได้เช่นกัน แต่ก่อนอื่น ไปทบทวนลำดับพัฒนาการจากฟันน้ำนมซี่แรก จนถึงฟันแท้ซี่สุดท้ายกันก่อนค่ะ
ฟันซี่แรก...และซี่สุดท้าย
ปกติแล้ว ฟันซี่แรกของเจ้าหนูจะโผล่ขึ้นมาอวดโฉมให้ได้เห็นกันในช่วงที่เขาอายุประมาณ 6 เดือน ช้าเร็วจากนี้ก็ประมาณ 2-10 เดือน โดยเด็กผู้หญิงมักจะมีฟันขึ้นเร็วกว่าเด็กผู้ชาย แต่ก็มีบางรายเหมือนกันที่มีฟันงอกขึ้นมาให้เห็นตั้งแต่แรกคลอด หรือหลังจากคลอดมาได้เพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดีซะอีกเพราะนั่นหมายถึงเจ้าหนูจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาเร็วกว่าเด็กคนอื่น เพราะโครงสร้างของฟันมีส่วนช่วยในการออกเสียงพูด แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า คุณอาจลำบากหน่อยตอนให้นมเขาด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีแก้ไขก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่หาผ้ากอซมาคลุมรอบหัวนมก็จะช่วยได้ค่ะ
ฟันน้ำนมของเด็ก มีทั้งหมด 20 ซี่ค่ะ จะทยอยขึ้นจนครบ เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 2 – 2 ขวบครึ่ง ในช่วงนี้หน่อฟันแท้จะเริ่มก่อตัวขึ้น และค่อยๆ งอกรากยาวดันรากฟันน้ำนมที่อยู่ด้านบน พร้อมๆ กับการสร้างฟันซี่อื่นๆ ที่เหลืออีก 12 ซี่ จนกระทั่งเจ้าหนูอายุได้ประมาณ 6 ขวบ ฟันน้ำนมจะเริ่มโยกหลุดไป เพื่อให้ฟันแท้ซี่แรกโผล่ขึ้นแทนที่ โดยฟันน้ำนมจะค่อยๆ ทยอยหลุดจนฟันแท้ขึ้นครบ 32 ซี่ เมื่อเด็กอายุประมาณ 12 ขวบค่ะ
ในระหว่างนี้ การดูแลรักษาสุขภาพฟัน มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนถ่ายจากฟันน้ำนม มาเป็นฟันแท้สมบูรณ์ ทำให้เจ้าหนูมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีฟันแข็งแรง ซึ่งการดูแลก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ เพียงแค่เอาใจใส่มากหน่อย ในช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นก็ฝึกให้ลูกมีวินัยกับการดูแลรักษาความสะอาด เพียงแค่นี้เขาก็จะมีสุขภาพฟันดีไปนานเลยทีเดียวล่ะ
ดูแลอย่างไร.. ให้ฟันลูกแข็งแรง
การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฟันให้กับลูกน้อยตั้งแต่แรก ถือเป็นการเริ่มที่ช่วยสางทางสะดวกในการดูแลรักษาในเวลาต่อมา เจ้าหนูจะคุ้นเคยกับการเอาใจใส่ดูแล รักการแปรงฟัน ไม่กลัวหมอฟัน และไม่มีปัญหาเรื่องฟัน ให้ต้องเสียเงินเสียทองรักษาให้เปลืองเงิน
รู้อย่างนี้แล้ว ไปดูเรื่องสำคัญของฟันลูก ที่คุณต้องให้ความใส่ใจดูแลกันเลยค่ะ
ลูกฟันไม่ขึ้น เมื่อไหร่ถึงต้องเป็นกังวล
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ฟันอาจขึ้นเร็วช้ากว่ากำหนด ซึ่งก็คือช่วง 6 เดือนโดยประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจมีเนื้อเยื่อของเหงือกมีความหนาแน่นมาก ทำให้ฟันโผล่ขึ้นมาได้ยาก หรือบางรายอาจขาดวิตามินดี หรือต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้มีพัฒนาช้า ดังนั้น หากเจ้าหนูอายุครบขวบปีแรกแล้ว ฟันยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้น คุณควรพาไปให้คุณหมอช่วยตรวจดูว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เพื่อให้การรักษาโดยเร็ว เจ้าหนูจะได้มีพัฒนาการของฟันตามทันเด็กทั่วไป
สังเกตอาการฟันขึ้นของลูก
ในช่วงฟันกำลังขึ้น เจ้าหนูจะมีอาการเจ็บๆ คันๆ ที่เหงือก จากเดิมที่ชอบคว้าของเข้าปาก น้ำลายไหลยืด คราวนี้เขาจะงับๆ เคี้ยวๆ ของนั้นด้วย เปิดปากดูจะเห็นสันเหงือกนูนกว่าปกติ คล้ายเหงือกบวมแดง หากใช้นิ้วคลำๆ ดูจะรู้สึกมีอะไรแข็งๆ ใต้เหงือก เด็กบางคนรับประทานอาหารได้น้อยลง หงุดหงิดง่าย และร้องกวนบ่อยร่วมด้วย และอาการที่สะดุดอารมณ์ชวนให้คุณนึกได้ว่าลูกฟันกำลังขึ้นก็คือ เขาชอบกัดคุณในเวลาที่เผลอๆ นั่นเอง
ช่วยลูกบรรเทาอาการฟันขึ้น
คุณสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บๆ คันๆ ของลูกน้อยได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
1. หาซื้อยางกัด มาให้ลูกงับเล่น ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกที่ผลิตเลียนแบบลักษณะแปรงสีฟัน เขาจะได้คุ้นเคยกับการเอาของที่มีรูปร่างลักษณะแบบนี้เข้าปาก ต่อไปเวลาสอนแปรงฟันจะได้ไม่ยาก
2. นำผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำต้มสุกแช่ใส่ตู้เย็น แล้วนำมาให้เขาใช้กัดเล่น ความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดให้กับเขาได้ค่ะ
3. ผลไม้สุกนิ่ม หั่นชิ้นเล็กแช่เย็นไว้ ให้เอาให้เขากินเล่น นอกจากช่วยบรรเทาปวดแล้ว ยังฝึกทักษะการใช้นิ้ว มือ แขน ไปในตัวด้วย
4. ล้างมือคุณให้สะอาด จุ่มแช่น้ำเย็นสักพัก แล้วใช้นิ้วนวดเบาๆ ที่เหงือกให้เขา
ทำความสะอาด ฟ. ฟัน
- เริ่มตั้งแต่ก่อนฟันจะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณไม่ได้ให้ลูกกินนมตัวเอง ควรจะทำความสะอาดช่องปากให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยให้ใช้ผ้ากอซพันนิ้วชี้ จุ่มลงในน้ำต้มสุกบิดพอหมาดแล้วเช็ดให้ทั่วช่องปาก ทั้งที่กระพุ้งแก้ม บนลิ้น ใต้ลิ้น สันเหงือก เพดานปาก และเมื่อเขามีฟันขึ้น ก็ให้เช็ดทำความสะอาดฟันซี่น้อยๆ ของเขาด้วย
- เมื่อเจ้าหนูอายุได้หนึ่งขวบ พาเขาไปเดินเลือกซื้อแปรงสีฟันที่มีสีสัน และรูปร่างถูกใจเขา สัก2-3 อัน เอาไว้ให้เขาเลือกสลับใช้ พอถึงเวลาแปรงฟัน ก็ให้เขาเลือกถือเล่นอันหนึ่ง ส่วนอีกอันหนึ่ง คุณใช้แปรงทำความสะอาดฟันให้กับเขา โดยยังไม่ต้องใช้ยาสีฟันก็ได้ รอจนเมื่อเขาอายุประมาณ 2 ขวบ ทักษะในการใช้มือหยิบจับสิ่งของดีขึ้นจนสามารถจับแปรงสีฟันได้ถนัดมือแล้ว และมีความคุ้นเคยดีกับการแปรงฟัน ค่อยให้เขาหัดแปรงฟันด้วยตัวเอง โดยในช่วงแรก อาจยังไม่ต้องเข้มงวดเรื่องความสะอาดกับเขามากนัก เพราะจะพาลทำให้เขารู้สึกแขยงกับการแปรงฟันเปล่าๆ เอาเป็นว่า ถ้าคุณเห็นว่าเจ้าหนูยังแปรงฟันไม่สะอาด ก็ให้บอกเขาว่า คุณจะใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดเพิ่มเติมให้กับเขาแทนจะดีกว่า
- เมื่อคุณสังเกตเห็นว่าเจ้าหนูรู้จักบ้วนน้ำในปากเป็นแล้ว ถึงตอนนี้ ค่อยพาเขาไปเดินเลือกซื้อยาสีฟันกันอีกครั้ง โดยเวลาใช้ให้บีบใส่แปรงปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียวก็พอ ป้องกันเผื่อเอาไว้กรณีที่เจ้าหนูบ้วนทิ้งไม่หมด เพราะยังทำได้ไม่ถนัดนัก เขาจะได้ไม่เผลอกลืนเข้าไปมาก เพราะบางครั้งอาจทำให้เขาได้รับปริมาณฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในยาสีฟันมากเกินไปได้
ฟลูออไรด์ ใช่เรื่องเล่นๆ
ฟลูออไรด์ แม้จะมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันฟันผุ แต่หากได้รับปริมาณมากๆ ก็อาจเป็นโทษได้เช่นกัน จากงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ปริมาณฟลูออไรด์ที่มากเกิน อาจมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ระดับการเรียนรู้ของเด็กลดต่ำลงได้ นอกจากนี้ ยังมีผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และกระดูกได้
ปัจจุบัน โอกาสที่เราจะได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินมีสูง ทั้งนี้ เนื่องจากฟลูออไรด์ถูกนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่เรากิน ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก นม และแม้กระทั่งน้ำดื่ม หรือน้ำประปาบางแห่ง ดังนั้น ในการใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุให้กับลูกน้อยนั้น จำเป็นต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้แนะนำค่ะ
พบหมอฟันครั้งแรก
หากคุณแม่เอาใจใส่กับการดูแลรักษาฟันให้กับลูกน้อยตั้งแต่แรกตามที่ได้แนะนำไว้ข้างต้น ก็อาจไม่ต้องรีบร้อนพาเจ้าตัวน้อยไปพบคุณหมอเร็วนัก รอจนเขาอายุสักประมาณ 3 ขวบ ค่อยเริ่มพาไปตรวจเป็นครั้งแรกก็ยังทัน หลังจากนั้น คุณหมอจะเป็นผู้นัดหมายการตรวจในครั้งต่อๆ ไปเองค่ะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คุณหมอจะนัดให้คุณพาเจ้าตัวเล็กมาตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือนค่ะ
ในการตรวจสุขภาพฟันแต่ละครั้ง คุณหมออาจแนะนำให้บริการแก่ลูกน้อยของคุณดังนี้ค่ะ
ทำการเคลือบร่องฟันแก่เจ้าตัวน้อย เพื่อให้การทำความสะอาดทั่วถึง ป้องกันแบคทีเรียหลบซ่อนตามซอกฟันจนทำให้เกิดปัญหาฟันผุได้ แม้จะแปรงฟันอย่างดี 2 ครั้งเช้าเย็นแล้วก็ตาม
ขัดฟัน เคลือบฟัน หรือให้ฟลูออไรด์ โดยการหยดเข้าปาก
ตรวจดูพัฒนาการขึ้นของฟันว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 5-6 ปี ที่ฟันแท้กำลังขึ้น หากพบว่าหน่อฟันแท้ขึ้นไม่ตรงกับฟันน้ำนม ทำให้ฟันน้ำนมไม่โยกหลุด จนกำลังจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาฟันซ้อนเกขึ้น คุณหมอจะทำการถอนฟันน้ำนมในช่วงเวลาที่เหมาะสมให้ เพื่อเปิดโอกาสให้ฟันแท้ขึ้นแทนที่ในตำแหน่งที่ควรเป็น
เห็นหรือยังค่ะว่า จำเป็นแค่ไหนที่คุณต้องพาเจ้าตัวเล็กไปตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน แต่ขอยืนยันว่า ถ้าคุณดูแลรักษาฟันให้กับเขาตามคำแนะนำข้างต้นมาโดยตลอด รับรองว่าคุณจะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาฟันของลูกน้อยให้แข็งแรง มีสุขภาพดีได้ ในราคาที่ไม่แพงเลยจริงๆ ค่ะ
29 ก.ย. 2566
10 ต.ค. 2566