Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เพราะนมแม่นั้นแน่ที่สุด.. แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกน้อยด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม การเตรียมนมผสมอย่างถูกวิธี และถูกสุขอนามัย ก็สามารถช่วยลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย ให้กับเจ้าตัวน้อยของคุณได้เช่นกัน
ศาสตร์แห่งการชงนม.. ที่คุณแม่ต้องรู้
ชงนมให้ลูกกิน.. อาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ และปฏิบัติเองได้ หากแต่ก็ยังมีคุณแม่หลายท่าน ที่ยังไม่รู้เทคนิคสำคัญเกี่ยวกับการชงนมอย่างถูกวิธี.. แล้วคุณล่ะ.. รู้เทคนิคเหล่านี้หรือเปล่า..
- ต้มขวดนมและจุกนมในน้ำเดือดประมาณ 10 นาที
- ควรใช้น้ำอุ่นสุก และตวงนมผงตามมาตราส่วนที่แนะนำไว้ข้างกระป๋อง โดยใช้ช้อนตวงที่บรรจุมากับกระป๋อง เพื่อให้ได้สัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของลูก
- ผสมนมเสร็จแล้ว ให้เขย่าขวดเล็กน้อยพอให้นมผงละลายหมด และก่อนให้นมลูก ทดลองหยดน้ำนมลงบนหลังมือเพื่อทดสอบว่าอุ่นพอเหมาะดีแล้ว
- อย่าปิดขวดนมจนแน่นเกินไป เพราะจะทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปสร้างแรงดันช่วยเจ้าหนู ทำให้เขาต้องออกแรงดูดจนเหนื่อยแรงก่อนนมหมดขวด
- เวลาให้นมเจ้าหนู หมั่นคอยยกเอียงขวดนม เพื่อให้น้ำนมเทไปที่จุกขวดตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนูดูดเอาอากาศเข้าท้อง เพราะจะทำให้เขาเกิดอาการท้องอืด แน่นท้องขึ้นได้ และถ้าจะให้ดี ระหว่างให้นมควรหยุดไล่ลมให้เจ้าหนูสัก 1-2 ครั้ง
- พยายามให้เจ้าหนูกินนมให้หมดขวดในแต่ละมื้อ แต่ถ้าเจ้าหนูกินไม่หมด ควรเททิ้งไป อย่าเก็บไว้ และนำกลับมาให้เขากินต่อ เพราะจะทำให้เขาเกิดอาการท้องเสียได้
- กรณีที่คุณแม่ต้องการชงนมเตรียมเอาไว้ก่อนนั้น สามารถทำได้ โดยให้เก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อถึงเวลาที่จะป้อนนมให้เจ้าหนู ให้นำมาแกว่งในน้ำร้อนสัก 5 นาที ใช้หลังมือแตะดูพออุ่นจึงค่อยให้เขากิน โดยต้องพยายามให้เขากินให้หมดขวดในมื้อนั้นเลย ทั้งนี้เวลาในการเก็บรักษานมไว้ในตู้เย็นต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น
- หลังให้นมทุกครั้ง ควรให้เจ้าหนูดื่มน้ำตาม เพื่อสุขอนามัยภายในช่องปากของเจ้าหนูเอง
- กรณีที่ต้องเดินทางไปต่างสถานที่ ควรใช้ชั้นแบ่งนมให้ได้ตามจำนวนมื้อ เพื่อความสะดวก และให้คำนึงถึงเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการเตรียมนมให้ลูก
มื้อนม.. ช่วงเจ้าหนูอึไม่ออก
หมั่นให้เจ้าหนูได้ดูดน้ำคั่นช่วงระหว่างมื้อนมสัก 2-3 ครั้ง โดยให้ในปริมาณทีละน้อยๆ กรณีที่เจ้าหนูมีอึแข็ง และมีอาการร้องไห้งอแงทุกครั้งที่ถ่าย ควรให้น้ำลูกพรุน หรือน้ำผลไม้ร่วมด้วย
มื้อนม.. ช่วงจู๊ดๆ ของเจ้าหนู
ลดปริมาณของมื้อนมให้น้อยลงครึ่งหนึ่ง (สัดส่วนของน้ำ:นมผง ยังคงเท่าเดิม) แต่ให้เพิ่มจำนวนมื้อที่ป้อนให้ถี่ขึ้น พร้อมกับให้เจ้าหนูได้ดูดน้ำคั่นระหว่างมื้อด้วย เพื่อป้องกันการขาดน้ำ กรณีที่เจ้าหนูมีอึไหลเป็นน้ำออกมามาก ควรให้ป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสร่วมด้วย ถ้าหาก 2-3 วันแล้ว อาการท้องเสียยังไม่หาย ควรพาไปพบแพทย์
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566