Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เพราะทุกข์สุขของลูก คือ เรื่องสำคัญของแม่ ปัญหาเรื่องอึ.. อึ.. ของเจ้าหนู จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคุณแม่ทุกคน แค่ได้เห็น ลูกน้อยเบะปากร้องไห้ ถ้าไม่ใช่เพราะหิว ง่วง หรือไม่สบายตัวจากการเปียกแฉะ คุณแม่แทบทุกรายก็จะเบนความสงสัยไปที่ปัญหาเรื่องท้องทันที นั่นเพราะ เด็กเล็กจะมีระบบการย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงมักมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวข้องกับเรื่องท้องบ่อยๆ นั่นเอง
ความผิดปกติเพียงเล็กน้อยจากเรื่องอึๆ ของลูก จะไม่ทำให้คุณแม่เป็นกังวลใจจนเกินเหตุไปได้ ถ้าหากมีความเข้าใจในเรื่องอึๆ ของลูก
พัฒนาการของอึ.. (เจ้าตัวเล็ก)
ปริมาณ ความถี่ สี ขนาด และรูปร่างของอึ มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวันที่เจ้าหนูวัย 1 ขวบเติบโตขึ้น
แรกเกิด.. อึของเจ้าหนูจะมีสีดำ เหลวข้น คุณปู่คุณย่าเรียกอึแบบนี้ว่า ขี้เทา แต่ความจริงแล้ว นี่คือของเสียที่สะสมอยู่ในลำไส้ของเจ้าหนูตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังอยู่ในท้องของคุณแม่นั่นเอง ทันทีที่น้ำนม.. อาหารมื้อแรกถูกดูดจ๊วบเข้าไปในกระเพาะ น้ำนมจากอกแม่ก็จะเข้าไปไล่ให้ของเสียนี้ไหลออกมาเป็นอึสีดำเข้มในวันแรกๆ จากนั้น ก็จะค่อยๆ สีจางลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีเหลืองทองอร่ามในช่วงสัปดาห์ถัดมา
ช่วงแรกเกิด เจ้าหนูจะอึแทบจะทุกครั้งหลังกินนมจนอิ่ม หรือโดยเฉลี่ยก็จะมากถึง 3-5 ครั้งต่อวัน นั่นเพราะในน้ำนมแม่ช่วงเดือนแรกจะมีสารอาหารที่มีคุณสมบัติคล้ายยาถ่ายร่วมด้วย จึงทำให้เจ้าหนูถ่ายได้ถ่ายดีในช่วงแรกๆ
วัย 1-4 เดือน.. ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด สารที่มีคุณสมบัติเป็นยาถ่ายในน้ำนมแม่จะค่อยๆ หมดไป ทำให้ความถี่ในการอึของเจ้าหนูค่อยๆ ลดลง ในช่วงนี้ ถ้าเจ้าหนูยังกินนมแม่อยู่ อึของเขาจะมีสีเหลืองออกเขียว เหลวข้น แต่ถ้าหากกินนมผสม อึจะมีลักษณะเป็นก้อน โดยปริมาณของอึในการถ่ายแต่ละครั้งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
วัย 4-6 เดือน.. ลำไส้ที่ค่อยๆ มีพัฒนาการในการดูดซึมดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อึสีเหลืองเขียวของเจ้าหนู ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นสีเหลืองทองอร่ามมากขึ้น สำหรับเจ้าหนูที่กินนมแม่ เนื้ออึจะเหนียวข้นมากยิ่งขึ้น จนเกือบจะจับเป็นก้อน ส่วนเจ้าหนูที่กินนมผสม อึจะมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนแน่นเหนียวขึ้น อาหารเสริมที่เริ่มได้รับในช่วงวัยนี้ ทำให้อึของเจ้าหนูเริ่มมีกลิ่นตุๆ ออกมาบ้างแล้ว
วัย 6 เดือนขึ้นไป.. อาหารที่หลากหลายมากขึ้น อันเนื่องมาจากเจ้าหนูเริ่มหัดเคี้ยวเองได้ ทำให้อึที่ออกมาเริ่มส่งกลิ่นแรงขึ้นกว่าก่อน แต่ก็โชคดี ที่ความถี่ในการอึของเจ้าหนูลดลงเหลือประมาณ 1-2 หนต่อวัน ตอนนี้อึเจ้าหนูจะมีปริมาณมากขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้นตามขนาดของลำไส้ที่โตขึ้น ส่วนสีสันก็แปลกตาไปจากเดิม แต่โดยทั่วไปยังคงวนเวียนอยู่ที่สีเหลืองทอง, เหลืองอมเขียว, เหลืองเข้มจนออกสีแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาหารเสริมที่เขารับประทานเข้าไปนั่นเอง
อึแบบนี้ซิ.. มีปัญหา
คุณแม่ส่วนใหญ่ มักเข้าใจว่า ถ้าลูกไม่อึ 2-3 วัน แสดงว่า “ท้องผูก” หรือถ้าอึออกมาเหลว แสดงว่า ”ท้องเสีย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด และเป็นสาเหตุให้คุณแม่ดูแลลูกอย่างผิดอาการ จนอาจบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปในที่สุด
โดยปกติแล้ว ความถี่ในการอึของเด็กจะอยู่ที่ประมาณ 3 ครั้งต่อวัน ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แม้ในเด็กที่กินนมแม่เองก็ตาม อาการที่สามารถสรุปได้ว่าอึของเจ้าหนูมีปัญหาให้สังเกตดังนี้..
ท้องผูก.. ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เจ้าหนูแสดงอาการเจ็บปวดขณะถ่าย อึมีปริมาณไม่มาก มีลักษณะแห้ง แข็ง หรือเป็นเม็ด
ท้องเสีย.. ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน บางครั้งเจ้าหนูจะงอแง และมีไข้ร่วมด้วย
คุณแม่.. หมอประจำบ้าน
ปกติแล้ว อาการท้องผูก ท้องเสียจะหายได้เองในช่วงเวลา 2-3 วัน โดยคุณไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก และพาเจ้าหนูไปพบคุณหมอให้เสียเวลาเปล่า เพียงแค่ดูแลเจ้าหนูด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้..
ท้องผูก.. เจ้าหนูวัยแรกเกิด ให้ดื่มน้ำมากๆ ถ้าโตขึ้นมาสัก 4 เดือนขึ้นไปก็ให้ดื่มน้ำลูกพรุนร่วมด้วย สัก 2-3 วันก็จะหายได้เอง
ท้องเสีย.. ให้ละลายน้ำตาลเกลือแร่ ป้อนให้ลูกกินประมาณ 12-15 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ในทุก 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงค่อยให้กินนมต่อไป ถ้าเป็นนมผสม ไม่จำเป็นต้องชงให้เจือจางลง แต่ให้ลดปริมาณน้ำนมลง และเพิ่มจำนวนมื้อให้ถี่ขึ้น
อาการอย่างนี้ .. ต้องให้น้าหมอดูแล
ถ้าหากเลย 2-3 วันแล้ว อาการท้องผูก ท้องเสีย ยังเป็นปัญหากับเจ้าหนูอยู่ เห็นทีคุณแม่คงต้องพึ่งคุณหมอแล้วล่ะ วิธีดูว่าอาการของเจ้าหนูถึงขนาดต้องพึ่งคุณหมอหรือเปล่า สังเกตดังนี้
ท้องผูก.. เจ้าหนูร้องไห้งอแง แต่ไม่ยอมอึ หรือถ่ายเล็ดเลอะเทอะ แถมอึยังมีสีเลือดปนออกมา และบางครั้งอาจมีไข้ร่วมด้วย
ท้องเสีย.. เจ้าหนูมีไข้สูง ซึม อาเจียน อ่อนเพลีย กินไม่ได้ ปัสสาวะน้อยลง และบางครั้งอาจมีมูกเลือดปนมากับอึด้วย
โดยปกติแล้ว ท้องผูก ท้องเสีย จะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดนัก แต่จะเริ่มเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อเจ้าหนูเริ่มได้รับอาหารเสริมในช่วงวัย 4 เดือนขึ้นไป การได้รู้ และเข้าใจถึงพัฒนาการการขับถ่ายของลูก จะทำให้คุณแม่รับมือดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566