Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยของเจ้าตัวน้อยสร้างความปวดหัวให้คุณแม่ได้มากทีเดียว เพราะไม่รู้จะสื่อสารกับลูกอย่างไร บางทีลูกเอาแต่ร้องไห้ เพราะความทรมานจากอาการไข้ หรือบางทีก็เงียบซึม แต่ทราบไหมคะว่า บางครั้งอาการเหล่านั้นไม่ได้แปลว่าลูกของคุณจะเป็นไข้เสมอไป มาดูกันค่ะว่า 7 เรื่องที่เกี่ยวกับอาการไข้ของทารกน้อย มีเรื่องไหนบ้างที่คุณอาจยังไม่รู้
1.ตัวแดงเรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นไข้เสมอไป
คุณแม่ส่วนใหญ่เมื่อเห็นลูกน้อยตื่นนอนขึ้นมาตัวอุ่นๆ ผิวหน้าออกแดงเรื่อๆ มักร้อนใจคิดว่าลูกกำลังมีไข้ และคิดว่าต้องให้ลูกกินยาลดไข้ หรือพาไปหาหมอหรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว อุณหภูมิร่างกายของทารกก็ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่มากนัก อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ในช่วงบ่ายอุณหภูมิของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเช้า รวมถึงการสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ให้กับลูกน้อย ก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นได้เช่นกัน และมีผลให้การวัดไข้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ แต่โดยทั่วไปแล้วหากวัดได้อุณหภูมิที่สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสหรือ สูงกว่า 100.4 ° F นั่นหมายถึง เจ้าตัวน้อยมีไข้แล้วแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าตัวเล็กของคุณยังไม่ถึง 3 เดือน ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที
2. วัดไข้ให้แม่นยำต้องใช้แบบดจิทัล วัดทางทวารหนัก
โดยปกติแล้วเครื่องมือที่ใช้วัดไข้จะมี 3 แบบ คือแบบปรอท แบบดิจิทัล และแบบวัดทางหู ทั้งสามแบบนั้นปรอทถูกสุด แต่ใช้เวลานานสุดในการให้ผล ที่สำคัญคือต้องใช้ความระมัดระวังสูงในการใช้ เพราะเป็นแก้ว หากแตกขึ้นมาอาจทำให้ปรอทไหลเข้าสู่ร่างกายเจ้าตัวน้อยได้ ส่วนแบบวัดทางหู มีราคาแพงสุด ใช้เวลาน้อยสุด แต่ถ้ามีขี้หูอุดตันก็จะไม่มีความแม่นยำ ดังนั้นแบบดิจิทัล จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด คือให้ผลในเวลา 10-60 วินาที แต่ทั้งนี้ก่อนใช้ควรตรวจเช็กดูแบตเตอรี่ว่ายังเต็มอยู่ เพื่อผลการตรวจวัดที่แม่นยำ โดยจะให้ผลแม่นยำสุดหากวัดที่ทวารหนัก เพราะจะให้อุณหภูมิที่แท้จริงในเวลานั้น
3. ไข้จากเชื้อแบคทีเรีย น่ากลัวกว่าไข้จากเชื้อไวรัส
ไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในไข้หวัดลำไส้ หรือไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสมักจะลดลงภายในสามวัน ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นเนื่องจากไม่มีผลต่อไวรัส ซึ่งความรุนแรงจะน้อยกว่าไข้จากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคปอดบวม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ ซึ่งการรักษาไข้จากเชื้อแบคทีเรีย โดยมากมักจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มของยาปฏิชีวนะในการรักษา
4. สำหรับเจ้าหนูอายุต่ำกว่า 3 เดือน เมื่อมีไข้ต้องพาไปหาหมอทันที
เพราะเด็กเล็กสังเกตอาการได้ยาก ขณะที่ผนังเซลยังคงบอบบาง อาจถูกทำลายได้ง่าย และหากเจ้าหนูเป็นไข้จากเชื้อแบคทีเรียก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้นหากวัดไข้เจ้าตัวน้อยวัยต่ำกว่า 3 เดือนได้อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที โดยอย่าเพิ่งให้ยาใดๆ กับเจ้าตัวน้อยก่อนไปพบแพทย์ เพราะฤทธิ์จากตัวยาจะส่งผลต่ออาการไข้ที่แท้จริง ทำให้คุณหมอไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ
5. อุณหภูมิยิ่งสูง ไม่ได้แปลว่าลูกน้อยยิ่งมีอาการหนัก
บางครั้งอุณหภูมิร่างกายที่สูงยังไม่สำคัญเท่ากับอาการไม่สบายตัวของเด็ก ซึ่งคุณหมอเด็กให้ความสำคัญกับอาการไม่สบายตัวมากกว่าไข้สูง เพราะเด็กบางคนไข้สูงก็จริงแต่ยังสามารถเล่นได้ตามปกติ ไม่มีอาการใดแสดงออกถึงความไม่สบายตัว ควรมองที่อาการที่แสดงออกของเด็กมากกว่า นั่นเพราะอุณหภูมิที่สูงเพราะไข้ คือการแสดงออกถึงปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายที่มีต่อเชื้อโรคแปลกปลอมไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียก็ตาม
6. อาการไข้ คือการทำงานที่ปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อลูกเล็กไข้ขึ้นสูง แน่นอนว่าย่อมทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลใจ กลัวเจ้าตัวน้อยจะเป็นอะไรไปมากกว่านี้ แต่รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วอาการไข้ขึ้นสูง ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงอะไรต่อสุขภาพของเจ้าตัวน้อยเลย เป็นแต่เพียงกลไกการทำงานของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่หลุดรอดเข้ามาสู่ร่างกายได้ โดยเซลเม็ดเลือดขาวจะหลั่งสารเคมีออกมากระตุ้นให้สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ผลิตความร้อนออกมากำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมนั้น ขณะเดียวกันเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังจะขยายตัวเพื่อระบายความร้อนออกมา จนเป็นสาเหตุให้คุณแม่ได้เห็นเจ้าตัวน้อยตัวร้อน ตัวแดงหน้าแดงนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการไข้จะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา ดังนั้นอย่ากังวลใจมากไปนะคะ
7. ควรเช็ดตัวระบายความร้อนดีที่สุด ถ้าไม่หายค่อยให้ยาลดไข้ก็ยังไม่สาย
อย่างที่บอก.. อาการไข้ เป็นเพียงกลไกการทำงานของร่ายกายในการปกป้องตนเองจากเชื้อโรคร้าย ซึ่งไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไร แต่อาจส่งผลให้เจ้าตัวน้อยอึดอัดไม่สบายตัวจนร้องงอแงออกมาบ้าง ดังนั้น หากเจ้าตัวน้อยเป็นไข้ สิ่งที่คุณควรทำคือการเช็ดตัวลูกน้อยโดยใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่นเล็กน้อย สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนออกได้ง่าย วางผ้าเย็นบนหน้าผาก และให้จิบน้ำบ่อยๆ ก็จะช่วยลดอาการไข้ลงได้
แต่ถ้ายังไม่หายก็สามารถให้ยาลดไข้ได้ แต่ควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนให้ยา และไม่ควรให้ยากลุ่มแอสไพรินกับลูกน้อยที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้สมอง และตับเกิดอาการผิดปกติร้ายแรงขึ้นได้ ที่สำคัญไม่ควรให้ยาในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือนโดยเด็ดขาด ควรพาไปพบคุณหมอดีที่สุด
ท้ายสุด ในกรณีที่ลูกน้อยของคุณมีไข้ต่ำ ไม่งอแง และนอนหลับได้ดี ควรปล่อยให้เขาหลับพักผ่อนดีกว่าการปลุกให้มากินยา ร่างกายของเขาจะฟื้นตัวได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566