หนี้หารสองในชีวิตคู่

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

หนี้ก่อนแต่ง หรือหลังแต่ง หนี้แบบไหนที่ต้องหารสอง อีกหนึ่งบทเรียนที่คุณควรศึกษาเมื่อคิดครองเรือน เพื่อหาทางหนีทีไล่ไม่ให้เกิดหนี้ที่ต้องรับผิดชอบแบบไม่ทันรู้ตัว และเพื่อไม่ให้หนี้มาเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัว

หนี้ระหว่างสามี-ภรรยา (ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย) จะแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน คือ

หนี้ก่อนสมรส  เริ่มตั้งแต่ก่อนตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสกัน หากสามีหรือภรรยามีหนี้สินติดตัวมา เรียกว่าเป็นหนี้ที่แต่ละคนมีมาก่อนแต่งงานกัน ก็ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้นมาเป็นการส่วนตัว

หนี้ในระหว่างสมรส  เมื่อจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันแล้ว หากสามีหรือภรรยาฝ่ายใดเป็นผู้ก่อหนี้ขึ้น หนี้ที่เกิดขึ้นยังจัดเป็นหนี้ส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งต้องรับผิดชอบใช้หนี้กันเอง ยกเว้นว่าจะเป็นหนี้ร่วมกันหรือหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหนี้ร่วมกันถึงจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

หนี้ร่วมของสามี-ภรรยา  หนี้รวมหมายถึงหนี้ที่สามีและภรรยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เป็นหนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อขึ้นในระหว่างสมรสและกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นหนี้ร่วมกัน ซึ่งจะมีผลทำให้แม้จะมีชื่อของสามีหรือภรรยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้เพียงคนเดียว แต่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งมีอยู่ 4 กรณีคือ

1. หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน จัดกิจการอันจำเป็นในครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรโดยควรแก่อัตภาพ ซึ่งคำว่า “โดยควรแก่อัตภาพ” หมายความว่า หนี้เหล่านี้จะต้องมีจำนวนพอสมควรแก่อัตภาพของครอบครัว เพราะหากเกินสมควรแล้ว ส่วนที่เกินย่อมไม่ถือว่าเป็นหนี้ร่วมแต่กลายเป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายนั้นได้ เช่น หนี้ที่สามีไปค้ำประกันการทำงานให้กับญาติพี่น้องหรือเพื่อนเป็นการส่วนตัว ภรรยาย่อมไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องร้องในเวลาต่อมา ในขณะเดียวกัน หากหนี้ในข้อนี้สมควรกับอัตภาพแต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สามี-ภรรยาแยกกันอยู่ โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนหย่าก็ยังถือว่าเป็นหนี้ร่วมของทั้งสองฝ่าย

2.หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น กู้ยืมเงินมาซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรส เป็นต้น

3.หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามี-ภรรยาทำด้วยกัน เช่น สามีและภรรยาเปิดกิจการร้านอาหาร โดยมีภรรยาเป็นคนดูแลร้าน และสามีเป็นคนซื้อเชื่อวัตถุดิบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในร้านอาหาร หนี้ค่าซื้อเชื่อที่เกิดขึ้นจัดเป็นหนี้ร่วม เป็นต้น

4.หนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบัน หนี้ประเภทนี้เดิมทีจะผูกพันแต่เฉพาะสามีหรือภรรยาฝ่ายที่ไปก่อหนี้ขึ้น แต่ถ้าสามีหรือภรรยาได้ไปให้สัตยาบันจะมีผลให้หนี้ดังกล่าวที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามี-ภรรยา การให้สัตยาบันอาจจะเป็นการให้ด้วยปากเปล่า หรือลงลายมือชื่อให้ความยินยอมเพื่อให้คู่สมรสของตนกู้ยืมเงิน หรือลงรายมือชื่อในฐานะพยานในสัญญากู้ยืมเงิน



การชำระหนี้
- สามีและภรรยาต้องรับผิดชอบชำระหนี้ที่ตัวเองก่อให้ก่อนหรือระหว่างสมรสเป็นการส่วนตัว โดยชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

- ถ้าสามี-ภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันให้ชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

- หากสามีหรือภรรยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันได้โดยอำนาจกฎหมาย นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย สามีหรือภรรยาฝ่ายที่มิได้เป็นหนี้มีหน้าที่ต้องกันส่วนของตนเองไว้

- เมื่อแยกสินสมรสแล้ว ส่วนที่แยกออกย่อมเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย หากมีหนี้ซึ่งเป็นหนี้ร่วมเกิดขึ้นหรือค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน สามี-ภรรยาต้องช่วยกันใช้หนี้ตามส่วนที่แต่ละฝ่ายมีสินส่วนตัวอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้