สมาชิกใหม่ในบ้านกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ลูกเป็นเหมือนสร้อยทองคล้องใจคนสองคน หากแต่คู่รักหลายคนกลัวตัวเองยังไม่พร้อมรับผิดชอบสมาชิกใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่แน่นอนว่าต้องมีเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงลูกคงไม่สามารถแจงเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ เพราะของอย่างนี้สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวได้ กระนั้นเราสามารถแจกแจงให้พอรู้ได้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ในราคาประมาณเท่าไร ซึ่งก็จะช่วยให้คู่รักทั้งหลายมีข้อมูลใช้ประกอบการพิจารณาได้ว่า คุณพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการมีสร้อยทองคล้องใจ

ค่าใช้จ่ายสำหรับลูกหนึ่งคน

ช่วงแรกคลอด ถึงก่อนเข้าเรียน

- ค่าวัคซีน และค่ารักษาพยาบาล

- ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้เด็ก อาทิ เสื้อผ้า ผ้าออม ขวดนม ที่นึ่งขวดนม อ่างอาบน้ำ เปล ฯลฯ

- ค่าของกินของใช้เด็ก อาทิ นม อาหารเสริม สบู่ ยาสระผม แป้ง ฯลฯ

- ค่าพี่เลี้ยง หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก (กรณีไม่มีคนช่วยเลี้ยง และพ่อแม่ต่างก็ต้องทำงาน)

- อุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ เช่น ของเล่นต่างๆ 

ช่วงอนุบาล ถึงประถม

- ค่าวัคซีน และค่ารักษาพยาบาลลดลง

- ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ลดลง แต่จะไปหนักเรื่องของเล่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเด็กบอกจำเป็นเพราะจะช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก แต่ของพวกนี้ก็สามารถ DIY ได้เหมือนกัน

- ค่าของกินของใช้หลายอย่างเหมือนเดิม แต่อาจหนักค่าขนมเพิ่มขึ้น

- ค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมตั้งแต่ ค่าเทอม ค่ารถรับ-ส่ง ชุดนักเรียน หนังสือ กิจกรรมเสริม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ



ค่าใช้จ่ายทวีคูณของลูกแฝด

โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจกันว่า เมื่อมีลูกแฝดแล้วทุกอย่างจะต้องดับเบิ้ลขึ้นเป็นสองเท่าทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงดู รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !

อันที่จริงมันก็มีส่วนถูกอยู่มากทีเดียว แต่ถ้าหากพิจารณากันจริงๆ แล้ว สิ่งที่เพิ่มขึ้นมันไม่ได้ทวีคูณขึ้นมาเป็นเท่าตัวหรอก บางสิ่งบางอย่างเราสามารถตัดทอนให้ภาระมันเบาบางลงมาได้บ้าง อย่างเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ถ้าหากมานั่งลิสต์รายการสิ่งของที่จะต้องใช้กันจริงๆ แล้ว จะเห็นว่ามีของใช้หลายชิ้นที่คุณไม่จำเป็นต้องซื้อสองชิ้นให้สิ้นเปลืองไปเปล่าๆ 

อะไรต้องซื้อ อะไรไม่ต้องซื้อ หรืออะไรต้องซื้อเท่าไหร่ ของอย่างนี้คงต้องวางแผนกันล่วงหน้า เช็กลิสต์ด้านล่างอาจช่วยคุณได้

ของที่แบ่งกันใช้ได้
ของใช้บางอย่างที่สามารถให้เขาใช้ร่วมกันได้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ จะได้มีเงินเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายไปกับของใช้สิ้นเปลืองที่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ 

-เปล

-เปลโยก

-เตียงนอน

-รถเข็นเด็ก

-รถหัดเดิน

-โต๊ะ

-ของเล่น

-ประตู หรือรั้วกั้นบริเวณ

-หม้อนึ่งขวดนม

ของที่ใช้เพียงช่วงเวลาหนึ่ง
ยังมีของใช้เด็กอีกหลายชิ้น ที่จำเป็นใช้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้นแล้ว ของชิ้นนั้นก็จะหมดประโยชน์ไป ถ้าหากคุณไม่คิดจะมีลูกอีกของเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ของใช้ในลักษณะนี้ยิ่งไม่ควรซื้อมากชิ้นให้สิ้นเปลือง 

-อ่างอาบน้ำเด็ก

-ปรอทวัดไข้ทางหู

-กรรไกรตัดเล็บ

-หลอดดูดยา

-หวี

-มุ้ง

ของที่ต้องซื้อเพิ่มเป็นเท่าตัว
ของเหล่านี้บางอย่างก็สามารถแบ่งกันใช้ได้ เช่น เสื้อผ้า ถ้วย ชาม ช้อน แป้ง สบู่ ยาสระผม บางอย่างก็ไม่สามารถแบ่งกันใช้ได้ แต่รวมๆ แล้ว คุณต้องซื้อเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีลูกแฝด

-เสื้อผ้า

-ผ้าอ้อม

-ขวดนม น้ำยาล้างขวดนม แปรงล้างขวดนม

-ถ้วย ชาม ช้อน

-นม และอาหารเสริม

-แป้ง สบู่ ยาสระผม น้ำยาซักผ้าเด็ก

โดยปกติทั่วไปแล้วเด็กทารกจะยังไม่รู้จักถึงความเป็นเจ้าของ คุณควรฉวยโอกาสนี้ในการส่งเสริมวัฒนธรรมของการแบ่งปันร่วมกันระหว่างพี่น้องฝาแฝดของเขา ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตการใช้จ่ายเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยฝาแฝดในวันข้างหน้าของคุณนั่นเอง 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้