Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ตรุษจีน แม้จะเป็นวันรื่นเริงที่สมาชิกภายในครอบครัวได้มีโอกาสมานั่งล้อมวงกินข้าวร่วมโต๊ะ พูดคุยถึงสารทุกข์สุขดิบกัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่หลายท่านต้องควักกระเป๋าใช้จ่ายเงินกันจนเรียกว่า หลังตรุษจีนเอามือล้วงกระเป๋าแล้วใจหายวาบ ว่ากันว่าตรุษจีนทีมีเม็ดเงินสะพัดเฉพาะทั่วไทยก็เป็นพันล้านบาท ขนาดช่วงเศรษฐกิจทรุดสุดตัว ก็ยังมีเงินไหลสะพัดเฉพาะในช่วงตรุษจีนหลายล้านบาท ในวันตรุษจีนคุณต้องเสียเงินไปกับค่าอะไรบ้าง หลักๆ ก็มีเพียงแค่ 2 อย่างเท่านั้น นั่นก็คือ ซื้อข้าวของมาไหว้ และจ่ายแต๊ะเอียให้กับลูกๆ หลานๆ ใครลูกหลานมากหน่อยก็ต้องควักมากหน่อย ใครลูกหลานน้อยก็ควักน้อยหน่อย
วันตรุษจีน จึงเป็นวันที่เด็กๆ กระดี๊กระด้ามากที่สุด เพราะจะได้รับอั่งเปาจากพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่ อย่างคุณก็คงเป็นวันรื่นเริงอีกวันที่หนีไม่พ้นต้องหาเงินมาใช้จ่ายมากกว่าปกติ การวางแผนใช้เงินที่ดี เริ่มตั้งแต่แหล่งที่มาของเงินที่คุณจะนำมาใช้จ่าย จนถึงใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่า จึงเป็นหนทางที่จะทำให้คุณได้สังสรรค์ในวันตรุษจีนอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องนานั่งกังวลกับเงินที่ใช้จ่ายไป
1. แหล่งที่มาของเงิน
-โบนัสสิ้นปี หากโชคดีวันตรุษจีน ไม่ห่างจากช่วงสิ้นปีนี้มากนัก นั่นก็เท่ากับว่า คุณกับคู่ชีวิตเพิ่งรับโบนัสมาหยกๆ ซึ่งน่าจะเป็นเงินก้อนโตพอนำมาจับจ่ายได้คล่องมือในช่วงตรุษจีนทีเดียว ยิ่งถ้าบริษัทไหนเจ้าของเป็นคนจีน บางทีคุณอาจได้รับเงินก้อนโบนัสก็ช่วงนี้พอดี หรือบางรายโชคดีได้โบนัสสิ้นปีแล้ว ยังได้เงินแต๊ะเอียอีกอย่างนี้ก็ไม่ต้องกลุ้มกับเงินที่จะมาจับจ่ายช่วงตรุษจีนแล้วล่ะ
-เงินออมของครอบครัว โดยปกติแล้ว นักวางแผนการเงินมักจะแนะนำให้แต่ละครอบครัวสะสมเงินออมไว้สำหรับใช้สอยในยามฉุกเฉิน คุณสามารถที่จะดึงเงินก้อนนี้มาใช้ก่อนล่วงหน้าบางส่วน รอเมื่อโบนัสออกแล้วค่อยนำมาโปะคืนก็ได้ แต่ถ้าครอบครัวของคุณยังไม่เคยมีเงินเหลือเก็บกันเลย เห็นทีคุณจะต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อการณ์นี้ล่วงหน้าสักปี
-ตัดจากรายจ่ายประจำเดือนบางส่วน ลองสำรวจดูรายการใช้จ่ายประจำเดือนของคุณดู คุณจะพอมองออกว่า รายการใดบ้างที่ควรตัดทิ้ง รายการใดที่สามารถเลื่อนการใช้จ่ายออกไปอีกสักเดือน แล้วนำเงินนั้นมาใช้จ่ายสำหรับเทศกาลตรุษจีน แต่แหล่งรายได้นี้ อาจได้เงินไม่มากพอสำหรับการใช้จ่าย ดังนั้น คุณต้องลดรายการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนลงไปบ้าง ให้พอเหมาะพอดีกับเงินที่มีอยู่
ที่อยากจะฝากเอาไว้ตรงนี้ก็คือ คุณไม่ควรถึงขนาดต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายในวันตรุษจีนเด็ดขาด การยึดถือตามประเพณีกราบไหว้บรรพบุรุษนั้นเป็นสิ่งดี การสังสรรค์รื่นเริงร่วมกันกับพ่อแม่ญาติพี่น้องในวันมงคลก็เป็นเรื่องที่ควร แต่ถ้าหากถึงขนาดต้องไปเป็นหนี้คนอื่นแล้วล่ะก้อ มันไม่ต่างอะไรกับสุขเพียงวัน แต่ขมขื่นไปเป็นปี
2. วางแผนการใช้จ่าย
1. ทำรายการของกินของใช้ที่คุณต้องการซื้อในวันจ่าย
2. ออกสำรวจราคาสินค้าเหล่านั้น (ระดับราคาในช่วงภาวะปกติ)
3. รวบรวมรายชื่อผู้หลักผู้ใหญ่ ที่คุณต้องให้อังเปา
4. รวบรวมรายชื่อลูกหลานทั้งหมดของคุณ โดยต้องกำหนดในลักษณะที่ว่า บ้านไหนมีเด็กกี่คน ที่ต้องกำหนดลักษณะนี้ เพราะการที่คุณเข้าไปเยี่ยมบ้านไหน คุณก็คงต้องให้อังเปากับเด็กทุกคนในบ้านหลังนั้น การกำหนดลักษณะนี้จะทำให้คุณ วางแผนการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
5. ลงตัวเลขหลังรายชื่อที่คุณต้องการจะให้แต่ละคน ซึ่งโดยปกติคนจีนจะให้โดยยึดเลขสี่เป็นหลัก และจะให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการอวยพรให้มีความเจริญกับผู้รับ แต่ในยุคสมัยใหม่อาจมองในเรื่องของความเหมาะสม เช่น เด็กเล็กก็อาจให้น้อยหน่อย เพราะเขายังใช้เงินไม่เป็น ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อย หากไม่ใช่เด็กเกเรอะไร ก็ให้มากหน่อย เพื่อที่เขาจะได้นำไปใช้ในเรื่องการศึกษา
6. รวมตัวเลขทั้งหมด แล้วเปรียบเทียบปริมาณเงินที่คุณมีอยู่ หากตัวเลขรายจ่ายที่รวมได้มากเกินกว่าเงินก้อนที่คุณเตรียมไว้ ให้นำรายชื่อเด็ก และญาติผู้ใหญ่ ที่คุณเตรียมอังเปาจะให้ มาทบทวนดูความเหมาะสมอีกครั้ง หากใครตัดได้ก็ให้ตัดไป
3. ซื้อของสำหรับวันไหว้
- ซื้อล่วงหน้าก่อนวันจ่าย เป็นปกติธรรมดาอุปกรณ์ของใช้ที่เป็นส่วนสำคัญของวันเทศกาลมักจะมีราคาแพงในช่วงเทศกาลนั้นๆ แต่พอพ้นเทศกาลปุ๊บ ราคาก็จะตกฮวบลงมาอยู่ในระดับราคาปกติ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ในวันวาเลนไทน์ คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่า ดอกกุหลาบที่ขายในช่วงใกล้ๆ วันวาเลนไทน์จะแพงเวอร์ขึ้นมาทันที จากเดิมที่ดอกละประมาณ 10-20 บาท ในเกรดเดียวกันจะขึ้นมาเป็น 70-100 บาท แต่พอคล้อยหลังวันเทศกาลปุ๊บ ราคาดิ่งลงจากยอดเขาสู่ก้นเหวทันที ถ้าคุณฉลาดหน่อยก็ซื้อดอกกุหลาบให้คนรักซะก่อนหรือหลังเทศกาลวันวาเลนไทน์สักวันสองวัน ก็ไม่ต้องไปเข้าคิวซื้อของแพงคุณภาพเดิมให้สิ้นเปลืองไป
แน่นอนค่ะ! สำหรับเทศกาลตรุษจีน คุณคงไม่สามารถที่จะเลื่อนวันไหว้ออกไปสัก 2-3 วันได้ แต่คุณสามารถออกหาซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเซ่นไว้ก่อนวันจ่ายได้ แถมยังไม่ต้องไปเดินเบียดเสียดยัดเยียดกับฝูงชนเพื่อหาซื้อของอีกห่างหาก ยิ่งเป็นของแห้งยิ่งซื้อเก็บไว้ก่อนตรุษจีนได้นานหน่อย แต่ถ้าเป็นของสด ก็ต้องใช้เทคนิคนิดหน่อย ถึงตอนนี้ก็ต้องงัดวิชาการถนอมอาหารออกมาใช้ เคล็ดลับเก็บรักษาอาหารที่ดีจะทำให้คุณถนอมของสดเอาไว้ได้นานทีเดียว
-ซื้อของไหว้ให้พอกับฐานะ และสถานการณ์ หากคุณมีเงินน้อย ก็เลือกซื้อเฉพาะแต่รายการที่จำเป็นมาไหว้ หรือไหว้พอเป็นพิธี มีเงินเท่าไหร่ก็ไหว้เท่านั้นนั่นแหละ
4. แจกอังเปา
- ถ้าหากเงินก้อนที่คุณเตรียมไว้เป็นเงินจำนวนน้อยจริงๆ คุณอาจตัดในส่วนอังเปาของเด็กๆ ไปได้ ส่วนผู้ใหญ่ที่จะให้ ก็ให้พิจารณาในเรื่องของความสัมพันธ์ในเชิงบุญคุณเป็นหลัก แล้วตามด้วยฐานะของบุคคลนั้น
- เลือกแจกเฉพาะบ้านที่มีลูกไม่มาก เมื่อคุณแจกอังเปาให้กับเด็กคนใดคนหนึ่งในบ้านเขาแล้ว ถ้าให้ไม่ครบ เด็กๆ ก็ตีกันแย่ ปกติเมื่อให้คนหนึ่งก็ต้องให้หมดทุกคน ดังนั้นถ้าคุณคำนวณดูแล้วว่าบ้านไหนลูกหลานเยอะ ก็ตัดใจไม่ต้องให้ซะเลยดีกว่า หรืออาจจะเลือกใส่อังเปาให้แต่เฉพาะเด็กเล็กก็ได้
- พิจารณาเงินที่มีอยู่เป็นหลัก ถ้ามีน้อย ให้เก็บเงินไว้แจกแต่เฉพาะบ้านที่ให้อังเปากับลูกคุณ เพราะถ้าเขาให้ลูกคุณ ถึงแม้จะให้โดยไม่ได้คิดอะไรตอบแทน แต่ถ้าคุณไม่ให้ลูกหลานเขากลับ ก็คงน่าเกลียดแย่
- นำเงินอังเปาของคุณ (ถ้ามี) กับของลูกหลานคุณเองมาหมุนเวียนใส่อังเปาแลกกลับคืนให้กับลูกหลานบ้านอื่นไป ยิ่งสมัยนี้เขาก็ทำกันแบบนี้ทั้งนั้น บ้านไหนลูกน้อยก็เสียเปรียบหน่อย
- ถ้าคุณไม่มีเงินสำหรับการแจกอังเปาเลย ขอแนะนำให้คุณอยู่กับบ้านเฉยๆ ในช่วงตรุษจีน เอาส้มไปอวยพรญาติผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณใหญ่หลวงกับเราจริงๆ เท่านั้นก็พอ เวลาไปก็ให้เลือกไปในวันปกติที่เด็กๆ จะไปเรียนกัน เพื่อหลีกเลี่ยงเจอเด็กๆ เพราะถ้าเจอกันซึ่งหน้าบางทีไม่ให้ก็กระอักกระอวลใจเหมือนกัน ไม่เห็นไม่เจอยังจะดีเสียกว่า
13 พ.ค. 2567
28 มิ.ย. 2567
10 พ.ค. 2562