Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
โดยทั่วไปคนเราจะเกษียณเมื่ออายุเฉลี่ยที่ 55-60 ปี ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 85 ปี ส่วนผู้หญิง 90 ปี นั่นหมายความว่าชีวิตช่วงวัยถดถอยความสามารถในการเลี้ยงชีพของชายและหญิงจะมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 25 -30 ปีโดยประมาณ ชีวิตในบั้นปลายไม่มีใครอาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแน่ชัด ดังนั้นเพื่อไม่ประมาณคุณควรออมเงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในวัยเกษียณ เพื่อให้คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาลูกหลานมากนัก
เมื่อตั้งใจจะออมเงินเพื่อวัยเกษียณ คำถามที่ตามมาคือ ต้องมีเงินมาแค่ไหนถึงจะพออยู่ได้อย่างสบาย แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตหลังเกษียณย่อมแตกต่างไปจากไปจากเดิม การได้รู้ว่าวันข้างหน้าคุณจะต้องใช้เงินไปกับเรื่องใดบ้าง และเป็นตัวเลขประมาณการณ์เท่าใด เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกำหนดเป้าหมายการออมเพื่อชีวิตวัยเกษียณของคุณ
ค่าใช้จ่ายหลังวัยเกษียณ
เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนคงเดาว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ น่าจะลดลงไปเพราะไม่ต้องแบกรับภาระผ่อนซื้อทรัพย์สินต่างๆ ที่จำเป็นใช้สำหรับชีวิต อีกทั้งลูกๆ ก็จบการศึกษากันไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงแม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างลดลง แต่ก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ภาษี เงินจ่ายภาษีจะอิงกับรายได้เป็นหลัก เมื่อคุณไม่ได้ทำงานแล้ว และไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เว้นแต่คุณยังคงมีรายได้แม้จะอายุมากเพียงใดก็ยังคงต้องจ่ายภาษีอยู่นั่นเอง
ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยทั่วไป ในวัย 55 ปีเป็นต้นไป บุตรหลานมักสำเร็จการศึกษาแล้ว ดังนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงลดลง จนถึงไม่มี
ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือทรัพย์สินต่างๆ จะลดลงหรือหมดไป อีกทั้งทรัพย์สินเหล่านี้ยังเป็นหลักประกันให้คุณมีความเป็นอยู่ที่ดีด้วย
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร ค่าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ เมื่อคุณไม่ได้ทำงาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ลดลง
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เริ่มเข้ามาเยี่ยมเยียน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ โรคเหล่านี้ถือเป็นโรคเรื้อรังที่คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว เมื่อเกษียณอายุ คุณอาจเหมือนหลายคนที่ตอบแทนความเหนื่อยยากตลอดชีวิตที่ผ่านมาด้วยการให้รางวัลกับชีวิต โดยใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ และเมื่อคุณอยากท่องเที่ยวมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านนี้ของคุณก็เพิ่มตามไปด้วย
เงินไม่พอใช้เพราะไม่วางแผนการออม
คราวนี้คุณคงเห็นแล้วว่าใช้ว่าหลังเกษียณไปแล้วคุณจะมีแต่ค่าใช้จ่ายในการกินอยู่เท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบายไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน คุณต้องเตรียมเงินไว้เพื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเอาไว้ให้มาก กระนั้นคนส่วนใหญ่มักมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ นั่นเพราะมีสาเหตุหลักๆ มาจาก
1. ไม่ได้วางแผนการเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ แน่นอนหากคุณไม่เคยวางแผนการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ คุณจะไม่รู้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ควรมีรายได้ในแต่ละเดือนเท่าไหร่ และเงินที่ออมไว้เพียงพอสำหรับใช้ในช่วงหลังเกษียณหรือไม่ ดังนั้น เริ่มแรกสุดสำหรับการออมเพื่อวัยเกษียณคือ คุณควรรู้ว่าจะวางแผนอย่างไร
2. เริ่มออมช้าเกินไป หากคุณเกษียณอายุที่ 55 ปี และคาดว่าจะใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ตลอดช่วงอายุหลังเกษียณประมาณ 25 ปี คุณจะต้องมีเงินก้อน ณ เวลาเกษียณไม่น้อยกว่าสามล้านบาท หากคุณเริ่มออมช้า เช่น เริ่มออมเมื่ออายุ 50 ปี คุณต้องออมประมาณเดือนละ 50,000 บาท หากเริ่มออมเมื่ออายุ 20 ปี คุณสามารถออมเพียงเดือนละประมาณ 7,000 บาทก็เพียงพอ
3. ออมน้อยเกินไป โดยทั่วไป เรามัดคิดถึงการออมเพื่อเกษียณเมื่ออายุมากแล้ว หรือประมาณ 35 ปีขึ้นไป เมื่อเริ่มออมช้า ทำให้จำนวนเงินที่เราควรจะต้องออมก็เพิ่มมากขึ้น และสูงเกินกว่าความสามารถในการออมของเรา ทำให้จำนวนเงินที่ออมไดจริงมีน้อยเกินไปที่จะทำให้เราสามารถมีเงินก้อนตามที่เราคาดหวังในวัยเกษียณ
4. ขาดวินัยในการออม เนื่องจากการออมเงินเพื่อเกษียณอายุเป็นการออมระยะยาวสำหรับช่วงชีวิตที่ยาวนาน 25-30 ปี ดังนั้น เงินก้อนที่ควรจะต้องมีจึงเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก นั่นคือนอกจากต้องเริ่มออมตั้งแต่เนิ่นๆ และออมในจำนวนเงินที่มากพอ คุณต้องมีวินัยในการออมด้วย ซึ่งแปลว่าเมื่อประเมินว่าตั้งใจจะออมเดือนละเท่าไหร่ คุณจะออมให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ หากไม่มีวินัยในการออม เงินออมที่คุณคาดหวังไว้ ณ เกษียณก็จะเป็นไปไม่ได้
5. ออมไม่เหมาะสมกับตนเอง หลายคนกลัวเรื่องความเสี่ยงมากเกินไป ออมเงินแต่ฝากเงินธนาคารซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แน่นอนเมื่อความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำด้วยเช่นกัน เมื่อผลตอบแทนของเงินออมต่ำ คุณต้องออมเงินในจำนวนที่มากขึ้นจึงจะสามารถมีเงินก้อนตามที่หวังได้ แต่การออมเงินในจำนวนที่มากขึ้นก็จะสร้างภาระให้คุณมากขึ้นเช่นกัน
ตำราบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญหลายเล่มแนะนำตรงกันว่า จำนวนเงินที่พอเหมาะสำหรับใช้จ่ายช่วงวัยเกษียณอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณไม่แตกต่างจากชีวิตก่อนเกษียณเท่าไรนัก แต่เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาคูณจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อหลังเกษียณ ก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องมีการเก็บออมกันตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน เป็นที่น่าเสียดายคนส่วนใหญ่เริ่มนึกถึงการเก็บออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณ ก็เมื่ออายุล่วงเลยเข้าสู่วัยที่เริ่มปลดเปลื้องภาระ จึงทำให้เป้าหมายในการเก็บออมเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้หลังเกษียณกลายเป็นเรื่องยาก เพราะจำนวนเงินที่ต้องกันไว้สำหรับเก็บออมบางครั้งเป็นตัวเลขที่สูงยิ่งกว่ารายได้ในแต่ละเดือนด้วยซ้ำไป
การออมที่ไม่เป็นภาระเบียดบังความสุขในชีวิตปัจจุบัน และสามารถไปได้ถึงเป้าหมายตามกำหนด จึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้เงินออมทำงานแทนคุณ เป็นอีกเรี่ยวแรงที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินออมให้งอกเงย
สูตรการออมที่ไม่เป็นภาระหนัก
เริ่มต้นกำหนดเงินออม โดยพิจารณาจากเงินเดือน หักค่าใช้จ่ายจำเป็น ที่เหลือจะเป็นตัวเลขที่คุณสามารถออมได้โดยไม่เป็นภาระหนักเกินไป จากนั้นให้มองหาแหล่งลงทุนที่จะช่วยเพิ่มค่าเงินออมของคุณ โดยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ด้านล่างเป็นตัวอย่างแนะนำการจัดสัดส่วนลงทุนที่เหมาะสม
ส่วนที่ 1 ออมเงินในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล และนายจ้าง เช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่จะมีผลประโยชน์ด้านส่วนลดภาษี ส่วนที่ 2 ลงทุนในหุ้น ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณไม่มีความชำนาญพอควรเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมจะปลอดภัยกว่า
ส่วนที่ 3 ลงทุนในแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยพิจารณาให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม
ส่วนที่ 4 ลงทุนในหลักประกันต่างๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันรายได้ และประกันการว่างงาน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ประกันเหล่านี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องรบกวนเงินออม
ส่วนที่ 5 เก็บเงินไว้ในธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และตราสารทางการเงินต่างๆ เพื่อสร้างสภาพคล่อง เผื่อไว้ในกรณีเกิดเหตุจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินขึ้นมา
รูปแบบการลงทุนที่เหมาะในแต่ละช่วงวัย
ให้พิจารณาถึงความสามารถในการหารายได้เป็นหลัก จากนั้นจึงนำเอาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ความถนัดในการลงทุน มาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งโดยหลักแล้ว รูปแบบการลงทุนที่เหมาะในแต่ละช่วงวัยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงอายุ 25 -35 ปี วัยเริ่มต้นทำงาน จนถึงเริ่มต้นชีวิตคู่ ยังไม่มีภาระอะไรมากนัก อีกทั้งความสามารถในการหารายได้สูง แบกรับความเสี่ยงได้มาก ควรลงทุนในหุ้น 75% ตราสารหนี้ 25% เพื่อให้เงินออมมีขีดความสามารถในการเพิ่มค่าสูงสุด
ช่วงอายุ 36-45 ปี ความสามารถในการหารายได้สูงสุด แต่แบกรับความเสี่ยงได้น้อยลงเพราะภาระการเลี้ยงดูบุตร และสร้างครอบครัว ควรลงทุนในหุ้น 55 % ตราสารหนี้ 45 %
ช่วงอายุ 46-55 ปี ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มลดลง แต่ความสามารถในการหารายได้ก็ลดถอยลงตามไปด้วย ควรลงทุนในหุ้น 35 % ตราสารหนี้ 65 %
ช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป ความสามารถในการหารายได้ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ จึงควรลงทุนในหุ้น 25 % ตราสารหนี้ 75 %
กระนั้น แม้อยู่ในวัยเกษียณแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเองเลย เพราะถึงแม้คุณจะไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงาน แต่เงินออมที่มีอยู่ยังสามารถทำงานแทนคุณได้ การแบ่งส่วนเงินออมไปลงทุนในแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงจะทำให้คุณยังคงมีรายได้อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผลจ่ายทุกปี และกระจายการลงทุนไปในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม
13 พ.ค. 2567
10 พ.ค. 2562
28 มิ.ย. 2567