Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ถ้าให้ตอบคำถามนี้อย่างง่ายๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก คงต้องบอกว่าผ่อนบ้านก่อนผ่อนรถย่อมดีกว่าแน่นอน แต่กระนั้นจะดีกว่าจริงหรือไม่ ยังต้องพิจารณาในเรื่องอื่นประกอบด้วย เพราะการทำสัญญาผ่อนบ้าน หรือรถนั้นเป็นการสร้างภาระทางการเงินที่คุณต้องแบกรับไปอีกหลายปี บ้านประมาณ 20-30 ปี ส่วนรถประมาณ 5 ปีเป็นอย่างสูง ซึ่งภาระนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อความคล่องตัวของคุณในโอกาสข้างหน้าที่อยากขยับขยายทำสัญญาสินเชื่ออื่นอีก ดังนั้นผ่อนบ้าน หรือผ่อนรถ ผ่อนอะไรก่อนดี จึงต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความจำเป็นของแต่ละบุคคล ลองไปดูกันว่าเหตุผลที่คนซื้อบ้านก่อนรถ และคนที่ซื้อรถก่อนบ้าน เขามีวิธีคิดกันอย่างไร เผื่อจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
4 เหตุผลที่คนซื้อบ้านก่อนรถ
1. กู้เงินซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ปกติธนาคารผู้ให้กู้จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้โดยดูความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้เป็นหลัก หากคุณมีรายได้ไม่แน่นอน แถมยังมีหนี้สินอยู่อีก ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะถูกนำมาเป็นปัจจัยที่ใช้ร่วมประเมินว่าควรปล่อยสินเชื่อให้คุณหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ผ่านไปง่ายๆ จนกว่าคุณจะไปเคลียร์หนี้อื่นๆ ให้หมดก่อน ขณะการทำสัญญากู้เงินซื้อรถจะผ่านง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่เรื่องมาก เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้รถจริงๆ กู้ซื้อรถมือหนึ่งไม่ได้ ก็ถอยมือสองออกมาใช้ไปก่อน
2. บ้านเป็นสินทรัพย์ที่แพงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งถ้าเลือกผ่อนบ้านที่มีที่ดิน และเป็นตึกแถวหรือทาวน์เฮ้าส์จะได้ทำกิจการของตัวเองไปด้วย เป็นแหล่งสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง หนุ่มสาวออฟฟิคจำนวนมาก เลือกผ่อนคอนโดก่อนเพราะชีวิตเมืองกรุง อยู่คอนโดสะดวกสุดแล้วแถมค่าผ่อนก็ไม่สูงมากนัก (ถ้าไม่เลือกหรูจนเกินตัว) ผ่อนสบายๆ เมื่อหน้าที่การงานสูงขึ้นก็ขยับไปซื้อบ้าน ส่วนคอนโดก็ปล่อยให้เขาเช่าเอาเงินค่าเช่าคอนโดมาผ่อนรถก็ยังได้
3. หากซื้อรถก่อนจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากมายทั้งค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมัน หรือจะติดตั้งแก๊สก็ต้องมีค่าติดตั้ง ค่าแก๊ส เมื่อเสียก็ยังมีค่าซ่อมอีก ไหนจะค่าผ่อนชำระรายเดือนที่มักจะมีจำนวนมากกว่าผ่อนบ้านประมาณเท่าตัว เพราะจำนวนเวลากู้สั้นกว่า รายการค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้คุณกู้เงินซื้อบ้านได้ยากขึ้นเมื่อคิดอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง
4. 10 ปี รถกลายเป็นซาก แต่บ้านยังมีราคา เพราะมูลค่าของบ้านมีโอกาสขึ้น และถ้าจะมีค่าเสื่อมราคาก็มีในอัตราที่ช้ากว่าค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ เคยได้ยินหรือไม่ว่ารถยนต์พอถอยออกมาจากศูนย์ราคาก็ตกลงมาแล้ว 20-30% โดยประมาณ แต่ราคาบ้านนั้นหากไม่บังเอิญโชคร้ายไปเจอบ้านที่ถูกเล็งให้เวนคืน ซื้อมาเท่าไหร่ ราคาก็แกว่งไปแกว่งมาอยู่ในช่วงแคบๆ ยิ่งถ้าบังเอิญมีการตัดถนนนำความเจริญมาสู่บริเวณรอบบ้าน ราคาก็จะโดดสูงขึ้นไปอีก ที่สำคัญผ่านไป 10 ปี หากคิดขายต่อบ้านจะยังคงมีราคาอยู่ไม่แตกต่างจากเดิม แต่รถยนต์คงต้องขายซากได้ราคาเหลือไม่เท่าไหร่
3 เหตุผลที่คนซื้อรถก่อนบ้าน
1. ซื้อบ้านแล้วเงินจม บ้านจะเป็นของเราก็ต่อเมื่อผ่อนชำระหมดแล้วซึ่งก็ต้องใช้เวลานานร่วม 10-20 ปี ขณะที่ซื้อรถเป็นไฟท์บังคับแค่ 5 ปีเป็นอย่างช้าก็ได้ชื่อว่ามีทรัพย์สินในครอบครองแล้ว ใช้จนคุ้มแล้ว เกิดอยากใช้เงินขึ้นมาก็เอารถไปเข้าไฟแนนซ์ หรือขายไปเลยก็ยังได้
2. บริษัทออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ แค่ค่าน้ำมันก็ทุ่นแรงผ่อนไปได้โข อีกทั้งถ้ารถเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจอย่างนี้ก็คงต้องตัดสินใจซื้อรถก่อนบ้าน
3. บ้านยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ต่อไปได้ อย่างนี้เริ่มซื้อก่อนน่าจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อม แถมภาระผูกพันก็ไม่นานเกินไป
อ่านมาถึงตรงนี้ คิดว่าคุณคงจะได้คำตอบแน่ชัดแล้วว่า ควรผ่อนบ้านก่อนรถ หรือรถก่อนบ้านดี ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของเทคนิคในการเลือกซื้อ และเลือกเงื่อนไขในการผ่อนชำระที่จะทำให้คุณจ่ายได้อย่างสบายๆ ไปตลอดรอดฝั่งกระทั่งได้กรรมสิทธิ์ครอบครองบ้านและรถนั้นเป็นของตัวเอง
เทคนิคการเลือกซื้อ และเงื่อนไขการผ่อนชำระบ้าน
เลือกขนาดบ้าน ให้พอเหมาะกับกำลังความสามารถในการจ่ายชำระ โดยปกติราคาไม่ควรเกิน 30 เท่าของรายได้ต่อเดือน เช่น ถ้าคุณมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ก็ควรซื้อบ้านไม่เกิน 600,000 บาท แต่ถ้ารวมรายได้คุณและภรรยาเดือนละ 40,000 บาท ก็ซื้อบ้านได้ไม่เกิน 1,200,000 บาท ส่วนระยะเวลาในการผ่อนชำระจะสัมพันธ์กับค่างวดในการผ่อนชำระ ยิ่งผ่อนนานปีค่าผ่อนก็จะถูกลง แต่ถ้ากำหนดระยะเวลาผ่อนให้สั้นลงค่างวดก็จะสูงขึ้น ตรงนี้ให้คำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของคุณเป็นหลัก หากแน่ใจว่ามีกำลังส่งมากก็ให้เลือกผ่อนระยะเวลาสั้น แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ให้เลือกผ่อนยาวเข้าไว้ มีเงินมากในวันหลังจะโปะจ่ายได้ ดีกว่าเลือกผ่อนสั้น ค่างวดสูง พอถึงเวลาจ่ายไม่ได้ขึ้นมาจะเป็นเรื่องให้ต้องวุ่นวายเปล่าๆ
โดยปกติแล้วกูรูทางการเงินแนะนำว่าค่าผ่อนบ้านไม่ควรเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน เช่น ถ้ารายได้เดือนละ 20,000 บาท ก็ไม่ควรผ่อนเกินเดือนละ 6,000 บาท เพราะในแต่ละเดือนคุณยังต้องกันเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เว้นแต่หากคุณไม่มีภาระด้านอื่น ก็ควรเร่งชำระหนี้ในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน เพราะยิ่งคุณผ่อนจำนวนมากเท่าไหร่ ภาระหนี้ก็จะหมดเร็วขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จะผ่อนมากหรือน้อยคุณเท่านั้นจึงจะตอบได้ดีที่สุด
รถ การทำอะไรแต่พอตัวเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการทุกอย่างในชีวิตได้เป็นผลสำเร็จ การเลือกซื้อรถ คุณควรเลือกสเปคที่มีราคาไม่เกินความสามารถในการผ่อนชำระของคุณ ซึ่งจากคำแนะนำของกูรูทางการเงินระบุว่าควรอยู่ในราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน เช่นหากรายได้ของคุณเดือนละ 20,000 บาท ไม่ควรผ่อนรถเกินเดือนละ 4,000 – 6,000 บาท หากมากเกินจากนี้อาจกลายเป็นภาระหนักเกินสำหรับคุณ
การเลือกระยะเวลาผ่อนสำหรับเงินสินเชื่อรถ แนะนำให้เลือกผ่อนระยะเวลาสั้นสุด เพราะการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถมักคิดแบบ Flat Rate คือเป็นการนำเอาเงินต้นรวมเข้ากับดอกเบี้ยแล้วแบ่งจ่ายเป็นรายงวด ยิ่งคุณกู้ระยะสั้นได้มากเท่าไหร่ก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลงเท่านั้น กระนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณอีกเช่นกัน หากไม่แน่ใจก็เลือกตามระดับราคาค่างวดที่พอจ่ายไว้ หากโชคดีสัญญาเปิดทางไว้ให้คุณโปะหลังจ่ายชำระไปแล้วเท่านั้นเท่านี้ปี ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยผ่อนแรงให้คุณ
28 มิ.ย. 2567
13 พ.ค. 2567
10 พ.ค. 2562