ทำอย่างไรเมื่อหนี้ทำพิษจนเกิดคดีความ

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ อีกทั้งตำราแลคู่มือการเงินที่กูรูทั้งหลายออกมาวางจำหน่ายต่างก็ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การสร้างหนี้เป็นการสร้างหายนะให้กับผู้เป็นหนี้ แต่เพราะชีวิตคนเราเดินผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมทุกวันนี้ที่มีแรงเร้าให้หลงไปตกหลุมพรางเอาได้ง่ายๆ

เมื่อชีวิตผิดพลาดไป จนเกิดเจ้าหนี้มาตามทวงเช้าทวงเย็น เป็นใครก็คงจิตใจกระวนกระวาย กายไม่เป็นสุข แต่อย่าเพิ่งเป็นทุกข์ร้อนไป ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้เสมอขอเพียงมีสติ และรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ในความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ คุณเริ่มต้นใหม่ได้อย่างแน่นอน 

16 เรื่องควรรู้เมื่อหนี้เกิดทำพิษกับชีวิต
1. เริ่มจากการขอประนอมหนี้  เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ยินดีรับฟังปัญหาของคุณ และยินดีปรับโครงสร้างหนี้ให้หากคุณแสดงความจริงใจที่จะใช้คืนหนี้ให้กับเขา การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ก็คือ การที่ธนาคารอาจคิดยอดเงินให้คุณใหม่โดยอาจคิดน้อยกว่าความเป็นจริง หรือให้คุณพักชำระหนี้สักระยะเพื่อหาเงินมาชำระ หรือให้คุณชำระในยอดต่อเดือนน้อยกว่าเดิม สรุปก็คือ เจ้าหนี้ให้โอกาสคุณดิ้นรนหาเงินมาชำระหนี้ ดีกว่ามาเป็นคดีความฟ้องร้องกันให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายให้วุ่นวาย แต่ต้องจำไว้ว่าเมื่อเจรจาประนอมหนี้สำเร็จแล้ว คุณต้องมีวินัยในการจ่ายชำระคืนอย่างเคร่งครัดเพราะไม่มีใครเชื่อใจคุณอีกได้แน่หากมีการผิดนัดชำระอีกเป็นคำรบสอง หากเจ้าหนี้ยอมประนอมหนี้แล้ว คุณยังไม่สามารถจ่ายชำระได้ในโครงสร้างหนี้ใหม่เขาก็ต้องดำเนินคดีกับคุณต่อเหมือนเดิม

2. ถ้าเงินไม่พอจ่ายก็ให้หยุดจ่าย แล้วปล่อยให้เขาฟ้องไป  ถ้าไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ การพยายามชำระตามความสามารถที่มี ก็เหมือนการชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวโดยไม่มีวันจบสิ้น ยอดหนี้ยังคงเหลืออยู่เท่าเดิมโดยไม่กระเตื้องลดลง อย่างนี้แล้วจ่ายไปก็เสียเปล่า เปรียบเสมือนโยนหินลงไปในแม่น้ำมีแต่จะจมหายไปโดยไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา กรณีนี้ผู้สันทัดกรณีแนะนำให้หยุดจ่ายไปเลย แต่! เดี๋ยวก่อนคำว่าหยุดจ่ายไปเลย ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้คุณชิ่ง เพราะเมื่อเกิดหนี้อย่างไรเสียก็ต้องใช้คืนเจ้าหนี้ไป เพียงแต่คืนมากคืนน้อย คืนช้าคืนเร็ว คุณมีสิทธิต่อรองเพื่อความยุติธรรมสมควรแก่เหตุ กรณีนี้ปล่อยให้เขาฟ้องไปเถอะแล้วค่อยไปพึ่งบารมีศาลเจรจาหาความเหมาะสมกันอีกที

3. เจ้าหนี้ไม่มีสิทธินำความเป็นหนี้ของลูกหนี้ไปประจาน  เพราะการเป็นหนี้เป็นเรื่องส่วนตัว การนำเรื่องส่วนตัวของลูกหนี้ไปประจานแก่เพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้ไม่ว่าจะหวังผลเพื่อให้เกิดการอับอาย หรือลดความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทของผู้กระทำ ลูกหนี้สามารถฟ้องเจ้าหนี้ในกรณีนี้ได้           

4. ความผิดจากการเป็นหนี้ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นต้องติดคุก  เพราะนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ สิ่งที่เจ้าหนี้สามารถกระทำกับลูกหนี้ก็คือการฟ้องเพื่อเรียกให้ชดใช้หนี้ หรือฟ้องล้มละลายเพื่อยึดทรัพย์ หรือริบรายได้ ซึ่งการฟ้องให้ล้มละลายนั้น ผู้เป็นหนี้จะต้องมีหนี้เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้หากมีเจ้าหนี้หลายราย เมื่อยอดหนี้รวมกันแล้วเกินหนึ่งล้านบาท เจ้าหนี้ทั้งหมดอาจรวมกันฟ้องได้โดยการเป็นโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดียวกัน อีกทั้งคดีความต่างๆ มีอายุความอยู่ เช่น โดยปกติบัตรเครดิตจะมีอายุความการฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เราชำระเงินครั้งสุดท้าย (คือนับจากวันจ่ายเงินถึงวันฟ้อง) ถ้าเกินจากนี้เจ้าหนี้หมดสิทธิฟ้อง 

5. เมื่อถูกฟ้องก็เป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะสู้คดี หากรู้สึกไม่เป็นธรรมในการคิดดอกเบี้ย หรือเบี้ยปรับ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นข้อต่อสู้คดีได้ก็ให้หยิบยกขึ้นมาสู้ แต่ถ้าไม่มีข้อต่อสู้ก็ต้องขอความเห็นใจจากเขา อาจเข้าไปคุยเพื่อขอลดยอดชำระให้เหลือน้อยลงหรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ถ้าเขาไม่ยอมและต้องการดำเนินคดีกับเราอย่างเดียวก็ปล่อยให้เขาดำเนินคดีไป เพราะอย่างไรเสียเขาจะทำอะไรกับคุณได้ก็เท่าที่กฎหมายให้สิทธิไว้เท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วย่อมเปิดที่เปิดทางไว้ให้คุณได้มีเวลาหาเงินมาชดใช้เขาได้อยู่หรอก ไม่ต้องกังวลใจไป

6. ไปศาลหรือไม่เป็นสิทธิของคุณ  เมื่อมีหมายศาลมา คุณจะไปหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของคุณที่จะต่อสู้ หรือไม่ต่อสู้คดีก็ได้ หากคุณไปศาล แล้วไม่สามารถคุยเจรจากับโจทก์ได้ก็เสียเวลาเปล่า เพราะอย่างไรเสียเจ้าหนี้ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาไปฝ่ายเดียวตามยอดที่ฟ้องเหมือนเดิม ยิ่งถ้าคุณไปเซ็นรายงานกระบวนพิจารณาคดี ก็จะเป็นผลเสียกับคุณมากกว่าเพราะรับทราบคำพิพากษาในวันดังกล่าวแล้ว เขาสามารถนำบังคับแก่คุณได้ภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่ไปศาลในวันนัด นั่นเท่ากับคุณไม่ทราบคำพิพากษา โจทก์จะนำบังคับแก่คุณช้าลงประมาณ 1 เดือน หรือนานกว่านั้น
7. จ้างทนายก็ใช่จะช่วยให้คุณไม่เป็นหนี้  เพราะประเด็นมันอยู่ที่ยังไงเสียคุณก็ต้องหาเงินไปชำระคืนเขา ทนายจะช่วยได้อย่างมากก็ประวิงคดี (ยืดการพิพากษาออกไปอย่างมากก็ 1 ปี) สุดท้ายคุณก็ต้องจ่ายเงินให้กับโจทก์เหมือนเดิม (แถมเสียเงินให้ทนายความอีกต่างหาก) ดังนั้นถ้าเอาเงินเขามาจริงก็ต้องจ่าย จะหวังใช้ทนายแก้ต่างให้ไม่ต้องจ่ายตังค์คงไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่มีจ่ายก็สู้คดีกันไป
8. จ่ายวันนี้หนี้น้อยหน่อย จ่ายวันหน้าหนี้บานปลาย  แม้เจ้าหนี้จะไม่สามารถทำอะไรคุณได้ หากคุณไม่มีทรัพย์สิน หรือรายได้ที่จะชดใช้ให้แก่เขา แต่ตราบใดที่คุณยังมีชีวิตอยู่หากช่วงจังหวะไหนที่คุณมีทรัพย์สิน หรือรายได้ พึงระลึกไว้ว่าทรัพย์สิน หรือรายได้นั้นเจ้าหนี้สามารถเรียกให้คุณจ่ายชดใช้หนี้ให้กับเขาได้ และในวันนั้นยอดชำระหนี้จะไม่ใช่ก้อนเดิมอีกต่อไป แต่จะทวีคูณตามจำนวนวันเวลาที่ผันผ่านมา นั่นเพราะยอดตามหมายศาลจะคิดถึงแค่วันฟ้องเท่านั้น และตามคำขอท้ายฟ้องจะมีอยู่ข้อหนึ่งที่บอกว่า ขอให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คือ เจ้าหนี้จะขอคิดดอกกับคุณไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะชำระให้เขาทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์ ดังนั้นถ้ามีเงินก้อนก็ไปปิดบัญชีทีเดียวเลย เพราะถ้าปิดบัญชีหมดโดยปกติเจ้าหนี้จะลดให้ 50% จากยอดหนี้ทั้งหมด

9. เจ้าหนี้สืบทรัพย์รู้ได้ไม่ใช่เรื่องยาก  เพราะทุกครั้งที่คุณทำสัญญาสินเชื่อ เจ้าหนี้จะให้คุณเซ็นหนังสือยินยอมให้สามารถเช็คข้อมูลของคุณได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะไปทำธุรกรรม ธุรกิจที่ไหน เจ้าหนี้ย่อมตามคุณเจอได้เสมอ อย่าคิดหวังว่าจะแอบมีทรัพย์สินได้โดยเจ้าหนี้ไม่รู้ แล้วหลบหนี้การทวงคืนได้ อย่างน้อยๆ ไม่ว่าคุณจะย้ายที่ทำงานไปสักกี่แห่ง ทุกแห่งที่คุณไปย่อมต้องมีข้อมูลจากประกันสังคมให้เจ้าหนี้ได้แกะรอยตามคุณเจอ

10. ต้องฟ้องก่อน เจ้าหนี้ถึงมีสิทธิยึดทรัพย์  เจ้าหนี้จะมีสิทธิทำการยึดหรืออายัดทรัพย์ของคุณได้ ก็ต่อเมื่อเขาชนะคดีแล้วเท่านั้น จึงจะมีอำนาจบังคับคดี ดังนั้นถ้ามีการฟ้องคดีเกิดขึ้น ก็ให้สู้คดีเรื่องดอกเบี้ย และอายุความไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่หนักเกิน 

11. ยึดได้แต่ทรัพย์เรา ทรัพย์พ่อแม่พี่น้องไม่มีสิทธิ์ยึด  หลังจากฟ้องศาลและเจ้าหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีแล้วเขาจะทำการบังคับคดีโดยสืบหาว่าคุณมีทรัพย์สินอะไรบ้างพอที่จะยึดและขายทอดตลาดได้เงินมาชำระหนี้แก่เขาได้ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ บัญชีเงินฝากในธนาคาร และทรัพย์สินของคู่สมรส (เฉพาะที่จดทะเบียนสมรส) โดยเขาสามารถยึดได้ทั้งหมด จนกว่าจะได้เงินครบตามจำนวน แต่เขาจะไม่สามารถยึดทรัพย์สินของ พ่อ แม่ พี่ น้อง ของคุณได้ 

ถ้าเขาสืบทรัพย์แล้วปรากฏว่าไม่พบ หรือคุณไม่มีทรัพย์สินอะไร เขาก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้ ถ้าคุณไม่มีจริงๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไว้อย่างนั้นละ เพราะเขาก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้ ไว้รอคุณมีเมื่อไหร่ก็ค่อยไปจ่าย  แต่บอกไว้ก่อนว่าดอกเบี้ยมันจะเดินไปเรื่อยๆ เมื่อคิดจะจ่ายอีกทีหนี้อาจจะเพิ่มบานเบอะ เพราะฉะนั้นถ้ามีก็อย่านิ่งนอนใจคิดเบี้ยวเขาเสียดื้อๆ เขาสืบทรัพย์ได้เมื่อไหร่คุณก็ต้องจ่ายอยู่ดี

12. อายัดเงินเดือนได้ แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท  เจ้าหนี้จะได้สิทธิบังคับคดีเต็มที่ตามยอดหนี้ที่ฟ้องร้อง หากคุณไม่มีทรัพย์สิน หรือโดนยึดทรัพย์สินไปหมดแล้ว เจ้าหนี้จะมีสิทธิอายัดเงินเดือนในส่วนที่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น ถ้าคุณมีรายได้ไม่เกินนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถอายัดเงินเดือนคุณได้ และไม่สามารถอายัดได้ทั้งหมด เพราะกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิไว้อย่างนั้น

13. ถูกอายัดทรัพย์แล้ว ก็ถอนอายัดทรัพย์ได้  ถ้าคุณสามารถหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาเข้าเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอจ่ายยอดเงินเต็ม  ถ้าเจ้าหนี้ตกลงตามที่คุณร้องขอ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเตรียมเงินไปถอนการอายัดทรัพย์  และต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนอายัดทรัพย์ร้อยละ 3.5  ของราคาที่เจ้าพนักงานประเมินไว้เพื่อเตรียมขายทอดตลาด

14. เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิเท่าที่ศาลสั่ง  กรมบังคับคดีไม่มีหน้าที่สืบหาทรัพย์ ผู้มีหน้าที่สืบทรัพย์มีเพียงลูกหนี้ และเจ้าหนี้เท่านั้น การยึดทรัพย์ในบ้านที่ลูกหนี้เป็นผู้อยู่อาศัย เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกในวันทำการปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล ในการดำเนินการเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อที่จะค้นสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ เช่น บ้านที่อยู่ คลังสินค้า โรงงาน และร้านค้าขาย ทั้งมีอำนาจที่จะยึดและตรวจสมุดบัญชี หรือแผ่นกระดาษ และกระทำการใด ๆ ตามสมควร เพื่อเปิดสถานที่ หรือบ้านที่อยู่หรือโรงเรือนดังกล่าวแล้วรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ ถ้ามีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้

15. การจ่ายชำระหนี้ทุกครั้งให้เก็บใบสลิปธนาคารไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ยืนยันในกรณีที่มีปัญหา ถ้าจะให้ดีคุณควรถ่ายสำเนาเก็บไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นใบสลิปจากตู้เอทีเอ็มนานวันหมึกมันจะจางและหายไป และกันการสูญหายหรือเก็บไม่ดีด้วย

16. หนี้ที่เกิดจากการค้ำประกัน  ตามกฎหมายแล้วเมื่อ ลูกหนี้ผิดนัดบุคคลผู้ค้ำประกันก็ต้องชำระหนี้ รับผิดในหนี้นั้น แต่คุณสามารถใช้สิทธิเกี่ยงได้ว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่นอยู่ให้บังคับเอาแก่ ลูกหนี้ก่อน (หากมี) โดยส่วนนี้คนค้ำฯ ก็อาจจะช่วยเจ้าหนี้สืบ เพราะหากเจ้าหนี้ เจอทรัพย์สินของลูกหนี้ มากเท่าไร คนค้ำประกัน ก็จะได้ไม่ต้องชำระหนี้ในหนี้ ตามจำนวนเต็ม หรือมีมากเท่ากับหนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่ต้องมาบังคับเอาจากคนค้ำ แต่หากลูกหนี้ไม่มีอะไร เลย คนค้ำประกัน ก็ต้องรับผิดในหนี้นั้นทั้งหมด แต่เมื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว คนค้ำประกันก็สามารถไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยที่ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไป 



5 เรื่องรู้ทันกลยุทธ์ทวงหนี้ของไฟแนนซ์ 
1. ไฟแนนซ์ไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ โดยปกติไฟแนนซ์มักข่มขู่ ให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบค่าติดตามยึดรถ  ค่าทนายความ  ค่าธรรมเนียมศาล  โดยอ้างตัวเลขจำนวนสูง  แต่ในความเป็นจริงแล้วไฟแนนซ์มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบได้ตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น  

2. การเข้ายึดรถผู้เช่าซื้อต้องอยู่ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม  กล่าวคือ เมื่อผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน ก่อนยึดรถอีก 1  เดือน รวมเป็น 4 เดือน ไฟแนนซ์จึงจะสามารถยึดรถได้  ถ้ายึดรถก่อนหน้านี้ถือมีความผิดตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  ซึ่งคุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องสัญญา  ดังนั้นถ้าไฟแนนซ์มายึดรถก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว  ผู้เช่าซื้ออย่ายอมให้ยึดรถไป หากเกิดการบังคับเอาไปให้เรียกตำรวจมาเป็นพยาน            

3. การยึดรถถ้าผู้เช่าซื้อไม่ยินยอมให้ยึดรถไฟแนนซ์จะยึดรถไม่ได้  ถ้ามีการบังคับขู่เข็ญหรือไล่ให้ผู้เช่าซื้อลงจากรถหรือกระชากกุญแจรถไป  หรือเอากุญแจสำรองมาเปิดรถและขับหนีไป  การกระทำดังกล่าวมีความผิดต่อเสรีภาพ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309  และถ้ากระทำการโดยมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 5  ปี  หรือปรับไม่เกิน 10,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  เพราะฉะนั้นถ้ามีคนกระทำการดังกล่าวให้ถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน  และแจ้งความดำเนินคดีอาญา  หรือให้ทนายฟ้องศาลได้เลย 

4. ไม่ควรให้ไฟแนนซ์ยึดรถไม่ว่าในกรณีใด ๆ แม้คุณจะผิดนัดชำระจริงก็ตาม เพราะคุณจะหมดอำนาจต่อรองไปทันที  หลังจากยึดรถไฟแนนซ์จะนำรถของผู้เช่าซื้อไปขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก  เมื่อได้เงินมาไม่เพียงพอกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ไฟแนนซ์จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากคุณ  แต่ถ้ารถยังอยู่ในความครอบครองของคุณ คุณยังสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์ได้ และยังมีอำนาจต่อรองกับไฟแนนซ์อยู่ 

5. ในกรณีถูกยึดรถและถูกเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ  เมื่อเขายึดรถได้ ไฟแนนซ์จะมีหนังสือแจ้งคุณว่าจะขายเมื่อใด แต่จะให้โอกาสคุณไปใช้หนี้ก่อน หากคุณไม่ไปใช้หนี้ เขาจะนำรถออกขายทอดตลาด ซึ่งส่วนมากราคาเหลือครึ่งต่อครึ่ง หากมีมูลหนี้คงค้างที่เหลือ ไฟแนนซ์จะเรียกเก็บจากคุณ ซึ่งมักจะเป็นตัวเลขที่เวอร์เกิน กรณีนี้อย่าตกใจให้หาทนายสู้คดี เพราะโดยทั่วไปแล้วศาลจะตัดสินให้คุณจ่ายชำระในตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ถูกไฟแนนซ์เรียกกว่าเท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น เรียกมา 1,000,000  บาท  ศาลมักจะพิพากษาให้ชดใช้เพียง 500,000 บาทหรือ 300,000  บาท  เป็นต้น 

6. อย่านำรถที่ติดไฟแนนซ์ไปขายต่อ เพราะสัญญาเช่าซื้อ หากยังเหลือการค้างชำระค่างวด ไฟแนนซ์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนคุณคือผู้ครอบครอง คำว่าครอบครองในที่นี้คือ คุณมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากคุณขายรถให้คนอื่นไป ภาระการผ่อนชำระยังเป็นของคุณ มิใช่ของผู้ซื้อต่อจากคุณไป ดังนั้นหากเกิดกรณีหยุดชำระไฟแนนซ์ขึ้นมา คุณจะเข้าข่ายความผิดยักยอก (แต่ยอมความกันได้) เพราะสัญญาซื้อขายนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนสัญญาผู้เช่าซื้อเป็นของผู้ซื้อรายใหม่ 

10 ขั้นตอนก่อนทรัพย์ถูกยึดขายทอดตลาด
1.โจทก์ขอหมายบังคับคดีต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ
2.โจทก์แถลงขอตั้งสำนวนการยึดทรัพย์ต่อเจ้าพนักงาน พร้อมวางเงินค่าใช้จ่าย
3. เจ้าพนักงานพิจารณาคำขอยึดทรัพย์
4. เจ้าพนักงานอนุญาต โดยดำเนินการยึดทรัพย์ให้
5. เจ้าพนักงานดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตามหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 278 – 285, 303, 304
6. กรณีการยึดอสังหาริมทรัพย์  เจ้าพนักงานจะดำเนินการยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการ เว้นแต่กรณี สภาพทรัพย์มีรายละเอียดมาก มีโครงสร้างซับซ้อน ฯลฯ และมีคำสั่งผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการสำนักงานหรือผู้อำนวยการสาขา เมื่อเจ้าพนักงานยึดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาประเมินขณะยึดตั้งแต่ 5,000,000 บาทขึ้นไปหรือมีราคาต่ำกว่า 5,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานเห็นสมควร ก่อนนำทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานขอให้พนักงานประเมินราคาทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลางประเมินราคาดังกล่าวและให้ใช้เป็นราคาประกอบดุลยพินิจในการขายด้วย
7. ยึดอสังหาริมทรัพย์ (ยึดทรัพย์สินต่างๆ) และขับไล่ รื้อถอน ต้องนำเจ้าพนักงานออกไปดำเนินการ
8. ดำเนินการยึดแล้ว แจ้งจำเลย/ แจ้งนายทะเบียน/ แจ้งผู้มีส่วนได้เสีย
9. รายงานศาลขออนุญาตขาย
10. สำนวนเข้ามาสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด

ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำเพื่อให้คุณได้รู้สิทธิของความเป็นลูกหนี้ว่าเมื่อเพลี่ยงพล้ำไปแล้วใช่ว่าจะหมดหนทางปกป้องสิทธิพื้นฐานของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความจะสนับสนุนให้คุณละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบต่อหนี้ที่คุณได้ก่อขึ้นมา ด้วยเหตุนี้คำแนะนำสุดท้ายที่อยากจะฝากให้ย้ำคิดคือ การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ดังนั้นก่อนใช้เงินควรคิดพิจารณาให้ถ้วนถี่ วางแผนใช้เงินอย่างชาญฉลาด ปราศจากหนี้อย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้