จัดสรรเงินได้ให้ได้ออม

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ว่ากันว่า “ชีวิตที่มั่นคง” จะต้องมีเงินตราเป็นแรงหนุนค้ำจุนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะวิถีชีวิตของเราในยุคนี้ คงไม่สามารถเด็ดผักริมรั้ว หรือตกปลาริมคลองมาเลี้ยงชีพได้เหมือนเมื่อในอดีตอีกต่อไป ดังนั้นการที่คุณจะมั่นใจได้ว่าอนาคตจะไม่ลำบากหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิด คุณควรจะต้องวางแผนการออมเสียแต่วันนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าคุณจะมีรายได้เป็นเท่าไร คุณควรจะต้องกันเงินรายได้ไว้ประมาณ 20% ในการเก็บออม

แต่ถ้าหากคุณยังไม่เคยออมมาก่อน เราก็คงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างนิสัยการออมกันก่อน โดยเริ่มจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวคุณเอง ว่าเป็นแบบใด จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายการออมของคุณ ว่าคุณจะออมไปเพื่ออะไร ในระยะเวลาเท่าไร เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว ก็จัดทำแผนการเงินเพื่อวิเคราะห์สถานะทางการเงินของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณทราบว่า คุณมีกำลังความสามารถแค่ไหนในการเก็บออม 

สำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของคุณ
ลองถามตัวคุณเองดูว่า ทุกวันนี้ คุณเป็นคนที่ใช้เงินแบบชักหน้าไม่ถึงหลังหรือเปล่า หรือใช้จ่ายเกินรายได้ในแต่ละเดือนหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณคงต้องลองทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของคุณดู แล้วศึกษาดูว่ารายการใดที่ควรตัดทิ้งไป ซึ่งโดยปกติแล้วสัดส่วนการใช้เงินของคุณควรเป็นดังนี้ค่ะ

-ที่อยู่อาศัย 20%

-อาหาร 20%

-การเดินทาง 10%

-เสื้อผ้า-เครื่องประดับ 10%

-ค่ารักษาพยาบาล   5%

-พักผ่อน /  สันทนาการ 10%

-การกุศล   5%

-ออมและลงทุน 20%

ลองดูว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนของคุณ มีรายการใดที่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เกินไปจากนี้บ้าง นั่นคือส่วนที่คุณใช้เกินจากความสามารถในการหารายได้ของคุณค่ะ

-------------- Tip --------------

ใช้จ่ายอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ  (เช็กลิสต์)

-กำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

-เลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ก่อนสิ่งที่ต้องการ

-บันทึกรายรับรายจ่าย

-เลือกคุณภาพที่เหมาะกับตัว (ของบางอย่างอาจมีคุณภาพสูง แต่ราคาก็จะสูงตามด้วย การเลือกใช้สินค้าที่มีราคาสูง ในขณะที่มีรายได้ต่ำ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมรายจ่ายของคุณได้)

-อย่าซื้อสินค้าราคาถูกโดยมีข้อจำกัดให้ซื้อในปริมาณมาก (เพราะบางที คุณอาจต้องจ่ายเงินเสียค่ารถมากกว่าเงินที่ประหยัดได้จากการซื้อสินค้าราคาถูกเสียอีก)


กำหนดเป้าหมายในการออม
การออมที่ฉลาดคุณจะต้องแบ่งเงินออมออกเป็น 3 บัญชีด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประกันการออมของคุณเอง โดยบัญชีแรก เป็นการเก็บออมไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งควรมีปริมาณเท่ากับรายได้ประจำ 3-6 เดือน เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่คุณจะนำมาใช้ในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุให้ต้องใช้เงินก้อนอย่างเร่งด่วน ดังนั้น เงินจำนวนนี้จะต้องมีสภาพคล่องพอสมควร อย่างน้อยคุณต้องสามารถที่จะนำเอาเงินมาใช้ได้ในทันทีที่ต้องการ โดยคุณควรเก็บเงินจำนวนนี้ไว้ในบัญชีเงินฝาก 

ต่อมาคือ บัญชีเงินออมเพื่อการเกษียณ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเราได้บ้าง บางครั้งเหตุการณ์นั้นอาจร้ายแรงเสียจนทำให้คุณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ใช้เงินออมที่สู้อุตสาห์อดออมมาอย่างยากลำบาก หรือบางทีเหตุการณ์นั้นอาจทำให้คุณต้องใช้เงินออมที่สู้อุตสาห์เก็บมานานให้หมดไปภายในพริบตาก็ได้ ดังนั้น เงินออมในบัญชีนี้ไม่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องเท่าไรนัก แต่อาศัยผลตอบแทนสูง และเป็นการประกันความเสี่ยง ส่วนใหญ่จะเป็นการออมในลักษณะของการทำประกันชีวิต หรือการออมที่มีเป้าหมายระยะยาว โดยไม่มีการถอนออกมาใช้

บัญชีสุดท้าย คือ การออมเพื่อการลงทุน เป็นการออมเงินโดยมุ่งหวังให้เงินออมนั้นงอกเงยผลออกมาอย่างงามที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การแปลงเงินสดให้เป็นสินทรัพย์ และให้เงินทำงานแทนแรงงานของคุณนั่นเอง การออมในลักษณะนี้ ก็คือนำเอาเงินไปลงทุนนั่นเอง เช่น นำเงินไปซื้อหุ้นปันผล หรือลงทุนในกองทุน ซึ่งคุณจะต้องออมไว้ในระยะยาว และต้องยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

ถ้าหากคุณมีข้อจำกัดในเรื่องของรายได้ หรือมีภาระที่จำเป็นจะต้องใช้จ่ายอยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่คุณจะต้องออมให้ได้ทั้งสามบัญชีพร้อมๆ กัน คุณสามารถเลือกออมในบัญชีใดบัญชีหนึ่งก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่อสภานะทางการเงินของคุณในขณะนั้นๆ เช่น หากหน้าที่การเงินของคุณ มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันที่ทำงานก็ไม่มีสวัสดิการด้านการประกันชีวิตให้กับคุณ คุณก็ควรเริ่มต้นด้วยการออมในรูปของการทำประกันชีวิตก่อน และค่อยเพิ่มบัญชีการออมอีกสองบัญชีทีหลังก็ยังไม่สาย

-------------- Tip -------------
ทำอย่างไรให้ได้ออม  (เช็กลิสต์)

-กำหนดตัวเลขเป้าหมายที่คุณต้องการจะออมให้ชัดเจน และมีระยะเวลาที่แน่นอน

-เลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก่อนที่จะซื้อของจากสิ่งที่คุณต้องการ

-ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น เช่น นั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน ดื่มน้ำเปล่า เช่าวิดีโอแทนการไปดูหนัง

-มีเงินสดฉุกเฉินเผื่อไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้กับดอกเบี้ยราคาแพง ในเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้เงิน

-หาแหล่งพักเงินที่จะทำให้เงินของคุณงอกเงยมากที่สุด บนความเสี่ยงที่น้อยที่สุด

-ตรวจสอบสถานะทางการเงินของคุณ เป็นรายเดือน และรายปี

-จัดทำบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ

จัดทำแผนการเงินเพื่อวิเคราะห์สถานะการเงินของคุณ
หากคุณไม่แน่ใจว่าสถานะทางการเงินของคุณ จะทำให้คุณสามารถที่จะออมให้ได้ทั้งสามบัญชีหรือไม่ คุณก็ควรจัดทำแผนการเงินขึ้นมาวิเคราะห์ดูก่อนค่ะ โดยเริ่มต้นจาก

ขั้นตอนที่ 1 รวบรวมรายได้ที่ได้รับทั้งหมดตลอดทั้งปี 

ขั้นตอนที่ 2 หักค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีพ

ขั้นตอนที่ 3 จ่ายภาระหนี้สินที่มี (ด้วยความจำเป็น)

ขั้นตอนที่ 4 คำนวณหาเงินเก็บและเงินลงทุนที่คุณมี

ขั้นตอนที่ 5 จัดสรรตัวเลขเงินเก็บที่คำนวณได้ ในบัญชีเงินออมทั้งสามบัญชี โดยเริ่มจากเงินสำรองฉุกเฉิน เงินค่าเบี้ยประกัน และเงินเพื่อการลงทุน

ในการจัดทำแผน คุณควรแยกบัญชีออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่แสดงเป็นรายเดือน และรายปี ทั้งนี้เพราะรายรับ และรายจ่ายบางส่วนจะมีระยะเวลาที่ต่างกัน ทำให้คุณมีจังหวะในการโยกย้ายเงินไปพักไว้ในแหล่งที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคุณได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้