Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
สวัสดีปีใหม่ค่ะ
ในโอกาสปีใหม่นี้ หลายๆ ท่านอาจใช้เป็นโอกาสเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีๆ ให้กับตนเองและครอบครัว หมอขอเอาใจช่วยให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จนะคะ
สำหรับเด็กๆ แล้ว เมื่อพูดถึงการเริ่มต้นใหม่ สิ่งหนึ่งที่หมอคิดถึงก็คือการเข้าโรงเรียนค่ะ บทความแรกของปีนี้หมอจึงขอเขียนเรื่องการเตรียมตัวเข้าโรงเรียนของเด็กๆค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า ส่วนใหญ่โรงเรียนเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม หรืออย่างเร็วก็อาจมีเรียนเตรียมความพร้อมประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน แล้วทำไมหมอจึงรีบนำมาเขียนในเดือนนี้ เหตุผลที่หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านก่อนก็เพราะว่าการเตรียมตัวเข้าโรงเรียนของเด็ก หากเราอยากให้ราบรื่นมากที่สุดควรมีระยะเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนเข้าเรียนด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ไม่เคยไปเรียนเตรียมอนุบาลหรือเข้าศูนย์เด็กเล็กมาก่อน สิ่งนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของเค้าเลยค่ะ เพราะต้องเด็กต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่ ผู้ดูแล สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต ในเด็กที่ปรับตัวง่ายอาจไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในเด็กที่ปรับตัวยากอยู่แล้ว การไม่ได้เตรียมพร้อมตัวเด็กและให้เด็กไปเผชิญทุกๆสิ่งที่โรงเรียนเอง อาจทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลหลายอย่างตามมาได้ค่ะ เช่น หงุดหงิดง่าย ติดพ่อแม่มากขึ้น พฤติกรรมถดถอย เรียกร้องความสนใจ เป็นต้นค่ะ
เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการปรับตัวเข้าโรงเรียน หมอมีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
ทักษะที่ต้องใช้เวลาเตรียมตัว
นอกเหนือจากพัฒนาการที่สมวัยแล้ว ทักษะต่างๆ ที่หมอจะกล่าวถึงนี้เด็กควรได้รับการฝึกควบคู่กันไปด้วยซึ่งมักต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวค่ะ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระดับพัฒนาการของเด็ก ความสมำ่เสมอในการฝึก การปรับตัวของเด็กว่าเป็นเด็กปรับตัวง่ายหรือยาก เป็นต้นค่ะ ซึ่งทักษะต่างๆ มีดังนี้ค่ะ
ทักษะการช่วยเหลือตัวเองตามวัย : การคิดว่า “ยังไม่ต้องฝึกก็ได้ ไปโรงเรียนเดี๋ยวครูก็ฝึกให้เอง” บางครั้งจะกลับเป็นการผลักภาระให้ลูกเราเองนะคะ เพราะ แทนที่ลูกจะได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างสนุกสนานพร้อมเพื่อน กลับต้องมาพะว้าพะวงกับการฝึกที่เพื่อนคนอื่นทำได้หมดแล้ว นอกจากนี้เด็กที่ได้รับการฝึกการช่วยเหลือตัวเองไปอย่างดีแล้วจากที่บ้าน ยังมีส่วนทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้และสำรวจสิ่งใหม่ๆ ปรับตัวได้ง่าย เพราะบางสิ่งที่ต้องทำที่โรงเรียนก็เหมือนที่เคยทำมาแล้วจากที่บ้าน ไม่ใช่ทุกอย่างใหม่ไปหมดสำหรับเด็กค่ะ ทั้งนี้ทักษะการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นที่ควรมี คือ การรับประทานอาหารเอง การเลิกขวดนม การบอกเข้าห้องน้ำรวมถึงเข้าห้องน้ำเอง (แต่อาจต้องการความช่วยเหลือเรื่องความสะอาดบ้าง) ทักษะการแต่งตัวง่าย ๆ เช่นใส่-ถอด กางเกงขาสั้น เสื้อยืด ถุงเท้า เป็นต้นค่ะ
ทักษะการเข้าสังคมกับวัยเดียวกัน : การเข้าสังคมกับวัยเดียวกันจะแตกต่างจากการที่เด็กเล่นกับผู้ใหญ่ เพราะการเล่นกับคนที่อายุมากกว่า ผู้ใหญ่หรือเด็กโตจะมีแนวโน้มยอมตามเด็ก ทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเล่นได้ และรู้สึกว่าทุกคนต้องทำตามที่เค้าต้องการ แต่การเล่นกับวัยใกล้กันส่วนใหญ่เด็กจะไม่ค่อยยอมกัน หรือบางอย่างก็ยังไม่เข้าใจกันและกัน ทำให้มีเรื่องผิดใจกันได้ง่ายกว่าค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้ก่อนเข้าโรงเรียน เด็กควรได้มีโอกาสเล่นกับเด็กคนอื่นเป็นเป็นประจำ เช่น การไปสนามเด็กเล่น ไปพบญาติๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน เพื่อผู้ปกครองจะได้สังเกตการเข้ากลุ่มของเด็ก และค่อยๆ สอนทักษะการเข้าสังคมที่ดีให้แก่เด็ก เช่น การรอคอย การแบ่งปัน การรับฟังผู้อื่น เป็นต้นค่ะ
ทักษะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียน : ทักษะพื้นฐานที่เด็กควรมีเช่น ทำกิจกรรมที่เหมาะกับวัยได้ด้วยตัวเอง ทำตามกฎระเบียบเล็กๆ น้อยๆได้ ทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ได้ดี สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ตามวัย มีความมั่นใจ ชอบสำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ด้วยตัวเองหรือภายใต้คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ใหญ่ เป็นต้น
การเตรียมพร้อมเด็กในช่วงเวลาก่อนไปโรงเรียนจริง
1. อธิบายเกี่ยวกับโรงเรียนให้เด็กได้เห็นภาพพจน์ : เช่น “บอกว่า ที่โรงเรียนจะมีเด็กหลายๆ คนมารวมกัน แล้วก็จะมีผู้ใหญ่ที่เราเรียกว่าคุณครู มาเป็นคนสอนทำกิจกรรม” หรือ “ที่โรงเรียนจะมีเสาธงให้เด็กเคารพธงชาติ มีลานสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ ไว้เล่นตอนพักหรือทำกิจกรรม” เป็นต้นค่ะ ทั้งนี้การอ่านหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับการไปโรงเรียน รวมถึงหากเด็กได้มีโอกาสไปดูสถานที่จริงก่อนบ้าง ก็อาจมีส่วนช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. ชี้ชวนให้เด็กสนใจพี่ๆ ที่ไปโรงเรียน : เช่น ชี้ให้ดูพี่อนุบาลที่อยู่บ้านใกล้กัน บอกว่าเด็กว่า “พี่เค้าไปโรงเรียน อีกไม่นานหนูโตเหมือนพี่หนูก็จะได้ไปโรงเรียนเหมือนพี่แล้ว” หรือหากเด็กที่มีพี่ไปโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจพาน้องไปส่ง-รับ พี่ที่โรงเรียนร่วมด้วยเพื่อให้เด็กได้เริ่มต้นซึมซับบรรยากาศของโรงเรียนค่ะ
3. พูดถึงเรื่องดีๆ เกี่ยวกับโรงเรียน : เช่นบอกว่า “หนูไปโรงเรียนหนูจะได้มีเพื่อนเล่นเยอะแยะเลย แล้วคุณครูก็จะให้หนูทำกิจกรรมมากมายเลยค่ะ มีทั้งระบายสี ร้องเพลง เต้น แบบที่หนูชอบไงคะ” แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรพูดถึงในแง่ที่ดีจนเกินไป ซึ่งอาจไม่มีความเป็นไปได้ เช่น “เดี๋ยวหนูไปโรงเรียน ถ้าหนูเป็นเด็กดีคุณครูจะแจกของเล่นให้หนูเอากลับมาด้วยนะคะ” เพราะหากเด็กไปแล้วไม่เป็นตามที่คาดหวัง อาจทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนได้ค่ะ
4. ปรับเวลากิจวัตรประจำวัน : การปรับเวลากิจวัตรประจำวันให้เข้ากับเวลาที่เด็กไปโรงเรียน จะช่วยให้เด็กไม่ต้องเครียดเพิ่มขึ้นจากการปรับเวลาค่ะ การปรับนี้ควรทำก่อนล่วงหน้าที่จะไปโรงเรียนอย่างน้อย 1-2 เดือน เพื่อจะได้ไม่เป็นการเร่งเด็กจนเกินไป เพราะในเด็กบางคนที่ผิดเวลามากๆ เราอาจต้องค่อยๆ ปรับเวลาทีละน้อยๆ เช่น ในเด็กที่นอนเที่ยงคืน ตื่น 10 โมงเช้า เราอาจต้องค่อยๆ ขยับเวลาตื่นและนอนทีละ 10-15 นาทีทุกๆวัน จนได้เวลาที่เด็กจะต้องเข้านอนและตื่นเมื่อเวลาไปโรงเรียนจริงๆ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าที่โรงเรียนให้เด็กรับประทานอาหารกลางวัน นอนกลางวัน รับประทานอาหารว่างเวลาไหน คุณพ่อคุณแม่อาจลองค่อยๆ ปรับเวลาที่บ้านก่อนไปโรงเรียนให้ใกล้เคียงกับทางโรงเรียนเช่นกันค่ะ
5. ในเด็กที่ปรับตัวยาก บางครั้งเราอาจต้องใช้วิธีทำให้เด็กค่อยๆ ชินกับโรงเรียนก่อนล่วงหน้าค่ะ เช่น ก่อนไปโรงเรียน 1 เดือนอาจพาลูกขับรถผ่านหน้าโรงเรียนหลายๆ ครั้งก่อน เมื่อลูกเริ่มรู้จัก อาจเริ่มพาลงไปเดินแถวหน้าโรงเรียน หลังจากนั้นหากโรงเรียนอนุญาต อาจพาเด็กเข้าไปเดินเล่นในโรงเรียน เล่นเครื่องเล่นที่โรงเรียน พาเดินดูสถานที่ต่างๆ ที่เด็กต้องทำกิจกรรม เช่น ห้องน้ำ ห้องรับประทานอาหาร เป็นต้น และหากสามารถพบคุณครูประจำชั้นได้ ก็อาจเปิดโอกาสให้เด็กได้พบคุณครูช่วงสั้นๆ เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับการเตรียมตัวเด็กล่วงหน้าก่อนไปโรงเรียน ครั้งหน้าหมอจะมาแนะนำวิธีเพิ่มเติม เมื่อถึงวันใกล้ไปโรงเรียน และวันที่ส่งลูกไปโรงเรียนนะคะ
23 ส.ค. 2567
19 พ.ค. 2566