Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
คิดว่าเป็นคำถามที่หลายคนต้องถามลูกก่อนวันเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่คำตอบก็ต้องไปแนว ๆ อยากไปเขาดิน อยากไปทำเนียบ อยากไปขี่รถถัง ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่ก็ตามใจให้หนึ่งวัน ตอนเย็นก็ได้ของเล่นไปนอนกอดสมใจ … จบวัน
แต่ถ้าเด็กขอมากกว่านั้นล่ะ เช่น อยากให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับหนูมาก ๆ อยากให้พ่อไม่ต้องไปทำงาน อยากให้แม่ไม่ต้องเหนื่อยงานบ้าน ไม่ต้องเครียดตลอดเวลา ถ้าอย่างนั้นคุณจะให้ในสิ่งที่เด็กขอได้ไหมครับ …… หมอคิดว่าคงมีไม่กี่ครอบครัวที่สามารถทำตามที่เด็กขอได้ พ่อแม่คงได้แต่ส่ายหน้าแล้วบอกว่ายังไงพ่อก็ต้องออกไปทำงาน ยังไงแม่ก็ต้องทำงานบ้าน ไม่งั้นไม่มีเงินมาดูแลลูก เด็กก็ได้แต่พยักหน้าแบบเซ็ง ๆ
ซึ่งเด็กที่ฉลาด ก็พอรู้ว่าคำถามแบบนี้ไม่ควรถามเพราะรู้ว่าคำตอบคืออะไร ก็ปล่อยให้เงียบ ๆ แบบรู้กันเอง ในเชิงกลับกัน พ่อแม่ที่ชอบไปถามลูกว่า “รักพ่อแม่มั้ย ?” เด็กร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่ารักครับ/ รักค่ะ เพราะรู้ว่าถ้าบอกไม่รักพ่อแม่ต้องเสียใจและอาจอดเงินค่าขนมได้
ดังนั้นสิ่งสำคัญคืออย่าถามคำถามที่คุณคาดเดาคำตอบได้ เพราะจะทำให้เด็กรู้ว่าก็ตอบไปงั้น ๆ หรืออย่าถามคำถามที่เมื่อเด็กเค้าตอบมาแล้วคุณไม่สามารถทำได้ เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณทำผิดสัญญา เด็กจะคิดว่าสัญญาไม่มีความหมาย เมื่อพ่อแม่ผิดได้ เค้าก็ผิดได้เหมือนกัน
พ่อแม่หลายคนที่เคยสัญญาอะไรกับลูกแล้วทำไม่ได้ อาจทำให้เด็กเกิดปม (complex) ทางจิตใจ คือรู้สึกติด ๆ ขัด ๆ กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก ยิ่งพ่อแม่อยากถามเด็กก็ยิ่งไม่กล้าบอก อึดอัดทั้งสองฝ่าย
พ่อแม่จึงควรสื่อสารกับเด็กแบบ “ใจเขา-ใจเรา” โดย
1. หาบรรยากาศพูดคุยที่เหมาะสม เวลาที่ดีมักเป็นเวลานั่งเล่นสบาย ๆ โดยเฉพาะหลังกินข้าวเย็น ขอให้มั่นใจเด็กและพ่อแม่มีเวลาว่าง ไม่ต้องรีบไปทำอะไร
2. คุยเรื่องทั่ว ๆ ไปก่อนเพื่อให้เด็กผ่อนคลาย อาจถามเป็นประโยคปลายปิดก่อน เพื่อให้เด็กไม่ต้องนึกคำตอบนาน เช่น ลูกชอบกับข้าววันนี้ไหม? ลูกอยากกินอะไรวันพรุ่งนี้ดี?
3. เมื่อเห็นว่าเด็กเริ่มสนใจแล้ว ลองถามเด็กด้วยคำถามปลายเปิดแต่เจาะจงประเด็น เช่น วันนี้เรียนเป็นไงบ้างล่ะลูก ? (อย่าถามลอย ๆ ว่าวันนี้เป็นไงบ้าง เพราะเด็กไม่รู้จะตอบอย่างไร)
4. เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่าเรื่องที่ตัวเองชอบ ให้พ่อแม่ลองตั้งใจฟังโดยไม่ต้องพูดขัด เพื่อเป็นการแสดงการยอมรับ เด็กจะรู้สึกสบายใจ และกล้าเล่ามากขึ้น
5. พ่อแม่ควรเลือกเรื่องที่เป็นข้อดีหรือจุดเด่นมาคุยกับเด็ก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิทุกครั้งที่คุยกัน
เอาไปใช้แล้วได้ผลอย่างไรกันบ้าง มาเล่าสู่กันฟังได้นะครับที่ Facebook : โลกสมาธิสั้น
Message in a bottle
พ่อแม่ที่ดีเปรียบเหมือนนั่งร้านคือช่วยให้ตึกเสร็จสมบูรณ์ แต่ตึกที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะสวยงามได้ก็ไม่ควรมีนั่งร้าน
19 พ.ค. 2566
23 ส.ค. 2567