Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การนอน จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกมากเพียงใด แต่จะเป็นอย่างไร หากลูกน้อยของคุณหลับยาก แต่ตื่นง่าย ได้ยินเสียงอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ตกใจตื่นเสียแล้ว การที่ลูกตื่นบ่อยๆ ระหว่างคืน จะส่งผลกระทบต่อสมองของลูกหรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ
นอนหลับไม่สนิท ใครว่าไม่ดี
ทารกส่วนใหญ่ใช้เวลาในการนอนเกือบทั้งวัน หรือ 2 ใน 3 คือ 16.6 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อลูกอายุหนึ่งเดือนเวลาของการนอนหลับจะลดน้อยลง คือเฉลี่ยวันละ 15.5 ชั่วโมง โดยกลางคืนหลับ 8.5 ชั่วโมง กลางวันหลับ 7 ชั่วโมง เมื่อทารกอายุมากขึ้นจะใช้เวลานอนตอนกลางคืนยาวขึ้น แต่จะนอนกลางวันสั้นลง จนถึงอายุ 3 ปี ลูกจะนอนกลางคืนนานประมาณ 11 ชั่วโมง และนอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สำหรับทารกแรกเกิดมักจะตื่นระยะสั้นๆและหลับระยะสั้นๆ สลับไปมา ตลอดการนอนหลับโดยทันทีที่หลับทารกจะเข้าสู่ระยะฝันหรือช่วงที่เรียกว่า Rapid Eye Movement (RPM) กว่า 60% ของการนอนคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าในช่วงนี้ดวงตาของลูกจะขยับไปมาใต้เปลือกตาที่ปิดสนิท ซึ่งเป็นช่วงการหลับตื้น อาจสะดุ้งตื่นได้ง่าย ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกนอนหลับไม่สนิท แต่ในความจริงแล้วการหลับเช่นนี้ มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของสมอง และการสร้างใยประสาทเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาท (synapse) มากกว่าช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับนิ่งสนิทเสียอีก
2 ระยะของการนอนหลับ
ตามธรรมชาติของคนเราจะมีระยะการนอนหลับแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ Non-Rapid Eye Movement (NREM)หรือช่วงหลับลึก สำหรับทารกจะมีช่วงระยะเวลาหลับลึกประมาณ 40% ของการนอนหลับ ในช่วงนี้ลูกจะนอนนิ่งสนิท หายใจสม่ำเสมอ เป็นช่วงที่เลือดมีการไหลเวียนเข้าสู่กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เรียกได้ว่าเป็นช่วงระยะพักฟื้นร่างกายให้มีพละกำลัง รวมทั้งยังเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) อีกด้วยการนอนอีกระยะคือ Rapid Eye Movement(RPM) เป็นช่วงที่สมองมีกิจกรรมมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นดวงตาของลูกเคลื่อนไหวไปมาใต้เปลือกตา นั่นเป็นเพราะหนูน้อยกำลังฝัน ลมหายใจและการเต้นของหัวใจลูกในช่วงนี้อาจไม่ค่อยคงที่
ทั้งนี้ ระยะการนอนหลับทั้งสอง ล้วนมีความสำคัญ กล่าวคือระยะ NREM เป็นช่วงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูก ส่วนระยะ REM ก็เป็นช่วงที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสมอง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลสภาพแวดล้อมในการนอนหลับของลูก ให้เอื้อต่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่
Did you know…
มีการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าไม่ว่าจะในยามหลับหรือตื่น คลื่นสมองของทารกมีลักษณะแทบไม่ต่างกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าสมองของลูกมีการตื่นตัวพร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเขาจะนอนหลับอยู่ก็ตาม
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566