Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
บางบ้านอาจต้องพึ่งจุกนมหลอกเพื่อผ่อนคลายให้ลูกน้อยหลับง่ายขึ้น บางบ้านบอกขอ Bye เพราะไม่ต้องการตัวช่วย ไม่มีใครถูกหรือผิด เพราะเหตุผลความจำเป็นแต่ละบ้านจะแตกต่างกัน และก็บ่อยครั้งที่คุณมักจะได้ยินเรื่องข้อเสียของจุกนมหลอกที่จะนำมาให้ลูกน้อยดูด นอกจากช่วยทำให้ลูกผ่อนคลาย หลับก็ง่ายไม่ต้องกล่อมนาน แต่ก็มีอีกด้านที่ว่า จุกนมหลอกทำลายฟันของลูกเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นการปล่อยให้ลูกติดหัวนมหลอกจะทำลูกไม่ยอมดูดนมแม่ และอาจจะทำให้ติดดูดจกนมหลอกจนไม่เป็นอันทำอะไร ส่งผลเสียต่อพัฒนาการ
หากคุณเคยได้ยินเรื่องราวของจุกนมหลอกมาแบบนี้ เราขอให้คุณวางความเชื่อนี้ไว้ก่อน แล้วมาฟังความจริงเรื่องจุกนมหลอก กับบางเรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้
จริงหรือไม่....
จุกนมหลอกไม่จำเป็นต่อลูกน้อย!
ความจริง
ลูกน้อยโดยเฉพาะในวัยแรกเกิดต้องการการปลอบโยนให้ตัวเองรู้สึกสงบและปลอดภัยอย่างมาก ยิ่งเวลาที่พวกเขาเหนื่อย เบื่อ หรือพยายามจะปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่ หากการกล่อม ปลอบโยน อุ้มเดิน ไกวเปล ไม่ได้ผล ทางเลือกสุดท้ายก็น่าจะให้เด็กๆ ได้ใช้จุกนมหลอกที่มีอยู่หลายขนาดหลายรูปทรง เพื่อให้เขาสามารถสงบสติอารมณ์ของตัวเองลงได้ในที่สุด
จริงหรือไม่...
การดูดจุกนมหลอกจะทำให้ลูกดูดนมแม่ได้น้อยลง
ความจริง
เด็กนั้นฉลาดกว่าที่คุณแม่คิด ลูกสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างนมแม่และจุกนมยางได้ เมื่อเขาต้องการอาหาร แน่นอนว่าเขาจะหาจุกนมของแม่ ไม่ใช่จุกนมหลอก ความกังวลว่าการให้ลูกน้อยดูดจุกนมหลอกจะทำให้เขาไม่ยอมดูดนมแม่นั้น จึงไม่เป็นความจริง
กุมารแพทย์ Roy Benarach แห่ง Emory University สหรัฐฯ ได้ระบุว่า ลูกน้อยอาจจะดูดนมแม่ได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อเขาได้ดูดจุกนมหลอก นอกจากนี้การที่ลูกดูดจุกนมหลอก ยังช่วยให้คุณแม่ได้หลับพักผ่อนโดยปราศจากเสียงร้องโยเยของลูก เพราะหนูน้อยจะสามารถสงบได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งการที่แม่ได้หลับโดยปราศจากรบกวน จะทำให้ร่างกายของแม่ฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ควรให้ลูกได้ใช้จุกนมหลอก ก่อนที่เขาจะมีอายุอย่างน้อย 3 สัปดาห์
จริงหรือไม่...
จุกนมหลอกจะทำลายฟันของลูก
ความจริง
ขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้จุกนมหลอก และระยะเวลาที่ใช้ หากว่าการดูดจุกนมหลอกของลูกเกิดขึ้นเพียงบางครั้งคราว และเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่ลูกจะอายุครบ 1 ปี ผลกระทบที่จะเกิดกับฟันของลูกก็ไม่น่าจะมีผลมากนัก แต่หากว่าลูกดูดจุกนมหลอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีจุกนมคาปากอยู่เสมอ และลูกยังใช้จุกนมหลอกเมื่ออายุเกิน 1 ปีมาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาจะมีปัญหาเรื่องฟันในภายภาคหน้า และแม้ว่าฟันของลูกจะเป็นเพียงฟันน้ำนม แต่ลักษณะการขึ้นของฟันน้ำนมนั้นก็จะเป็นแนวทางของฟันแท้ที่จะขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากเจ้าตัวเล็กยังคงอมจุกนมหลอกอยู่ในปาก หลังจากผ่านวันเกิดขวบปีแรกของเขาไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะต้องหาทางให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอก โดยอาจหาสิ่งอื่นให้เขาถือเพื่อสงบสติอารมณ์เป็นการทดแทน
จริงหรือไม่...
เมื่อเด็กติดจุกนมหลอกแล้วยากที่จะเลิก
ความจริง
หนูน้อยส่วนใหญ่จะเลิกใช้จุกนมหลอก เมื่ออายุย่างเข้า 6-9 เดือน และพวกเขาเริ่มออกสำรวจโลกใบใหญ่ด้วยการคลาน สิ่งต่างๆ ที่เขาได้พบเจอต่างเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อหนูน้อยสามารถหยิบและจับสิ่งของที่เขาพบเจอได้ การดูดจุกนมหลอกอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อและไม่น่าสนใจอีกต่อไปสำหรับหนูน้อย และเมื่อลูกเริ่มมีทีท่าว่าจุกนมหลอกไม่สำคัญสำหรับเขาอีกแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องเก็บจุกนมหลอกให้ห่างสายตาลูก ในที่สุดเขาก็จะลืมและเลิกใช้จุกนมหลอกไปเอง อย่างไรก็ตามการเลิกใช้จุกนมหลอกอาจทำให้ลูกใช้เวลาในการที่จะนอนหลับในแต่ละครั้งนานขึ้น แต่สิ่งเขาจะค่อยๆ ปรับตัวและทำได้ดีขึ้นเมื่ออายุย่างเข้า 2 ปี
จริงหรือไม่...
การใช้จุกนมหลอก ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคไหลตายในเด็ก
แม้ว่าจะมีหลายบ้านบอกว่าข้อดีของจุกนมหลอก นอกจากข้อดีที่เห็นได้ชัดเช่นการทำให้เด็กงอแงน้อยลง จุกนมยังมีข้อดีอีกอย่างคือ เด็กที่หลับไปพร้อมดูดจุกนม มีแนวโน้มที่จะหยุดหายใจน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้จุกนม (หรือการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก – Sudden Infant Death Syndrome) การดูดจะทำให้โพรงจมูกและปากเปิดรับอากาศ และหายใจต่อเนื่อง จุกนมยังเป็นมิตรกับสุขภาพฟันมากกว่าการดูดนิ้วหรือสิ่งของอื่น ๆ อีกด้วย
ความจริง
ตามที่งานวิจัยจาก University of Virginia Health System ในสหรัฐฯ ระบุไว้ พบว่าความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นความจริง งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษามากกว่า 500 ครอบครัวที่มีลูกวัยทารก พบว่าในครอบครัวที่หนูน้อยดูดจุกนมหลอกขณะหลับ จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายในเด็ก หรือ Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) น้อยกว่า 3 เท่าของเด็กที่ไม่ได้ดูดจุกนมหลอกขณะหลับ นักวิจัยพยายามหาทฤษฎีเพื่อมาสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าว โดยระบุว่า การดูดจุกนมหลอกจะทำให้เด็กต้องนอนหงายหน้าขณะหลับ ทำให้เขาสามารถหายใจได้สะดวก ซึ่งป้องกันการเสียชีวิตจากการไหลตายได้
จริงหรือไม่...
เด็กที่ดูดจุกนมหลอกมีความเสี่ยงเป็นโรคหูอักเสบ
ความจริง
มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เพราะการดูดอาจนำของเหลวจากคอเคลื่อนเข้าไปสู่หูส่วนกลาง ทำให้มีความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดอาการหูติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น อีกทฤษฎีก็คือทารกอาจได้รับเชื้อโรคจากจุกนมยางที่ไม่สะอาดเมื่อเขานำเข้าปาก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการป่วยควรทำความสะอาดจุกนมหลอกเป็นประจำทุกวันและระวังอย่าให้ลูกแบ่งปันจุกนมหลอกกับเด็กคนอื่น และระมัดระวังมากเป็นพิเศษหากว่าเด็กใช้จุกนมหลอกที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กมักจะได้รับเชื้อโรคขึ้นมาง่ายๆ
จริงหรือไม่...
การดูดจุกนมหลอก อาจทำให้ลูกมีปัญหาด้านการพูดตามมา
ความจริง
เมื่อให้เด็กๆ ดูดจุกนมหลอกบ่อยๆ และติดเป็นนิสัย จนต้องดูดอยู่เรื่อยๆ อาจเกิดปัญหา เมื่อเริ่มหัดพูด เนื่องจากการอมจุกนมอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลให้เพดานแข็งและฟันที่กำลังงอกเจริญเติบโตผิดรูป นอกจากนั้น ยังทำให้เด็กๆ ไม่สามารถหัดออกเสียงสระ ซึ่งเป็นเสียงแรกของพัฒนาการด้านการพูดด้วย
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ให้ลูกน้อยใช้จุกนมหลอก ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับจุกนมหลอกเพียงลำพัง เพราะเห็นว่าลูกสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่งอแง เพราะช่วงเวลาที่แม่ห่างเหินจากลูก ยิ่งอาจทำให้ลูกดูดจุกนมหลอกมากขึ้น จนความใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูกลดลง และทำให้ลูกมีความรู้สึกขาดความใกล้ชิดแม่และขาดความอบอุ่นได้ในที่สุดค่ะ
Ban the binky! เกมบอกลา จุกนมหลอก
ไม่ว่าจะล่อหลอกอย่างไรเจ้าตัวน้อยก็ไม่ยอมบอกลาจุกนมหลอกแสนรัก จะเอาแอบหรือไปซ่อนก็ร้องหา เรามีข้อแนะนำให้คุณแม่ลองเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามเล่น ทำให้การบอกลาจุกนมหลอกเป็นเกมสนุกแสนง่ายไร้คราบน้ำตา ลองชวนลูกพูดคุยและสร้างจินตนาการแสนสนุกว่า “ตอนนี้ลูกของแม่โตแล้ว แข็งแรงและเก่งมากด้วย พี่จุกนมก็รู้และจะค่อยๆบอกลา ไปช่วยน้องเล็กคนอื่นต่อไป ภายใน3-4สัปดาห์นี้ พี่จุกนมของหนูจะค่อยๆบอกลาสลายหายตัวไปที่ละน้อย"
เทคนิคในสัปดาห์แรก ให้คุณแม่ปลายจุกนมหลอกออก (ในขั้นตอนนี้ใช้ความระมัดระวังเศษที่อาจหลุดหรือแตกออกในปาก เพราะลูกอาจชอบบดเคี้ยวจุกนม)
สัปดาห์ที่สอง ก็ตัดลดขนาดจุกนมลงไปเรื่อยๆ จนหมดในที่สุดวิธีนี้ดูจะเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจและดูสนุก ได้ลุ้นว่าวีคต่อไปจะเป็นอย่างไร หนูจะจัดการได้ด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดเจ้าตัวน้อยก็จะบอกลาจุกนมหลอกที่รักได้ด้วยตัวเอง เพราะหนูโตและเก่งแล้วนี่นา (ที่สำคัญในระหว่างเล่มเกมบอกลานี่ พยายามอย่าให้ลูกได้พบเพื่อนวัยเดียวกันที่ยังอมจุมนมหลอกอยู่นะคะ)
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566