Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
“บุหรี่” สิ่งเสพติดที่มีสารก่อมะเร็งถึง 70 ชนิด และปนเปื้อนด้วยสารพิษถึง 250 ชนิด มันคือเหตุแห่งการตายของมนุษย์ในโลก ปีละกว่า 6 ล้านคน… คนไทยตายเพราะบุหรี่ ปีละกว่า 5 หมื่นคน ... และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ บุหรี่เป็นสิ่งที่ขายได้อย่างถูกกฎหมาย !
บริษัทบุหรี่ระดับบิ๊กข้ามชาติ ทำกำไรจากการขายบุหรี่ในไทยแลนด์แดนสไมล์ถึงปีละกว่า 3,000 ล้านบาท แต่...คนไทยต้องเสียค่ารักษาสารพัดโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ปีละกว่า 5หมื่นสองร้อยล้านบาท
บัดนี้...กระแสความตื่นกลัว “ควันบุหรี่มือสอง”กำลังลามไปทั่วทั้งโลก เหตุเพราะ มีมนุษย์ที่ต้องตายเพราะควันบุหรี่มือสอง ปีละกว่า 6 แสน 3พันคน !!! วารสารการแพทย์ Lancet ฉบับที่ 377พ.ศ.2547ระบุว่า การเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองใน 192 ประเทศ เกิดจาก โรคหัวใจ 379,000 คน / โรคหอบหืด 36,900 คน/ มะเร็งปอด 21,400 คน / โรคติดเชื้อในปอด 165,000 คน รวม 603,000 คน
บุหรี่มือสอง มือสามคืออะไร มาจากไหน ?
บุหรี่มือสองหมายถึงการได้รับพิษจากควันบุหรี่จากผู้สูบที่อยู่ใกล้ชิด เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของเด็กที่เกิดจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก งานวิจัยพบว่าเด็กทารกที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงต่อการตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (sudden infant death syndrome) มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ภูมิแพ้ หอบหืด ในระยะยาวมีผลต่อโรคปอดเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดในอนาคต และมีผลต่อการทำงานของสมองในด้านระดับสติปัญญา
บุหรี่มือสามหมายถึงสารนิโคติน และสารพิษอื่นเกาะติดตามพื้นผิวฝ้า เพดาน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ผ้าห่ม หมอน ฝุ่น อื่นๆ ในบ้าน ที่อยู่อาศัย และจะคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นอีกนาน สารเหล่านี้จะเป็นอันตรายเมื่อถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังจากการสัมผัส รวมทั้งจะปนเปื้อนกับอากาศในบ้าน หรือจะทำปฏิกิริยากับก๊าซต่างๆในอากาศในบ้านทำให้เกิดอากาศภายในบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อผู้หายใจ สูดดมเข้าไปโดยเฉพาะเด็กเพราะมีความไวต่อสารในจำนวนน้อย
โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ศึกษาครอบครัวที่มีเด็กเล็กแรกเกิดถึง 6 ปีที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว ได้ทำการตรวจหาสารพิษจากบุหรี่ที่เรียกว่าสารโคตินินในปัสสาวะของเด็กซึ่งบ่งบอกการได้รับควันพิษมา 48 ชั่วโมงก่อนมารับการตรวจพบว่า ร้อยละ 76 หรือ 57 รายตรวจพบสารพิษ โดยร้อยละ 42.7 หรือ 32 รายตรวจพบในระดับที่มากกว่า 2 นาโนกรัมต่อซีซี ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเด็ก ทั้งที่ได้รับมาในลักษณะเป็นบุหรี่มือสองและมือสาม
ในการศึกษานี้พบว่า เด็กที่อยู่อาศัยกับผู้สูบบุหรี่ในคอนโดมิเนียม แฟลต อพาร์ทเมนต์ และการอยู่อาศัยกับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน ไม่ว่าผู้สูบนั้นจะสูบในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เป็นความเสี่ยงต่อการตรวจพบสารพิษในปัสสาวะของเด็ก (สารโคตินิน) พบว่าเด็กในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ และแฟลตที่มีคนสูบบุหรี่มีสารโคตินินสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ที่มีคนสูบบุหรี่ถึงสองเท่าตัว
ทุกครั้งที่จุดบุหรี่ไม่ว่าจะสูบหรือไม่ก็ตาม มันก็จะเกิดสารเคมีคละคลุ้งอยู่ในอากาศถึงกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และ กว่า 70 ชนิดเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิด “มะเร็ง” สารเหล่านี้นี้อาจอยู่ในควันแล้วถูกเด็กๆที่อยู่ใกล้เคียงสูดดม หรือสารนี้ควันเหล่านี้ไปเกาะติดตามผนัง เฟอร์นิเจอร์แล้วเด็กๆมาสัมผัสหรือมาสูดดมทีหลังทั้งๆที่ไม่อยู่ในรูปควันให้เห็นแล้วก็ตามก็จะมีพิษภัยต่อเด็กได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ในที่ทำงานวันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25-30 / เสี่ยงต่อโรคมะเร็งในปอดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25-30/ เสี่ยงต่อโรคมะเร็งในลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 3 เท่า / เสี่ยงต่อโรคมะเร็งอื่นๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 2 เท่า
- เด็กขวบปีแรก เสี่ยงต่อการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบถึง 3 เท่า เพราะมีคุณแม่ที่สูบบุหรี่
- หญิงมีครรภ์ และ ทารกน้อยที่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หรือคลอดลูก เช่น โรคครรภ์เป็นพิษ หรือเกิดอาการไหลตายในเด็ก ในขณะที่เด็กเล็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองบ่อยๆ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม และ โรคไหลตายในเด็ก
- เด็กๆกว่า 700 ล้านคนทั่วโลกได้รับอันตรายจากควันบุหรี่เมื่ออยู่ในบ้าน
- ลูกต้องสูดเอาควันบุหรี่เข้าไปเทียบเท่า 50 ซองต่อปี เมื่อที่บ้านมีพ่อแม่หรือมีใครที่สูบบุหรี่เพียงวันละซอง
- เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เสี่ยงต่อการเป็นคนสูบบุหรี่จัดในวันหน้า
-บ้านที่มีคนสูบบุหรี่ตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไป เด็กๆที่เกิดมามักมีน้ำหนักน้อยจนผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจถึง 4.8 เท่า (จากการวิจัยของประเทศจีน )
- แม้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตอย่างน่ากลัวถึงเพียงนี้แต่ปรากฏว่า...มีเด็กไทยอายุ 2.28 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ส่วนผู้ใหญ่ไทยที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีถึง 19.5 ล้านคน
แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ???
1… มุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติให้บ้าน ในรถ กระทั่งที่ทำงานให้เป็นที่ปลอดควันบุหรี่ให้ได้
2... ทุกที่ที่พาลูกไป ให้เลือกโรงเรียน ที่ทำงาน ห้องพัก ร้านอาหาร หรือสถานที่ทุกๆที่ ให้เป็น ที่ปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง
3... จูงใจ ขอร้อง กระทั่งร้องขอ ให้ทุกคนอย่าได้มาสูบบุหรี่ใกล้คุณและลูกๆของคุณ
4...ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะให้การคุ้มครองเด็กจากพิษควันบุหรี่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งพื้นที่ในรถ ในบ้านที่อยู่รวมกันหลายยูนิตเช่นอพาร์ทเมนต์ แฟลต คอนโดมิเนียมซึ่งต้องใช้อากาศร่วมกันระหว่างผู้อยู่อาศัยแต่ละครัวเรือน กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาการประกาศให้ห้องพักภายในคอนโดมิเนียม แฟลต อพาร์ทเมนต์ และในรถยนต์เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือมิฉะนั้น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคควรกำกับให้อาคารชุดต่างๆมีป้ายประกาศแจ้งแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าจะเป็นที่อยู่สำหรับผู้สูบบุหรี่ได้ หรือ เป็นที่อยู่ที่ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ภายในห้อง เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้ตัดสินใจในการซื้อหรือเช่าอยู่อย่างเป็นธรรมต่อไป
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ )
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566